พระทศพลญาณประทานบารมี หรือ “หลวงพ่อใหญ่” พระประธานในพระวิหาร วัดพระนารายณ์มหาราช วรวิหาร หรือวัดกลางนคร ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา

_paragraph__16_108

“นครราชสีมา” หรือที่เรียกว่า “โคราช” เปรียบเสมือนประตูสู่ภาคอีสาน อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 259 กิโลเมตร เป็นเมืองใหญ่บนดินแดนที่ราบสูง ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากร และสิ่งอำนวยความสะดวกทางการท่องเที่ยว ผู้มาเยือนจะได้เพลิดเพลินกับกิจกรรมการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งเดินป่าศึกษาธรรมชาติ พักผ่อนหย่อนใจริมอ่างเก็บน้ำ ชื่นชมความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมขอมโบราณ และเรียนรู้วัฒนธรรมพื้นบ้าน

คำว่า นครราชสีมา เกิดจากการรวมชื่อเมืองโบราณสองเมือง คือ เมืองโคราชและเมืองเสมา ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอโนนสูง นครราชสีมา เคยเป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณหลายแห่งตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงสมัยที่มีการเผยแพร่ของวัฒนธรรมทวารวดีและวัฒนธรรมแบบขอมเข้ามาในดินแดนแถบนี้

เคยมีฐานะเป็นเมือง “เจ้าพระยามหานคร” เช่นเดียวกับเมืองนครศรีธรรมราชทางภาคใต้ มีอำนาจปกครองหัวเมืองน้อยใหญ่ในอีสานหลายแห่ง

จนมาถึงปัจจุบันยังคงความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ในฐานะที่เป็นเมืองศูนย์กลางทางด้านคมนาคม เศรษฐกิจของภาคอีสาน

นคราชสีมา มีวัดวาอารามและโบราณสถานมากมาย ให้พุทธศาสนิกชนได้ทำบุญไหว้พระเสริมความเป็นสิริมงคล เริ่มต้นจากวัดกลางเมืองโคราช คือ วัดพระนารายณ์มหาราช วรวิหาร

วัดพระนารายณ์มหาราช วรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เลขที่ 417 ถ.จอมพล ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา อยู่ภายในตัวเมืองนครราชสีมา โดยอยู่ระหว่างถนนอัษฎางค์และถนนจอมพล

เส้นทางการคมนาคมสะดวกและปลอดภัยมีรถประจำทาง รถรับจ้าง และสามล้อให้บริการได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ด้วยสภาพถนนภายในตัวเมืองเป็นถนนลาดยางอยู่ในสภาพดี

วัดพระนารายณ์มหาราช เป็นวัดเก่าแก่ สร้างมาพร้อมกับการสร้างเมืองในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และเคยเป็นที่ประดิษฐานอัฐิของท้าวสุรนารี

วัดพระนารายณ์มหาราช เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “วัดกลางนคร” หรือ “วัดกลาง” เป็นวัดกลางเมืองนครราชสีมาเดิม มีความหมายอีกอย่างหนึ่ง คือ การเป็นวัดศูนย์กลางของเมืองนครราชสีมา

ตามหลักฐานที่ปรากฏระบุว่า วัดพระนารายณ์มหาราช ได้รับพระบรมราชานุญาตจัดสร้างเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2199 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2204 เนื้อที่กว้าง 17.30 เมตร ยาว 27.35 เมตร

วัดแห่งนี้ บริเวณมุมวัดด้านถนนจอมพล ยังเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ประดิษฐานหลักเมืองนครราชสีมา เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพของชาวเมืองนคร ราชสีมา

วัดพระนารายณ์มหาราช มีประตูเข้าวัดได้ 4 ทาง คือ ด้านติดถนนอัษฎางค์ ถนนจอมพล ถนนประจักษ์ และทางด้านถนนจอมพล ติดกับตลาดอันเป็นทางเข้าศาลพระนารายณ์

ภายในวัดพระนารายณ์มหาราชมีพระอุโบสถอยู่กลางสระน้ำ ส่วนตรงข้ามเป็นพระวิหาร ด้านขวามือของวิหารเป็นศาลา ด้านซ้ายมือของวิหาร เป็นโรงเรียนปริยัติธรรม ซึ่งจะมีการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กนัก เรียนในวันอาทิตย์เป็นประจำ บริเวณใจกลางวัด มีต้นโพธิ์ใหญ่ล้อมรอบด้วยลานสนามหญ้า ด้านหลังพระวิหารเป็นเขตสังฆาวาสซึ่งมีต้นไม้เรียงอยู่เป็นทิวแถว

ภายในบริเวณวัดพระนารายณ์มหาราช มีศาลพระนารายณ์มหาราชเป็นที่ตั้งเทวรูปพระนารายณ์สี่กร อยู่ในท่ายืน สูง 17 นิ้ว สร้างด้วยหินทรายฝีมือขอม เป็นเทวรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดนครราชสีมามาช้านาน

สภาพศาลพระนารายณ์มหาราช มีลักษณะเป็นศาลกว้าง ภายในเต็มไปด้วยดอกไม้ของบูชามากมาย และมีควันธูปเทียนลอยอบอวลไปทั่วบริเวณ เนื่องจากอยู่ติดกับตลาด ทำให้บรรยากาศเป็นด้วยความคึกคักจอแจเป็นพิเศษ รอบบริเวณวัดพระนารายณ์มหาราชเป็นตึกแถวอาคารพาณิชย์และตลาด แล้วยังอยู่ย่านใจกลางเมือง ทำให้เกิดเสียงรบกวนเข้ามาในวัดเป็นประจำ

นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดพระนารายณ์มหาราช ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองนามว่า “พระทศพลญาณประทานบารมี” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “หลวงพ่อใหญ่”

พระทศพลญาณประทานบารมี หรือ “หลวงพ่อใหญ่” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พุทธลักษณะคล้ายพระพุทธชินราช ประดิษฐานบนฐานชุกชีในพระวิหารด้านตะวันตก ชุกชีสูง 3.14 เมตร มีขนาดหน้าตักกว้าง 4 เมตร สูงถึงยอดพระรัศมี 5.3 เมตร สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อครั้งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองนครราชสีมา มีความเก่าแก่ยาวนานกว่า 300 ปี ถือเป็นพระประธานองค์แรกของจังหวัด ที่มีความสวยงามและใหญ่มากแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

พระครูสมุห์นาคน้อย พระผู้ดูแลพระวิหารที่ประดิษฐานหลวงพ่อใหญ่ กล่าวว่า “หลวงพ่อใหญ่เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ที่มีชาวโคราชและใกล้เคียงให้ความเลื่อมใสศรัทธา สักการบูชาและอธิษฐานขอพรตามความมุ่งหวังต่างๆ ที่ปรารถนา การเข้าไปสักการะขอพรไม่ต้องมีพิธีรีตองสำคัญ เพียงแค่ดอกไม้ธูปเทียนเท่านั้น” อย่างไรก็ตาม การเข้าไปสักการะหลวงพ่อใหญ่ ไม่สามารถเปิดได้ทุกวัน จะเปิดให้เข้าสักการะเฉพาะในช่วงวันสำคัญหรือวันพระ เพื่อความสะดวกของคณะสงฆ์ในวัดในการดูแลรักษาความเรียบร้อย

ขอขอบคุณ www.dhammajak.net

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .