ลานประหารวัดปิตุลาฯ

news_img_461239_1

ที่หมายปลายทางของผมคราวนี้อยู่ที่วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ หรือวัดหน้าเมืองของคนแปดริ้วนั่นเอง วัดนี้อยู่ริมถนนมรุพงษ์

ในเขตเมืองฝั่งเดียวกับวัดหลวงพ่อโสธร ริมแม่น้ำบางปะกง วัดนี้มีบางอย่างที่น่าสนใจ หนึ่งคือรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่ก่อสร้างโบสถ์และวิหาร สองคือเหตุการณ์ที่โบสถ์แห่งนี้ไปเกี่ยวข้อง ในฐานะที่เป็น “ลานประหาร”

ผมไปค้นประวัติวัดแห่งนี้ เขาว่าอย่างนี้ครับ วัดแห่งนี้เป็นผลพวงมาจากการสร้างกำแพงเมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งท่านผู้อ่านคงจะเห็นว่าเดี๋ยวนี้เหลือกำแพงเมืองบางส่วนกับป้อมปราการ ซึ่งดูจากรูปทรงก็จะรู้เลยว่าสร้างอย่างแข็งแรง แล้วจะเห็นว่าป้อมเหล่านี้มักอยู่ริมน้ำ ก็เพราะว่าแต่ก่อนการติดต่อค้าขายก็มาจากทางน้ำทั้งนั้น ประเทศเล็กประเทศน้อยทางแถบเอเชียนี่ มีบทเรียนกับการเข้ามาของชาติตะวันตกมาแล้วทั้งนั้น

โดยเฉพาะบทเรียนแสบๆ พวกเล่นเอาเรือปืนแล่นเข้ามาตามแม่น้ำ แล้วหันปากกระบอกปืนขึ้นหาเมือง พร้อมยิงหากไม่ทำตามคำขอ พม่าก็เสียเอกราชให้แก่อังกฤษก็แบบนี้ พระนางศุภยลัต ขึ้นหอสูงกลางวังมัณฑะเลย์ เห็นเรือปืนอังกฤษลอยเต็มแม่น้ำอิระวดี ก็รู้ว่าชะตาสิ้นแล้ว ไทยเราก็โดนฝรั่งเศสมาข่มเหงถึงในบ้านเหมือนกัน (กรณีเหตุการณ์ ร.ศ.12) แต่ป้อมที่ฉะเชิงเทรานี้เพื่อป้องกันภัยจากญวนที่อาจมารุกราน (เพราะไทยกับญวนรบกันยาวนานถึง 15 ปี ในสงครามอันนามสยามยุทธ ในช่วง พ.ศ.2376-2390 ก็มีฝรั่งเศสอีกนั่นแหละมาเอี่ยว)

กำแพงและป้อมนี้จึงต้องสร้างอย่างแข็งแรง อยู่ห่างจากวัดปิตุลาไม่ถึงกิโลเมตรไปทางทิศใต้ สร้างเมื่อปี พ.ศ. พ.ศ.2377 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงรักษ์รณเรศ (พระองค์เจ้าไกรสร) ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 33 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 (ซึ่งเป็นต้นราชสกุล “พึ่งบุญ” ที่ประสูติจากเจ้าจอมมารดา “น้อยแก้ว”) โปรดให้ไปเป็นแม่กองก่อสร้างกำแพงเมืองและป้อมปราการที่เมืองแปดริ้ว โดยมีพระองค์เจ้าอภัยทัต หรือ “พระองค์เสือ” พระอนุชาร่วมพระโสทรพระเจ้าลูกยาเธอ ไปเป็นผู้ช่วยคุมงาน

ระหว่างที่ทรงคุมงานก่อสร้างอยู่นั้นพระองค์ก็ทรงสร้างวัดขึ้นมาพร้อมกันเพื่อถวายแด่รัชกาลที่ 3 ต่อมาได้รับพระราชทานนามวัดอย่างเป็นทางการในสมัยรัชกาลที่ 5 ตามพระฐานันดรของเสด็จในกรมฯ ซึ่งเป็นอาของพระเจ้าแผ่นดินว่า “วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์” แปลว่าวัดที่อาของพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง (เพราะทรงเป็นพระอนุชาของรัชกาลที่ 2) จึงถือเป็นอาของรัชกาลที่ 3 นั่นเอง ปิตุลาในที่นี้จึงหมายถึงอา) แต่ก่อนเป็นวัดสำคัญอยู่กลางเมือง คนจึงเรียกเป็นหลักเมืองบ้าง หน้าเมืองบ้าง หนักเข้าเรียกสั้นเป็นวัดเมืองซะอย่างนั้น

ที่ผมบอกว่าสถาปัตยกรรมและผังการก่อสร้างน่าสนใจก็คือ วัดนี้เขตพระอุโบสถที่มีกำแพงแก้วล้อมรอบนั้น เข้าใจว่าวัดคงถมที่สูงขึ้นมาเป็นเมตร ทำให้ลานนอกเขตกำแพงแก้ว กลายเป็นคูน้ำไปโดยปริยาย ซึ่งจะว่าไปทำเป็นอุทกสีมาก็ไม่เลว กลัวแต่กำแพงเก่าจะต้านน้ำไม่อยู่ ทางเข้ามีซุ้มประตูเรียบๆ ภายในเขตกำแพงแก้ว มีพระอุโบสถสร้างตามแนวยาว ด้านหลังพระอุโบสถ สร้างเป็นวิหารขวาง ส่วนพระระเบียงที่มักสร้างตามกำแพงแก้วแล้วเปิดโล่งด้านใน เรามักเห็นสร้างตามกำแพงรอบพระอุโบสถ บางทีก็สร้างบางส่วนของกำแพงแก้ว แต่ที่นี่เขาสร้างไว้แค่ตามมุมที่หักศอก 2 มุมด้านหน้าของกำแพงแก้วเท่านั้น น่าจะเป็นแบบที่เขาเรียกกำแพงศาลา ส่วนโบสถ์และวิหารขวางก็มีหลังคาแบบมุขลด มุขเด็จใต้ขื่อเหมือนที่นิยมทั่วไป

ภายในโบสถ์ก็ไม่แปลกตามากนัก ในวิหารขวางมีพระพุทธรูป ประธานและบริวาร ดูไม่ใช่ศิลปะรัตนโกสินทร์ ไม่มีลวดลายประดับอะไรภายใน ในเขตกำแพงแก้วและด้านหน้าพระอุโบสถ มีพระปรางค์องค์เล็กๆ (ทรงแบบวัดอรุณฯ) ตามสมัยนิยม แต่แปลกใจอีกอย่างคือด้านนอกใกล้ประตูทางเข้ากำแพงแก้ว มีปรางค์ 2 องค์ แล้วเหมือนเป็นประตูโขง โผล่ดินขึ้นมาราว 1 เมตร คิดว่าเดิมน่าจะเป็นรั้วเตี้ยๆ และซุ้มประตูล้อมปรางค์อยู่ แต่พอถมดิน คงทับรั้วจนหมด เหลือแต่ซุ้มเขตปรางค์แค่เท่าที่เห็น บรรยากาศทั่วไป ถ้าเป็นกลางคืนคงวังเวงพิลึก

ที่ผมว่าน่าสนใจอีกอย่างคือลานประหารหลังโบสถ์ ระหว่างหลังโบสถ์และวิหารขวาง จะเป็นต้นจันทน์ลูกดก ดูเก่าแก่มาก สูงเสมอวิหารขวาง เดินผ่านได้กลิ่นหอมฉุย มีแท่นหินขนาดเล็กกว่าเตียงเดี่ยวนิดหน่อย บริเวณนี้ในประวัติบอกว่า เป็นสถานที่ที่ประหารพวกอั้งยี่ที่ก่อความไม่สงบ ผมเล่าคร่าวๆ ก็คือกลุ่มคนจีนที่เข้ามาทำมาหากินในบ้านเราสมัยก่อนก็ตั้งกลุ่มช่วยเหลือกันเป็นกลุ่ม ต่อมาก็พัฒนาไปทำอย่างอื่น เดือนเมษายน พ.ศ. 2391 อั้งยี่ที่ฉะเชิงเทราเป็นก๊กของ “เส่งท่ง” ก๊กนี้ทั้งค้าฝิ่นเถื่อนและออกปล้นฆ่าชาวบ้านอย่างมากมาย พระยาวิเศษฤๅชัย (บัว สาริกะภูติ) เจ้าเมืองฉะเชิงเทรายกกำลังออกไปจับกุมปราบปรามก็สู้ไม่ได้ซ้ำถูกอั้งยี่ฆ่าตาย

ก๊กเส่งท่งจึงกำเริบหนัก ทำตัวเป็นกบฏออกเผาเมืองและยึดป้อมปราการไว้เป็นที่มั่น ทางการจึงส่งกำลังไปปราบ สู้รบล้มตายกันเป็นจำนวนมากก็ยังปราบไม่ได้ ตอนนี้พวกอั้งยี่ก็ได้ใจ ฮึกเหิมใหญ่ ทางพระนครจึงได้ส่งเจ้าพระยาบดินทร์เดชาและเจ้าพระยาพระคลัง เป็นแม่ทัพหลวงออกไปปราบปรามขั้นเด็ดขาดสู้รบล้มตายกันเป็นเบือ กลิ่นคาวเลือดคลุ้งทั้งพื้นดินและคุ้งน้ำ ว่ากันว่าตายกันไปราว 3,000 คน พวกที่ถูกจับก็เอามาประหารชีวิตที่ลานใกล้ต้นจันทน์นี้ ครั้งที่มีการล้างป่าช้าหลังวัดเมืองนั้น เขาเจอโครงกระดูกที่ไม่มีหัวบ้าง มีโซ่ตรวนติดอยู่บ้าง จึงไม่อาจคิดเป็นอื่นไปได้ ครั้งนั้นนับเป็นกบฏอั้งยี่ครั้งหนึ่งในประเทศไทย

ตอนนี้สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาของฉะเชิงเทราเขาจัดท่องเที่ยวไหว้สถานที่มงคล 9 แห่งในเมืองแปดริ้ว ไปหลายที่หลายวัดเยอะแยะไปหมด มีกิจกรรมประทับตราในพาสปอร์ตท่องเที่ยวครบ 9 แห่งแล้วมีของที่ระลึกแจก กิจกรรมนี้เขาจัดเพื่อเชิญชวนให้คนเข้าวัด มาไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เห็นว่าจะจัดไปจนถึงช่วงวันแม่ มาไหว้พระกับแม่ แล้วจะมาเดินดูย่านเมืองเก่าที่สวยไม่ด้อยกว่าภูเก็ต หรือมาเที่ยวย่านตลาดใหม่ (แต่เก่า) ของเขาก็ได้ใกล้ๆ กรุงเทพแค่นี้ ถามเขาก่อนก็ได้ที่ 035-515-186 เผื่อเขามีอะไรแนะนำนอกจากที่ผมว่ามา

ผมเห็นคนออกมาขู่ศาล กระทำการเหิมเกริมเหมือนบ้านเมืองไร้ขื่อแป พฤติกรรมเหมือนอั้งยี่ที่แปดริ้ว ก็เลยนึกถึงเรื่องลานประหารวัดเมืองนี้ได้ บ้านเมืองเข้าสู่ระเบียบแล้ว ไม่รู้ใครจะได้มานั่งพนมมือรอการประหารที่วัดนี้กันบ้าง ก็ได้แต่หวังให้รู้ผิดรู้ชอบโดยเร็วเท่านั้น…

ขอขอบคุณ http://www.bangkokbiznews.com/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .