วัดพระธาตุดอยน้อย จ.ลำปาง

prajd29m1

ในวันอังคารขึ้น 15 ค่ำของทุกเดือนชาวบ้านสันทราย(บ้านทรายคำเดิม) ได้เห็นรัศมีแสงสว่างปรากฏขึ้นที่วัดดอยน้อย ตำบลเวียงตาล อำเภอห้างฉัตร ชาวบ้านเห็นเป็นปาฏิหารย์จึงตกลงกันมานิมนต์พระอาโนจัย วัดปงสนุก ขึ้นไปพักที่วัดดอยน้อย เพื่อเตรียมตัวประกาศเชิญชวนแก่ชาวบ้านใกล้เคียง และหมู่บ้านใกล้เคียง จัดหาเครื่องไทยทาน พร้อมทั้งตุงเหล็ก ตุงทอง ตุงเงิน ตุงทราย
ต่อมาในวันพุธ เดือน 8 ขึ้น 8 ค่ำ จุลศักราช 1257 (พ.ศ. 2439) ตรงกับปีมะแม จึงได้เชิญเจ้าแข่ว และเจ้านายที่อยู่ใกล้เคียงให้มาร่วมงาน จากนั้นได้จัดเตรียมเครื่องไทยทาน และตุงทั้ง 4 ถวายแด่ท้าวทั้ง 4 ทิศ (ท้าวจตุโลกบาล) รวมทั้งมหาพรหม ครูบาอาจารย์ และร่วมกันอาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ของให้ดลบันดาลให้พวกข้าพเจ้ารู้ที่อยู่แห่งองค์พระธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากที่ได้อาราธนาเสร็จแล้ว พระอาโนจัยและพระภิกษุทั้งหลายที่ไปร่วมกับเจ้าแข่ว และคุณนายทั้งหลายรวมทั้งชาวบ้านหญิงชายได้ลงมือขุดค้น รื้อถอนรากไม้และเศษอิฐ แล้วนำมาคัดแยกเป็นแต่ละชนิด แล้วนำมารวมกันจดลงทะเบียนแยกเป็นประเภทอิฐ หิน และขุดค้นเรื่อยมาจนถึงวันพุธ แรม 7 ค่ำ เดือน 8 ชาวบ้านบ้านแม่ปุ้ม ได้ขุดพบขุมยนต์ซึ่งก่อไว้ด้วยคอนกรีตจึงงัดแงะแล้วทุบจนแตกจึงเห็นเป็นเรืออยู่ภายใน ภายในเรือประดิษฐานด้วยเจดีย์ทองคำ(พระธาตุเจ้าองค์คำ)ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ มี 6 สี เช่น ขาว เหลือง แสด แดง ชมพู และส้ม ลักษณะเท่าเมล็ดข้าวเปลือกบ้าง เมล็ดข้าวสารหักครึ่งบ้าง เท่าเมล็ดงาหรือเมล็ดผักกาดก็มี นับรวมกันได้ 322,200 เมล็ด (ดวง) จึงได้นำมารวมกันและนำไปเก็บไว้ที่วัดดอยน้อย
ต่อมาในวันรุ่งขึ้น(วันพฤหัสบดี เดือน 8 แรม 8 ค่ำ) พระภิกษุและชาวบ้านได้ร่วมมือสร้างหอประถาเสร็จแล้วจึงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานไว้ในหอประถาที่สร้างนั้น จึงจัดพิธีสรงน้ำพระธาตุโดยเริ่มตั้งแต่ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8 (ภาคเหนือเรียกว่าออก 8 ค่ำ เดือน 8) จนถึงวันพุธ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 9 ปีฉลู (ภาคเหนือเรียกว่า เดือน 9 ออก 13 ค่ำ วันพุธ ปีเป้า)

จากนั้นขึ้น 13 ถึง 15 ค่ำ เดือน 9 จึงนำพระบรมสารีริกธาตุเข้ามาในเวียงละกอน เพื่อให้พระองค์เจ้าหลวงนรธนันชัยสุขวดี ได้สักการะบูชาสรงน้ำ และได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุไว้บางส่วนที่วัดปงสนุก (ดอยปงสนุกเดิม) ในขณะสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ พระเมืองแก้ว(เจ้าบุญเลิศ) ได้ถวายผอบทองคำ(ภาคเหนือเรียกว่า ผอูปคำ) เพื่อใส่พระบรมสารีริกธาตุที่แบ่งไว้ (ตามบันทึกหลักฐานบรรยายว่าได้เกิดปาฏิหารย์มีลม ฝน ฟ้าร้อง ฟ้าแลบ ท้องฟ้ามือมิด แสดงเป็นสักขีในการถวายทานดังกล่าว) ในวันรุ่งขึ้น (วันศุกร์ เดือน 9 แรม 1 ค่ำ) พระอาโนจัย วัดปงสนุกได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุกลับมายังวัดดอยน้อย ในระหว่างทางเมื่อมาถึงหนองกระทิง ท้าวเมืองมิ่ง และคณะพระภิกษุประกอบด้วยเจ้าอาวาสวัดน้ำโท้ง เจ้าอาวาสวัดท่าขวา เจ้าอาวาสวัดหนองร่อง เจ้าอาวาสวัดหนองกระทิง ได้จัดทำเครื่องตกแต่ง เครื่องอัฐบริขาร เพื่อนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ประกอบด้วย เครื่องอัฐบริขาร เช่น ตุง ช่อ ฉัตรขาว และช้างขี้ผึ้ง ประดับด้วยเงิน(ในบันทึกกล่าวว่าท้าวมิ่งเมืองเมื่อนมัสการแล้วได้ถวายแก้วซึ่งมีรัศมีหลายสิ่ง 14 ลูก) เมื่อท้าวเมืองมิ่งและคณะพระภิกษุดังกล่าวทำการสักการบูชาพระบรมสารีริกธาตุเสร็จ พระอาโนจัย วัดปงสนุกได้อัญเชิญพระธาตุข้ามแม่น้ำตุ๋ย มาจนถึงบ้านหนองหล่ม หนองหมู เจ้านายขุนตาน และชาวบ้านห้างฉัตร และชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง ได้ร่วมกันนมัสการและสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ จากนั้นจึงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุเข้าสู่วัดสันทราย ต่อมาครูบาอินทรจักร ครูบาญาณะ เจ้าอาวาสวัดสันทราย พร้อมด้วยศรัทธาทั้งหลายได้ตกแต่งเครื่องไทยทานไปน้อมถวายพระบรมสารีริกธาตุ และอาราธนาพระบรมสารีริกธาตุ มาประดิษฐานที่วัดดอยน้อย (ตามบันทึกกล่าวว่าขออาราธนาพระบรมสารีริกธาตุขึ้นสู่กีรีอันที่เป็นพระพุทธบาทสัณฐานในมาตสีมาที่นั้น) และเริ่มก่อสร้างพระธาตุดอยน้อยขึ้นใหม่สำเร็จลุล่วงในวันอังคาร แรม 1 ค่ำ เดือน 4 ปียี่ จุลศักราช 1288 (พ.ศ. 2470)

ในการวางศิลากฤษ์พระธาตุดอยน้อยตามบันทึก และแปลเป็นภาษาไทยดังนี้ ได้ยกเอาพระธาตุเจ้าปักตะศีล 3 รอบแล้ว พระอาโนจัยได้แบ่งพระภิกษุเป็น 4 เหล่าให้ตั้งอยู่ทั้ง 4 ด้านได้สวดปริตะมังการะทั้ง 5 (สวดขันธปริตัง) และสวดมหาสมัย และสวดปัจจุทามังการะ 3 จบ และสวดแก้วยอดแสงเดือน และได้สมมุติท้าวทั้ง 5 ตนมีพระยาแข่ว พระมหาวงศ์ เป็นพระอินทร์ พระยานนวัง เป็นอาจารย์ พระยาจะตารถะ อยู่ทิศตะวันออก เจ้านายขุนตาน เป็นพระยาวิรุณรทา อยู่หนใต้ อาจารย์คนหนึ่งเป็นพระยาวิรูปะขา อยู่ทิศตะวันตก อาจารย์คนหนึ่งให้เป็นพระยากุเวรยักขราชาอยู่ทิศเหนือ จากนั้นนำพระบรมสารีริกธาตุยกใส่มือท้าวทั้ง 5 ตนและให้เค้ายืนอยู่รับรองเอาพระธาตุเจ้าลงวางท้อง เปกะสะเการะหว่างก้อนเส้าแก้ว 3 ก้อน ก่อด้วยดินและอิฐปิดฝามิดชิด และเผาคอนกรีตให้ยึดมั่น และให้ท้าวปามากุตั๋ง คือท่านยอดก้อนเส้าแก้ว 3 ก้อน และก้อนที่ 1 ได้แก่พระเจ้ากะกุสันธะ พระพุทธเจ้าองค์ที่ ) ก้อนที่ 2 ได้แก่พระเจ้าโกนาคามะนะ (พระพุทธเจ้าองค์ที่ 2) ก้อนที่ 3 ได้แก่พระเจ้ากะสะปะ (พระพุทธเจ้าองค์ที่ 3) ให้แก่ด้วยปูนอิฐตั้งยอดก้อน 1 ถึง 2 ขื่อ ตะติยะกะตัง และก่อขึ้นยังธรณี และตั้งร้านช้างขึ้น 3 ชั้น ใช้ผ้าสำลีทับ 3 ชั้น และตั้งแท่นแก้วปูหนังจำมะขัน และตั้งรังสีแล้วใส่ไตรพระเจ้ากะกุสันธะ ตั้งรังสี พระเจ้าโกนาคามะนะ ตั้งรังสีพระเจ้ากะสะปะ แล้ะวใส่กาบบัวตั้งธรรมกะระเน คือพระภิธรรมา 7 รูป คือว่าบาลมูลกันตัง คือไม้เท้า และก่อสร้างพระธาตุเจ้าขึ้นใหม่ ( ตำนานวัดดอยน้อย)

สิ่งที่น่าสนใจศึกษาและเรียนรู้
– พระธาตุดอยน้อย และโบราณสถาน โบราณวัตถุภายในบริเวณวัด
– สักการะพระธาตุดอยน้อยซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน บ้านสันทราย ตำบลเวียงตาล อำเภอห้างฉัตร

– ประเพณีสรงน้ำพระธาตุดอยน้อย เดือน 9 แรม 8 ค่ำ (เดือนกรกฎาคม) ของทุกปี

สถานที่ตั้ง บ้านสันทราย หมู่ 1 ตำบลเวียงตาล อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง
ผู้ติดต่อประสานงาน หลวงพ่อสุเชษฐสิริสาโร โทร. 0 – 5433 – 9353, 05 –0348752

ขอขอบคุณ http://www.m-culture.in.th/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .