ประวัติศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง ( กิ้วอ๋อง )

1505

ปฏิสนธิของประวัติกิ้วอ๋อง ซึ่งเดิมอยู่ที่เมืองจีนของจังหวัดกั่งส่าย ซึ่งเป็นที่สักการะบูชาของพวกคณะงิ้วเป็นอย่างมาก
แรกเริ่มเดิมทีของเรื่อง คือ ครั้งสมัยหนึ่งประมาณการผ่านไปเจ็ดสิบกว่าปีแล้วมีงิ้วคณะหนึ่งได้นำคณะล่องใต้ไปแสดงตามสถานที่ต่างๆ คณะงิ้วจะต้องอัญเชิญ กิ้วอ๋อง ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขานับถือ สักการบูชาอย่างสูงให้ท่านติดตามไปคุ้มครอง ปกปักรักษาให้พวกเขาอยู่เย็นเป็นสุขตลอดมา
ต่อมาคณะงิ้วดังกล่าวได้เดินทางมาถึงจังหวัดภูเก็ต ก็ได้เริ่มทำการแสดงอยู่ที่ซอยรมณีย์ทางด้านวัดมงคลนิมิต ( ซึ่งคนพื้นเมืองของจังหวัดภูเก็ตเรียกซอยรมณีย์ว่า อ่างอ่าหล่าย ) คณะงิ้วได้มาอยู่ที่จังหวัดภูเก็ตนานพอประมาณ ระหว่างที่คณะงิ้วอยู่ภูเก็ตนั้นก็ได้จัดให้มีพิธีกินผัก ( กินเจ ) กัน ซึ่งพวกงิ้วได้ถือปฏิบัติสืบอายุเป็นตอนๆ มา พิธีการกินเจคือเริ่มขึ้นประมาณเดือน 9 ขึ้น 1 ค่ำ ของปฏิทินจีน ( เก้าโง้ยโช่ยอีด ) ก่อนถึงวันกินเจ พวกงิ้วจะปัดกวาด ล้างชำระสถานที่เครื่องใช้ หม้อข้าว ถ้วยชาม และสิ่งของที่จะประกอบในพิธีให้สะอาด ผู้ที่จะร่วมในพิธีจะต้องแต่งตัว นุ่งขาวห่มขาว ในพิธีการกินเจมีทั้งหมด 9 วัน 9 คืน
ในสมัยนั้นก็มีพี่น้องชาวภูเก็ต ทั้งคนจีน และคนไทย ก็ได้เข้าร่วมในพิธีการถือศีลกินเจกับคณะงิ้วด้วย พี่น้องชาวภูเก็ตของเราก็ได้ศึกษา ปฏิบัติ พิธีการต่างๆ ตั้งแต่วันเริ่มงานกินเจจนเสร็จพิธี ในพิธีการกินเจนี้ เขาจะมีพิธีขึ้นเสาโกเต้ง มีตะเกียงน้ำมัน 9 ดวง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพิธีการกินเจได้เริ่มขึ้นแล้ว ในพิธีการกินเจก็มีการประทับทรงพระ ทำพิธี ลุยไฟ สะเดาะเคราะห์ อาบน้ำมันซึ่งกำลังเดือด พิธีไหว้เทวดา มีการแห่ขบวนไปตามถนนสายต่างๆ พอครบกำหนด 9 วัน 9 คืน ก็เป็นอันเสร็จพิธีการกินเจ
เมื่อพวกคณะงิ้วเสร็จสิ้นการแสดงงิ้ว ต่างก็เก็บข้าวเก็บของเตรียมเดินทางกลับภูมิลำเนาของตน หัวหน้าคณะงิ้วได้พิจารณาเห็นว่าพี่น้องชาวภูเก็ตทั้งคนจีนและคนไทยมีความเลื่อมใสศรัทธาในพิธีการถือศีลกินเจ พวกคณะงิ้วได้อัญเชิญเหี่ยวโห้ย และสิ่งของต่างๆ ซึ่งมีความจำเป็นจะต้องใช้ในพิธีการกินเจให้ไว้กับพี่น้องชาวภูเก็ตไว้ดำเนินพิธีการกินเจสืบทอดต่อไป พี่น้องชาวภูเก็ตต่างพร้อมใจกัน จัดตั้งเป็นศาลเจ้าขึ้นที่อ่างอ่า หล่าย ( ซอยรมณีย์ )
อยู่มาไม่นานนัก ประมาณในปี พ.ศ.2450 ก็บังเกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่ซอยรมณีย์ชาวบ้านต่างก็ช่วยกันขนย้ายเหี่ยวโห้ย และสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อหนีพระเพลิง ซึ่งในสมัยนั้นมีผู้ใหญ่บ้าน คือ นายสุ่ยติ่น แซ่เอี๋ยว นายจี่เต็ก แซ่เจี่ย นายสุ่น ( ไม่ทราบนามสกุล ) และหลายๆ คน ท่านผู้เฒ่าทั้งหลายได้ขนย้ายเหี่ยวโห้ยและสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ไปปรึกษากับนายฮก แซ่เอี๋ยว พ่อของนายก่วนสิ่ว เจ้าของที่ดิน ที่ตำบลตลาดเหนือ หมู่ที่ 8 อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต คือ ที่ตั้งของศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยปัจจุบัน เพื่อจะสร้างขึ้นเป็นศาลเจ้า 1 หลัง มุงและกั้นด้วยจาก ( ซึ่งเดิมทีที่ตั้งของศาลเจ้าจุ้ยตุ่ย เป็นสวนพลู ด้านหน้าทิศตะวันออก ที่เป็นถนนหรือเรียกว่าซอยภูธรปัจจุบันนั้น ในสมัยก่อนจะเป็นคลองขนาดใหญ่มีเรือใบ 3 หลัก แล่นเข้ามาเทียบท่าเป็นจำนวนมาก ซึ่งชาวเรือเหล่านี้ จะขึ้นมาสักการะกราบไหว้เจ้าแม่กวนอิมหรือปุดจ้อ ณ ศาลเจ้าปุดจ้อที่เห็นกันมาตราบจนทุกวันนี้ ) ผลการเจรจาปรึกษาก็ตกลงกันด้วยดีท่านผู้เฒ่าทั้งหลายก็ได้อัญเชิญ เหี่ยวโห้ย และสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ มาประดิษฐานไว้ ณ ที่ดังกล่าว นับแต่นั้นมาชาวบ้านก็มักจะเรียกกันติดปากว่า ศาลเจ้ากิ้วอ๋อง หรือศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยมาจนถึงทุกวันนี้
ทุกๆ รอบปีของเดือน 9 ขึ้น 1 ค่ำ ของปฏิทินจีน ( เก้าโง้ยโช่ยอีด ) ก็จะจัดให้มีการกินเจ ซึ่งสละแล้วทุกสิ่งทุกอย่างหันหน้าเข้าหาพระเป็นเวลา 9 วัน 9 คืน ซึ่งพี่น้องชาวภูเก็ตของเราก็สืบอายุการถือศีลกินเจและปฏิบัติพิธีการต่างๆ ซึ่งถ่ายทอดมาจากพวกคณะงิ้วทุกอย่างจนถึงทุกวันนี้ และก็ได้จัดตั้งกรรมการบริหารศาลเจ้าเพื่อทำงานให้กับศาลเจ้าตลอดมา จนกระทั่งในปี พ.ศ.2500 คณะกรรมการและชาวบ้านก็ได้ช่วยกันบูรณะเปลี่ยนแปลงหลังคาจากเป็นสังกะสี และขยายต่อเติมศาลเจ้าขึ้นเล็กน้อย ต่อมาในปี พ.ศ.2520 คณะกรรมการชุดดำเนินงานปัจจุบัน ได้จัดซื้อที่ดิน 1 แปลง ( 2 ห้อง ) แล้วได้ก่อสร้างโรงครัวขึ้น 1 หลัง อย่างถาวร และได้จัดสร้างสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เพิ่มเติมขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก และได้บูรณะถาวรวัตถุต่างๆ อีกด้วย
ทุกๆ รอบปีในงานกินเจ จะมีชาวบ้าน พ่อค้า ประชาชน ที่มีจิตศรัทธาต่างก็ได้นำเอาสิ่งของ เครื่องใช้ เช่น ข้าวสาร น้ำมันมะพร้าว น้ำมันถั่ว น้ำตาล ผักสด ธูปเทียน มาถวายให้กับกิ้วอ๋อง ณ ที่ศาลเจ้า ซึ่งคณะกรรมการรับสิ่งของลงบัญชี พร้อมทั้งประกาศขอบคุณท่านผู้ใจบุญที่มาบริจาค สิ่งของบางอย่างก็จะส่งเข้าไปโรงครัวเพื่อหุงต้มเป็นอาหาร แจกจ่าย ใส่ปิ่นโตให้กับชาวบ้านไปรับประทานเพื่อความเป็นสิริมงคลในครอบครัว ปัจจัยสุดแล้วแต่ชาวบ้านจะอนุโมทนา คณะกรรมการไม่ได้กะเกณฑ์
ในปีหนึ่งๆ ท่านจะเห็นได้ว่าชาวบ้าน พ่อค้า ประชาชนทั้งในจังหวัดภูเก็ต และคนต่างจังหวัดก็จะเข้าร่วมในพิธีถือศีลกินเจกันมากขึ้นทุกปี สิ่งที่ทางศาลเจ้าจะขาดไม่ได้ก็คือเด็กนักเรียน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในวันแห่ขบวน

ขอขอบคุณ http://www.phuketvegetarian.com/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .