ไหว้ซำปอกง เสริมมงคลรับปีใหม่

ปีใหม่ หลายคนถือเป็นฤกษ์งามยามดีในการทำสิ่งใหม่ๆและเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่าง สำหรับปีใหม่นี้ ฉันขอถือฤกษ์งามยามดีในปีเสือเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างเล็กๆน้อยๆบ้าง นั่นก็คือการปรับเปลี่ยนคอลัมน์จาก”ลุยกรุง” เป็น “ลุยกรุง&รอบกรุง” เพื่อขยายขอบเขตในการท่องเที่ยวให้กว้างมากขึ้น โดยมีกรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวในจังหวัดใกล้เคียงรอบๆกรุงฯ เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนเมืองหลวงและจังหวัดใกล้เคียงที่ต้องการท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์แบบไปเช้า-เย็นกลับ หรือพักค้าง 1-2 คืน ควบคู่ไปกับการนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจต่างๆในกรุงเทพฯเมืองฟ้าอมร(เหมือนเดิม)

อย่างไรก็ตามแม้ชื่อคอลัมน์กับเนื้อหาจะเปลี่ยนไปบ้าง แต่ถึงอย่างไรฉันก็ยังเป็น”หนุ่มลูกทุ่ง”คนเดิมคร้าบพี่น้อง

เอาล่ะหลังถือฤกษ์ดีมีชัยในช่วงขึ้นปีใหม่กันไปแล้ว เพื่อเป็นการเสริมฤกษ์เสริมมงคลรับปีใหม่ ทริปนี้ฉันขอพาไปไหว้พระรับพรกับพระพุทธรูปชื่อดัง ที่ขึ้นชื่อในเรื่องความขลังความศักดิ์สิทธ์ในอันดับต้นๆของเมืองไทย และมีอยู่ทั้งในกทม.และจังหวัดข้างเคียง สำหรับพระพุทธรูปองค์นั้นก็คือ”หลวงพ่อโต” หรือ”ซำปอกง”นั่นเอง

ซำปอกงเป็นหนึ่งในวีรบุรุษของจีน เดิมชื่อ”หม่า เหอ” เมื่อวัยเพียง 11 ปี เขาตกเป็นเชลยศึกในสงครามกวาดล้างกองกำลังมองโกลที่ปักหลักอยู่ในแถบยูนนาน และถูกส่งตัวเข้ามาเป็นขันที ทำงานรับใช้กองทัพในสมรภูมิรบหลายปี จนได้มารับใช้ เอี้ยนหวังจูตี้ องค์ชายสี่แห่งราชวงศ์หมิงที่ปักกิ่ง นับตั้งแต่นั้นมาก็ หม่า เหอ ก็ได้ติดตามข้างกายจูตี้ตลอดมาจนได้รับความไว้วางใจเป็นอย่างมาก

หม่า เหอ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บัญชาการกองเรือขนาดใหญ่ออกเดินทางไปในมหาสมุทรอันกว้างไกลถึง 7 ครั้งในรอบ 28 ปี ซึ่งนอกเหนือจากเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า เศรษฐกิจ การฑูตแล้ว ยังแฝงไว้ด้วยสำคัญทางการเมืองและการสืบราชบัลลังก์ จนในที่สุดหม่า เหอ ก็ได้ช่วยให้จูตี้ได้ก้าวขึ้นคลองบัลลังก์เป็นจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ และได้รับการเลื่อนฐานะเรื่อยมาจนเป็นหัวหน้าขันทีและได้รับพระราชทานแซ่ “เจิ้ง” จึงกลายมาเป็น “เจิ้งเหอ” หรือที่รู้จักกันในนาม “ซำปอกง”

จากตำนานที่เล่าขานกันมาหลายร้อยปี จนทุกวันนี้ซำปอกงได้กลายมาเป็นพระพุทธรูปในวัดไทยซึ่งเป็นที่นับถือเคารพบูชาจากทั้งชาวไทยและจีน โดยในประเทศไทยของเรามีซำปอกงดังๆอยู่ 3 แห่งด้วยกัน

สำหรับซำปอกงที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดได้แก่ที่ “วัดพนัญเชิงวรวิหาร” จ.อยุธยา ซึ่งสันนิฐานว่าสร้างขึ้นพร้อมกับวัดโดยพระเจ้าสายน้ำผึ้ง กษัตริย์ไทยก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระมเหสีพระนางสร้อยดอกหมาก ซำปอกงหรือหลวงพ่อโตที่นี่ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหน้าตักกว้างประมาณ 20 เมตร สูงประมาณ 19 เมตร ถือเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่ชาวกรุงเก่าให้ความเคารพนับถือมาช้านานหลายร้อยปี โดยในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงพระราชทานนามให้ใหม่ว่า “พระพุทธไตรรัตนนายก” และเพราะความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อโตนั้นต่างร่ำลือไปไกล จึงทำให้มีผู้คนหลั่งไหลมากราบไหว้ไม่เว้นวัน

และนอกจากจะกราบไหว้บูชาขอพรแล้ว ผู้คนยังนิยมบนบานด้วยการถวายผ้าห่มหลวงพ่อโต โดยมีวิธีการคือ ให้คนของทางวัดโยนผ้าขึ้นไปให้คนที่อยู่ที่ตักและที่ไหล่ห่มองค์หลวงพ่อโต อย่างที่มักจะเห็นกันในปัจจุบัน

สถานที่ต่อไปที่ประดิษฐานองค์หลวงพ่อโต ได้แก่ที่ “วัดอุภัยภาติการาม” อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่บน ถ.ศุภกิจ ใกล้กับตลาดบ้านใหม่ โดยที่วัดอุภัยฯแห่งนี้ เดิมมีวิหารลักษณะศาลเจ้า ปัจจุบันแปรสภาพเป็นวัดญวนในลัทธิมหายาน ตามประวัติเล่าไว้ว่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีเศรษฐี 2 พ่อลูก เป็นชาวตลาดบ้านใหม่ มีใจศรัทธาต่อหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง จ.อยุธยา เป็นอย่างมาก ในปี พ.ศ. 2449 จึงได้สละทรัพย์สร้างซำปอกง โดยจำลองมาจากที่วัดพนัญเชิง และสละที่ดินใกล้ตลาดบ้านใหม่เพื่อสร้างเป็นที่ประดิษฐาน

ซำปอกงที่สร้างมีขนาด หน้าตักกว้าง 6.50 ม. สูงประมาณ 12 ม. ต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จ ณ ฉะเชิงเทรา ก็ได้มาเยือนยังวิหารแห่งนี้ พร้อมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์สมทบในการส้รางอารามและปฏิสังขรณ์พระพุทธรูป และพระราชทานนามวัดนี้ว่า “วัดอุภัยภาติการาม” ส่วนพระพุทธรูปทรงทราบว่าจำลองมาจากอยุธยาจึงได้พระราชทานนามว่า “พระพุทธไตรรัตนนายก” เช่นกัน แม้ว่าสถานที่แห่งนี้จะเป็นวัดที่เล็กๆ แต่ก็มีชาวพุทธแวะเวียนไปกราบไหว้ซำปอกงกันอยู่เสมอๆ

สำหรับสถานที่สุดท้ายที่ประดิษฐานองค์ซำปอกง ก็คือที่กรุงเทพฯ เมืองหลวงของเรานี่เอง โดยหลวงพ่อโตซำปอกงนั้นประดิษฐานอยู่ที่ “วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร” เขตธนบุรี เมื่อแรกสร้างวัด ร.3โปรดเกล้าฯให้สร้างพระวิหารหลวง พร้อมกับโปรดให้สร้างพระโต หรือหลวงพ่อโต ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 11.75 ม. สูง 15.45 ม. ซึ่งถือเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ และพระราชทานเป็นพระประธานในพระวิหารหลวง ด้วยพระราชประสงค์ให้มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่อยู่ริมน้ำในกรุงรัตนโกสินทร์ เช่นเดียวกับที่กรุงเก่า

แม้ที่วัดแห่งนี้จะยกเลิกพิธีห่มผ้าซึ่งต้องใช้คนขึ้นไปยืนบนพระพุทธรูป ดูแล้วไม่เหมาะสมและทำให้สีของพระพุทธรูปเสียหาย ทำให้ต้องใช้งบประมาณมากในการบูรณะซ่อมแซม แต่ก็ไม่ทำให้ความศรัทธาของผู้คนลดลง อีกทั้งยังมีเรื่องเล่ากันว่า เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เครื่องบินทิ้งระเบิดลงตรงวัดพอดี แต่ชาวบ้านแถวนั้นเชื่อกันว่าหลวงพ่อโตได้เอามือรับระเบิดแล้วเหวี่ยงไปที่สะพานพุทธฯ จึงทำให้คนที่มาหลบในวิหารปลอดภัย

และหากมากราบไหว้ขอพรองค์หลวงพ่อโต หรือ ซำปอกงแล้ว ฉันขอแนะนำว่าย่านนี้มี “ขนมฝรั่งกุฎีจีน” ที่ขึ้นชื่อเป็นอย่างมาก ถือเป็นขนมโบร่ำโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีเลยก็ว่าได้ ถ้ามาแล้วมีเวลาล่ะก็ต้องไม่พลาดที่จะไปจับจ่ายซื้อขนมของฝากติดไม้ติดมือกลับไปฝากคนที่บ้าน รับรองไม่ผิดหวัง เพราะจะได้ทั้งอิ่มบุญและของกินกลับไปอิ่มท้องที่บ้านด้วย

วัดพนัญเชิงวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ ริมฝั่งแม่น้ำป่าสัก ต.คลองสวนพลู อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา โทร. 0-3523-4984, 0-3524-1708 ใครที่มากราบไหว้หลวงพ่อโต ที่อยุธยาแล้ว อย่าลืมแวะซื้อ”โรตีสายไหม”ขนมขึ้นชื่อของที่นี่ ซึ่งมีขายอยู่มากมายหลายเจ้าทั้งเจ้าเก่าเจ้าใหม่ สำหรับแหล่งที่ขายกันเยอะๆได้แก่ที่ถนนแถวหน้าโรงพยาบาลอยุธยา

วัดอุภัยภาติการาม ตั้งอยู่ที่ ถ.ศุภกิจ ใกล้ตลาดบ้านใหม่ ต.บ้านใหม่ อ.เมืองฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา โทร.0-3881-6904, 0-3851-1198 สำหรับผู้ที่ไปไหว้ซำปอกงเมืองแปดริ้วในวันเสาร์-อาทิตย์ สามารถไปชม-ชิม-ช้อป ให้สำราญใจกันต่อที่”ตลาดบ้านใหม่” ตลาดเก่าแก่ สมัย ร. 5 ที่นอกจากจะเป็นแหล่งอาหาร ขนม อร่อยมากมายแล้ว ยังมีวิถีการซื้อขายแบบดั้งเดิมให้สัมผัสกัน

ขอขอบคุณ http://www.manager.co.th/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .