ประวัติวัดพายัพ พระอารามหลวง

สถานที่ตั้งวัด ตั้งอยู่เลขที่ ๓๐๘ ถนนชุมพล ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ภาค ๑๑ สังกัดคณะสงฆ์ มหานิกาย สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๒๒๐ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งแรก เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๒๔๐ เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๒๑ เมตร ยาว ๒๙ เมตร และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาใหม่ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๙ กว้าง ๔๒ เมตร ยาว ๖๖ เมตร

วัดพายัพ (พระอารามหลวง) เป็นวัดเก่าแก่ของจังหวัดนครราชสีมา ตั้งอยู่ภายในเขตกำแพงเมืองเก่าอยู่ทางด้านทิศพายัพของเสาหลักเมืองจึงตั้ง ชื่อว่า “วัดพายัพ” โดยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองนครราชสีมา ซึ่งในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงครองราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ได้ทรงเลือกสถานที่ในการสร้างเมืองนครราชสีมา ทรงโปรดฯให้ช่างชาวฝรั่งเศสเขียนแปลนก่อสร้างเป็นรูปเหลี่ยม พื้นที่เมืองเก่าของนครราชสีมามีเนื้อที่ ๑,๐๐๐ ไร่ โดยการออกแบบให้มีคูคลองน้ำล้อมรอบเพื่อป้องกันข้าศึก มีกำแพงและประตูเมือง ๔ ประตู คือ ประตูชุมพล ประตูพลแสน ประตูพลล้าน และประตูไชยณรงค์ (หรือประตูผี) ภายในกำแพงเมืองเก่าได้ทรงให้สร้างวัดขึ้นจำนวน ๖ วัด คือ วัดพระนารายณ์มหาราช (วัดกลางนคร), วัดบึง, วัดพายัพ, วัดอิสาน, วัดบูรพ์, และวัดสระแก้ว

พระอุโบสถ ลักษณะทรงเรือสำเภา ศิลปะอยุธยา เป็นพระอุโบสถก่ออิฐถือปูนหลังคาไม้ อายุกว่า ๓๐๐ ปี มีลูกนิมิตเป็นใบเสมาคู่รอบพระอุโบสถเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ส่วนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพายัพเป็นมาอย่างไรไม่ทราบประวัติ พระอุโบสถหลังเก่านี้ได้ชำรุดทรุดโทรมจนไม่สามารถบูรณะซ่อมแซมได้ ทางวัดจึงได้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้นแทน โดยมีลักษณะทรงเรือสำเภาอยุธยาเช่นเดิม โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ประดับหินอ่อน-หินแกรนิตทั้งหลัง เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ผู้ทรงสถาปนาเมืองนครราชสีมาและวัดพายัพขึ้น พระอุโบสถหินอ่อนหลังนี้จะมีความงดงามมากแห่งหนึ่งในภาคอีสาน และจะเป็นเกียรติประวัติศาสตร์ของจังหวัดนครราชสีมา เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปะวัฒนธรรมที่มีคุณค่า และเป็นแหล่งแสวงบุญที่สำคัญตลอดไป การก่อสร้างวัดพายัพ โดยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับสร้างเมืองนครราชสีมา ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ประมาณ พ.ศ.๒๒๒๐ โดยวัดนี้เป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงโปรดเกล้าฯให้สร้าง จึงมีฐานะเป็นพระอารามหลวงมาแต่แรก แต่เนื่องจากไม่ปรากฏมีหลักฐานการสถาปนาเป็นพระอารามหลวง เมื่อราชวงศ์กรุงศรีอยุธยาสิ้นสุดลง เปลี่ยนเป็นกรุงธนบุรีและราชวงษ์จักรี วัดพายัพก็ขาดสถานะภาพจากวัดหลวง กลายเป็นวัดราษฎร์เรื่อยมา

การสถาปนาพระอารามหลวง ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑ วันอาทิตย์แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๗ ปีชวด เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ โดยสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้ดำเนินการคัดเลือกวัดทั่วราชอาณาจักรที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์กำหนด และในการประชุมมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๑๓/๒๕๕๑ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๑ มีมติเห็นชอบให้ยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ จำนวนทั้งหมด ๙ วัด จากทั่วประเทศ จึงมีประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติว่า ด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดพายัพ ตำบล ในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งแต่วันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่มที่ ๑๒๕ ตอนพิเศษ ๑๔๐ ง วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๑

๒. ลักษณะพื้นที่ที่ตั้งวัดพายัพ ตั้งอยู่ในศูนย์กลางเมืองนครราชสีมา ทางด้านทิศพายัพของเสาหลักเมือง จึงตั้งชื่อวัดตามทิศว่า “วัดพายัพ” รอบๆวัดเป็นบ้านพักอาศัยของประชาชน บ้านพักส่วนราชการ และการประกอบอาชีพธุรกิจการค้าขาย ที่วัดแบ่งเป็น เขตพุทธาวาส ๒ ไร่, เขตธรรมาวาส ๒ ไร่, เขตสังฆาวาส ถนน สนามหญ้า ๓ ไร่, เขตที่จัดประโยชน์ฯ ให้เช่าอยู่อาศัย ๕ ไร่, พื้นที่สระน้ำ ปลูกต้นไม้ ๓ ไร่ รวมเนื้อที่วัด ๑๕ ไร่ ๖๙ ตารางวา อาณาเขต ทิศเหนือยาว ๑๙๒ เมตร จรดถนนพลแสน รอบเมืองชั้นใน ทิศใต้ยาว ๑๙๕ เมตร จรดที่ดินเอกชน เลขที่ ๑๗ ๑๘ ๑๙ ๒๐ ๒๑ ๒๒ ๒๔ ๒๕ ทิศตะวันออกยาว ๑๑๒ เมตร จรดที่ดินราชพัสดุ เลขที่ ๑๓ ๑๔ และถัดจากนั้นไปเป็นถนนจักรี ทิศตะวันตกยาว ๑๒๔ เมตร จรดถนนชุมพล และอนุสรณ์สถาน ท่านท้าวสุรนารี

ขอขอบคุณ http://nma.onab.go.th/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .