วัดพระทอง

วัดพระทอง ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ระยะทางจากสะพานเทพกระษัตรี ประมาณ 23 กม. อยู่ระหว่างกิโลเมตรที่ 19-20 ทางฝั่งตะวันออก ของถนนเทพกระษัตรี วัดพระทอง หรือวัดพระผุด ประดิษฐานอยู่ในวิหาร โผล่เพียงพระเกตุมาลาจากพื้นดิน โดยมีรูปจำลอง ก่อสวมทับไว้แบบครึ่งองค์

สถานที่ตั้งของวัดในปัจจุบันนี้ เดิมเป็นทุ่งกว้างเป็นที่นา มีน้ำไหลผ่านลำคลอง มีทุ่งหญ้าสำหรับเลี้งโค กระบือ ของชาวเมืองถลาง ในสมัยนั้นชาวบ้านเรียกว่า “ทุ่งนาใน” น้ำในลำคลองไหลมาจาก น้ำตกโตนไทรจากเทือกเขาพระแทว ไหลผ่านหมู่บ้านสองข้าง คือ บ้านบ่อกรวด และบ้านนาใน ไหลลงสู่ทะเลพังผ่านทุ่งบ้านดอน อันเป็นที่ตั้งเมืองเก่าของเจ้าถลางสมัยนั้น ต่อมา “ทุ่งนาใน” ได้มีบ้านคนอยู่อาศัยมากขึ้น ชาวบ้านจึงเรียกว่า “บ้านนาใน” จนถึงทุกวันนี้

หลวงพ่อพระทอง (พระผุด) เป็นพระพุทธรูปทองคำ อยู่ใต้องค์พระพุทธรูปพระทองครึ่งองค์ ประวัติความเป็นมา ยังไม่มีหลักฐานที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร มีแต่คำบอกเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นคนไทย และคนจีนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองไทยเป็นเวลานาน โดยท่านพระครูสุวรรณพุทธาภิบาล ได้บันทึกไว้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 ซึ่งมีหลักฐานดังนี้

หลวงพ่อพระทอง(พระผุด) ชาวบ้านคนไทยในจังหวัดภูเก็ต เรียกว่า “พระผุด” เพราะเป็นพระพุทธรูป ผุดเพียงพระเกตุมาลา สูงประมาณ 1 ศอก คนจีนเรียกว่า “ภู่ปุ๊ค” (พู่ฮุก) เพราะคนจีนเชื่อกันว่า พระผุดมาจากเมืองจีน คนจีนในภูเก็ต พังงา ตะกั่วป่า ท้ายเหมือง และกระบี่ ต่างเคารพนับถือ พระพุทธรูปองค์นี้มาก เมื่อถึงเทศกาลตรุษจีน (เดือน 3) ก็พากันมานมัสการ เป็นประเพณีมาจนถึงทุกวันนี้ เหตุที่คนจีนอ้างว่าพระผุดมาจาดเมืองจีนนั้น มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมา เมื่อสมัยสองพันปีเศษ เมืองเซี่ยงไฮ้ของจีนมีพระพุทธรูป 3 องค์ โดยตระกูลเจ้าเมืองของจีน 3 พี่น้อง เป็นผู้สร้างพระพุทธรูปทองคำ 3 องค์ เล่ากันว่า พี่องค์แรกครองเมือง 25 ปี ไม่มีมเหสีและโอรสธิดา เมื่อสวรรคต องค์น้องที่สองได้ขึ้นครองราชย์ เก็บทองคำทั้งหมดหล่อเป็นพระพุทธรูป ไว้บูชาแทนองค์แรก องค์ที่ 2 ครองราชย์อยู่ 23 ปี ก็สวรรคต องค์น้องสุดท้องขึ้นครองราชย์ และเก็บเอาทองคำขององค์ที่ 2 ทั้งหมด หล่อเป็นพระพุทธรูป ซึ่งใหญ่กว่าองค์แรก เป็นพระพุทธรูปไว้บูชา แทนองค์กลาง น้ององค์ที่ 3 ครองราชย์ได้ 8 ปี ก็สวรรคต เจ้าต่างเสวยราชย์ต่อจากองค์ที่ 3 ก็เก็บเอาทองของพระเจ้าแผ่นดินมาหล่อเป็นพระพุทธรูป รวมเป็นพระพุทธรูป 3 องค์เป็นพระพุทธรูปที่สวยงามมาก ต่อมาเซี่ยงไฮ้ได้เสียให้แก่ชนชาวธิเบต ชาวธิเบตได้นำเอาพระพุทธรูป 1 ใน 3 องค์ ลงเรือมาทางทะเลเข้ามาทาง มหาสมุทรอินเดีย เพื่อนไปประเทศธิเบต เรือเกิดล่ม พายุพัดเข้ามาชายฝั่งพังงา เรือจมลงมีการเปลี่ยนแปลง ของเปลือกโลกบริเวณเรือจม กลายเป็นเกาะในเวลาต่อมา บริเวณใกล้องค์พระพุทธรูป มีลำคลองไหลผ่าน เมื่อฝนตกหนัก น้ำท่วมเซาะดินให้ต่ำลง หลวงพ่อก็โผล่ให้เห็นเพียง พระเกตุมาลา ส่วนองค์พระนั้น คงอยู่ใต้ดินยังขุดไม่ได้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ วัดพระทอง อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2502 ตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 4 ปีกุน เป็นการเสด็จส่วนพระองค์ ไม่มีกำหนดการพร้อมทั้ง พระราชทานลายพระหัตถ์โดยย่อว่า ภ.ป.ร. ประดิษฐานเหนือประตูทางเข้าพระวิหารหลวงพ่อพระทอง เป็นสิริมงคลแก่วัดพระทอง และพสกนิกรชาวไทยสืบมา

ขอขอบคุณ http://pkt.onab.go.th/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .