ท้าวเทพกระษัตรี และท้าวศรีสุนทร

งานท้าวเทพกษัตรีย์ ท้าวศรีสุนทร ตรงกับวันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี (วันถลางชนะศึก) เป็นการเทิดทูนเกียรติ และรำลึกถึงคุณงามความดี ของสองวีรสตรี ที่ท่านสามารถ ปกป้อง เมืองถลางให้รอดพ้นจากข้าศึก (พม่า) ในสมัยสงครามเก้าทัพ นอกจากนี้ ยังเป็นการฟื้นฟู แหล่งประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น อนุสรณ์สถานถลางชนะศึก (วัดม่วง) โคกชนะพม่า หรือ วัดพระนางสร้าง ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่ทรงคุณค่า เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เชิงประวัติศาสตร์ของ จังหวัดภูเก็ต ให้เป็นที่รู้จัก ของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติอีกด้วย

ตามประวัติศาสตร์ กล่าวไว้ว่า ท้าวเทพกระษัตรี และท้าวศรีสุนทร เป็นธิดาของ จอมร้างบ้านตะเคียน (ขุนนางผู้ปกครองเมืองถลาง) มารดาชื่อหม่าเสี้ย เป็นเชื้อสายเจ้าเมืองไทรบุรี คุณจันเกิดที่ บ้านตะเคียน เมืองถลาง ประมาณปี พ.ศ. 2278 ปลายกรุงศรีอยุธยา ในรัชกาล พระเจ้าบรมโกศ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 5 คน คือคุณจัน คุณมุก คุณหม่า (หญิง) คุณอาด (ชาย) และคุณเรือง (ชาย)

ทั้งสองท่าน ได้รับการเลี้ยงดู เพื่อรับภาระอันหนักยิ่งของตระกูล ทั้งการควบคุมไพร่พลขุดหาดีบุก การแสวงหาเครื่องอุปโภคบริโภค สำหรับไพร่พลจำนวนมาก การหาตลาดจำหน่ายดีบุก การแสวงหาอาวุธ เพื่อป้องกันภัยจากพม่าและโจรสลัด หรือการรักษาสถานภาพของตระกูล จากการฉกฉวยแย่งชิงของศูนย์อำนาจภายนอก ดังนั้น จึงมีคุณสมบัติ ความเป็นผู้นำ สูงเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับชีวิตครอบครัวนั้น คุณจันแต่งงานกับ หม่อมศรีภักดี บุตร จอมนายกอง เมืองตะกั่วทุ่ง มีบุตรธิดาด้วยกัน 2 คน คือ คุณปราง และ คุณเทียน เมื่อหม่อมศรีภักดีถึงแก่กรรม คุณจันจึงตกพุ่มหม้าย ต่อมาเมื่อ พระกระบุรี (ขัน) ได้รับยศเป็นพระยาพิมล เจ้าเมืองถลาง จึงได้มาแต่งงานกับคุณจัน มีบุตรธิดาด้วยกัน 5 คน คือ แม่ทอง พ่อจุ้ย พ่อเนียม แม่กิ่ม และแม่เมือง ครั้งเมื่อพระยาพิมล ได้ไปเป็น เจ้าเมืองพัทลุง คุณหญิงจันก็ยังคงอยู่ที่เมืองถลาง ภายหลังกลับมาเป็น เจ้าเมืองถลาง ถึงกลับมาอยู่กับคุณหญิงจันอีก

พระยาพิมลถึงแก่อนิจกรรม ในปี พ.ศ. 2328 เป็นระยะเดียวกับที่ พม่า ยกกองทัพ มาตีเมืองถลาง หรือที่เรียกว่า สงครามเก้าทัพ ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 2328 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 1 โดยพระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่าในสมัยนั้น ได้สั่งให้ยกกองทัพมาถึงเก้าทัพ ในบรรดาเก้าทัพ มีทัพหนึ่งยกมาทางใต้ มีแม่ทัพยี่วุ่นเป็นผู้นำทัพ เมื่อตีเมืองตะกั่วป่าตะกั่วทุ่งได้แล้ว ก็มุ่งตีเมือง ถลาง ทันที

ขณะนั้น พระยาพิมลเจ้าเมืองถลาง สามีของคุณหญิงจัน เพิ่งถึงแก่ อนิจกรรมไม่นาน จึงไม่มีใครบัญชาการรบ คุณหญิงจัน และ นางมุก น้องสาว ได้เป็นผู้นำในการป้องกันเมือง โดยคุณหญิงจันได้รวบรวม ผู้คนรวม ทั้งอาวุธปืนน้อยใหญ เข้าประจำค่าย และประชุมวางแผน ป้องกันเมือง กับบรรดานายกอง ซึ่งมีความเห็นต้องกันว่า ทัพเรือของพม่า จะต้องยกเข้ามาจอดยกพลขึ้นบกที่ ท่าตะเภา อันเป็นท่าเรือใหญ่ และใกล้เมืองถลางที่สุด
โบสถ์เก่า วัดพระนางสร้าง สถานที่ประชุม วางแผนรับมือพม่า

ดังนั้น จึงได้แบ่งกองกำลังไปตั้งขัดตาทัพ อยู่ที่ หลังวัดพระนางสร้างยึดเอาวัด เป็นที่ตั้งฐานทัพ มีนายอาจ น้องชายคุณหญิงจัน เป็นแม่กองคุมพล ไทยแขกกับปืนใหญ่ แม่นางกลางเมือง หนึ่งกระบอก ไปประจำค่าย มีนายทองเพ็ง และกรมการเมือง เป็นผู้ช่วย นอกจากนี้ ได้มีการตั้งค่ายใหญ่ ที่นบนางดักหนึ่งค่าย มีนายทองพูน เป็นแม่กอง พร้อมปืนใหญ่ พระพิรุณสังหาร ประจำค่าย หนึ่งกระบอก เมื่อการตั้งขัดตาทัพพม่าพร้อมแล้ว ก็ตั้งกองสอดแนมลาดตระเวน ตามยุทธวิธีสงคราม โดยคุณหญิงจัน เป็นผู้บัญชาการรบ คุณมุก เป็นผู้ช่วย ตรวจตราทั้งสองค่าย ศึกหนักทางไหน จะได้ช่วยทางนั้น

เมื่อพม่ายกมาถึงช่องแคบ เข้าจอดเรือที่ท่าตะเภา ยกพลขึ้น ตั้งค่ายใหญ่ที่ริมทะเล ที่ปากช่องค่ายแล้ว ก็ขยับขึ้นมาตั้งค่าย ที่โคกพม่า 1 ค่าย ที่บ้านนากลาง 1 ค่าย ล้อมเมืองไว้ แล้วแต่งตั้ง นายทัพนายกอง นำกำลังพลมายั่วชาวเมือง ทำทีว่าจะเข้าตีค่าย ของนายทองพูน-นายทองเพ็ง
ความลงตัว ระหว่างสังคมเมือง และชนบท

ฝ่ายกองทัพไทยมีพลน้อย ไม่สามารถออกโจมตีข้าศึกโดยซึ่งหน้า คุณหญิงจัน และ คุณมุก จึงปรึกษาหารือกับกรมการเมืองว่า ควรจะคิดอุบายให้พม่า ถอยทัพ กลับไปโดยเร็วให้จงได้ จึงสั่งให้คัดเลือก ผู้หญิงวัยกลางคน ประมาณ 500 คน มาแต่งตัวอย่างผู้ชาย เอาไม้ทองหลาง เคลือบดีบุก ถือต่างอาวุธ เพื่อลวงข้าศึก จัดขบวนทำที่ จะยกเข้าตีทัพพม่า

เมื่อพม่าเห็นทัพไทยยกออกมา จะเข้าตีค่ายของตน ก็จัดขบวนออกประชุมพล อยู่หน้าค่าย ตรงต้นทองหลางน้ำ มีกิริยาอาการจะตีโต้ตอบ คุณหญิงจัน ก็สั่งให้ นายทองพูนผู้น้อง จุดปืนใหญ่พิรุณสังหาร ยิงตรงไปยังที่ชุมนุมพม่า กระสุนปืนใหญ่ ตัดเอากิ่งไม้ทองหลางน้ำ ขาดลงกลางชุมนุมของ พม่า ทางฝ่ายทัพไทยก็ตีฆ้องกลอง โห่ร้อง สำทับข่มขวัญ อย่างครื้นเครง ประหนึ่งจะยกออกโจมตี ฝ่ายพม่าเห็นเป็นอัศจรรย์ ก็ขวัญเสีย จึงรีบถอยทัพกลับเข้าค่าย

เมืองถลางทำทีจัดขบวนลาดตระเวน ประชุมพลถ่ายเทคนเข้าออก เป็นประจำทุกวัน แต่ให้พม่าเห็นแต่เวลาเข้า เป็นการลวงให้พม่า เห็นว่า ทัพไทยมีกำลังเพิ่มเติมเข้ามาเสมอ พม่าไม่กล้าเข้าโจมตี เป็นการหน่วงเหนี่ยวไว้ ให้ขาดเสบียงอาหาร อีกทั้ง ยังมีการจัด กองกำลังออกรังควาญพวกพม่า ที่ออกลาดตระเวน หาเสบียงอาหาร บาดเจ็บล้มตายเป็นประจำทุกวัน

เมื่อไม่เห็นช่องทาง ที่จะตีเอาเมืองถลางให้แตกได้ กอปรกับขาด เสบียงอาหาร และเกิดความปั่นป่วนขึ้นในกองทัพ รวมไปถึง ความอ่อนล้า จากการทำสงคราม และการเดินทาง (ระยะเวลาประมาณ 4 เดือน นับแต่ยกกองทัพออกมาจากเมืองมะริด) นอกจากนี้ ตลอดเวลา 1 เดือน ที่ล้อมเมืองถลางไว้ พม่า ยังสูญเสีย กำลังคนไปอีก ประมาณ 300-400 คน จึงยกกองทัพ กลับพม่าไป เมื่อวันจันทร์ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2328

วีรกรรมครั้งนั้นทำให้รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าให้ คุณหญิงจัน เป็น ท้าวเทพกระษัตรี นางมุก เป็น ท้าวศรีสุนทร และ ต่อมา พระยาทุกขราช (เทียน) ได้รับแต่งตั้ง ให้เป็นพระยาเพชรคีรีพิชัยสงคราม พระยาถลางใน พ.ศ. 2331 นอกจากนี้ในภายหลัง ทางการได้ตั้งนาม สถานที่ตั้งเมืองถลาง เมื่อครั้งศึกพม่าว่า ตำบลเทพกระษัตรี และรวมตำบลท่าเรือ กับตำบลลิพอน ตั้งเป็นตำบลชื่อว่า ตำบลศรีสุนทร สำหรับบั้นปลายชีวิตมีผู้กล่าวว่า ทั้งสองวีรสตรี พักอาศัยอยู่กับ พระยาเพชรคีรีพิชัยสงคราม พระยาถลาง (ต้นตระกูล ประทีป ณ ถลาง) จนเข้าสู่วัยชราภาพ และถึงแก่อสัญกรรมโดยสงบ

ต่อมาประชาชนชาวภูเก็ต โดยการนำของนายอ้วน สุระกุล ผู้ว่าราชการ จังหวัดภูเก็ต ในสมัยนั้น ได้ร่วมใจกันสร้าง อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2509 โดยอนุสาวรีย์ ตั้งอยู่กลางวงเวียน บนถนนเทพกระษัตรี อำเภอถลาง (บ้านท่าเรือ) เป็นอนุสาวรีย์ยืนลอยตัว มีฐานยกสูงประมาณ 10 เมตร จารึกใน ศิลาฤกษ์ไว้ว่า “ท้าวเทพกระษัตรี (จัน) ท้าวศรีสุนทร ( มุก) ได้กระทำการป้องกันเมืองไว้เป็นสามารถ มิให้พม่าข้าศึก ซึ่งยกมาประชิดเมืองถลาง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๘ ตีหักเอาเมืองได้ พม่าแตกทัพกลับไปเมื่อ ๒ ฯ ๑๔ ๔ ปีมะเส็ง สัปตกศก จ.ศ. ๑๑๔๗ เป็นวีรกรรมอันควรแก่ชาวเมืองถลาง ตลอดจนชาวไทยทั่วไป ยกย่องสรรเสริญ…”

ขอขอบคุณ http://phuketindex.com/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .