อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร

300px-Kamphaeng_Phet04

อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ไม่ไกลจากจังหวัดสุโขทัยเท่าใดนัก ลักษณะของศิลปะและสถาปัตยกรรมในอุทยานแห่งนี้เป็นศิลปะแบบเดียวกับที่ปรากฏในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มีโบราณสถานที่สวยงามและขนาดใหญ่มากมาย หลายแห่งในอดีตเมืองกำแพงเพชรถือเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของอาณาจักรสุโขทัย

สระมน
สระมน หรือบริเวณวังโบราณ ด้านเหนือวัดพระแก้วมีกำแพงดินสี่เหลี่ยมอยู่เกือบติดกำแพงเมืองด้านเหนือ ภายในกำแพงมีคูล้อม 3 ด้าน ตรงกลางขุดสระมน เป็นที่เข้าใจว่าบริเวณสระมนนี้เป็นวัง ส่วนปราสาทราชฐานไม่มีเหลืออยู่เลย เมื่อขุดลอกสระแล้วตกแต่งบริเวณ พบฐานศิลาแลงบางตอนและได้พบกระเบื้องมุงหลังคาตกหล่นอยู่ทั่วไป

พิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชรเฉลิมพระเกียรติ
พิพิธภัณฑสถานจังกำแพงเพชรเฉลิมพระเกียรติ เป็นสถานที่แสดงผลงานของศูนย์บริรักษ์ไทยและศูนย์จริยศึกษา จำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นเมืองของจังหวัด ผลิตภัณฑ์ชาวเขาและกลุ่มแม่บ้าน ภายในตัวอาคารจัดเป็นห้องโสตทัศนูปกรณ์ที่ทันสมัยประกอบด้วยระบบภาพแสงและเสียง ในระบบมัลติมีเดีย การแสดงนิทรรศการด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร ตั้งอยู่ที่ถนนปิ่นดำริห์ อำเภอเมืองกำแพงเพชร เป็นที่แสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุสมัยต่าง ๆ ที่ขุดค้นพบในเมืองกำแพงเพชร และที่มีผู้มอบให้เพื่อเป็นสมบัติของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โบราณวัตถุส่วนมากเป็นลวดลายปูนปั้นและลวดลายดินเผา เศียรพระพุทธรูป เครื่องสังคโลก ปูนปั้นรูปยักษ์เทวดา และมนุษย์ซึ่งใช้ประดับฐานเจดีย์ หรือติดตั้งวิหาร ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ในเวลาราชการทุกวัน เว้นวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 นาฬิกา ค่าเข้าชมชาวไทยเก็บ 10 บาท ชาวต่างประเทศมากกว่าชาวไทย 20 บาท คือ 30 บาท

ศาลพระอิศวร
ตั้งอยู่ด้านหลังศาลจังหวัด เป็นฐานก่อด้วยศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมยกพื้นสูง 1.5 เมตร มีบันไดขึ้นด้านหน้า บนฐานชุกชีอยู่เป็นที่ตั้งของเทวรูปพระอิศวรสัมฤทธิ์ ซึ่งจำลองขึ้นในสมัยที่นายเชาวน์วัศ สุดลาภาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เทวรูปพระอิศวรองค์จริงปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร รูปพระอิศวรนี้ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวเยอรมันมาเที่ยวเมืองกำแพงเพชร ได้ลักลอบตัดเศียรและพระหัตถ์ส่งลงเรือมากรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2429 เจ้าเมืองกำแพงเพชรได้บอกเข้ามายังกรุงเทพมหานคร จึงโปรดฯ ให้ขอพระเศียรและพระหัตถ์คืน และได้ทรงสร้างพระอิศวรจำลองประทานให้ ซึ่งปัจจุบันตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์กรุงเบอร์ลิน

วัดพระแก้ว
วัดพระแก้วตั้งอยู่กลางเมืองกำแพงเพชร เป็นวัดที่สำคัญอยู่ติดกับบริเวณวังเช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือวัดมหาธาตุกลางเมืองสุโขทัย กำแพงวัดเป็นศิลาแลงกลมทั้งท่อนสูงประมาณเมตรเศษแผนผังของวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนานไปกับกำแพงเพชร กำแพงวัดขาดเป็นตอน ๆ สิ่งก่อสร้างภายในใช้ศิลาแลงเป็นส่วนใหญ่ ตรงกลางของวัดมีพระเจดีย์กลมแบบลังกาองค์ใหญ่เป็นประธาน ฐานสี่เหลี่ยม ที่ฐานทำเป็นซุ้มคูหาโดยรอบมีสิงห์ยืนอยู่ในคูหาแต่ชำรุดหมด วัดพระแก้วนี้หลังจากขุดแต่งแล้วปรากฏว่า พบฐานเจดีย์แบบต่างๆ กัน รวม 35 ฐาน วิหารใหญ่และเล็ก 8 วิหาร ฐานโบสถ์ 3 แห่ง ซึ่งแสดงว่าเป็นวัดใหญ่ และสำคัญมากมาก่อน ปัจจุบันงานนบพระเล่นเพลง และงานวันสารทไทยกล้วยไข่เมืองกำแพงเพชร ก็จัดให้มีขึ้นในบริเวณวัดพระแก้วแห่งนี้

วัดพระธาตุ
อยู่ที่ตำบลนครชุมเป็นวัดใหญ่รองจากวัดพระแก้วที่อยู่ในกำแพงเมืองกำแพงเพชรรูปทรงเป็นแบบพม่า เรียงจากวัดพระแก้วไปทางทิศตะวันออก มีเจดีย์ประธานก่อด้วยศิลาแลงปนอิฐฐานสี่เหลี่ยมกว้าง 15 เมตร วัดนี้ภายหลังจากการขุดแต่งและบูรณะเจดีย์ใหญ่ เจดีย์รวมด้านใต้แล้ว ปรากฏว่ามีลักษณะคล้ายแผนผังของวัดสระศรี ที่เมืองสุโขทัยเก่า แต่ลักษณะเจดีย์เป็นแบบกำแพงเพชร

วัดพระสี่อิริยาบถ

วัดพระสี่อิริยาบส
ต่อจากวัดพระนอนไปทางทิศเหนือในแนวกำแพงวัด ติดต่อกันถึงวัดพระสี่อิริยาบถ หรือที่เรียกกันเป็นสามัญว่าวัดพระยืน วัดนี้มีบ่อน้ำและที่อาบน้ำอยู่หน้าวัดเช่นเดียวกับวัดพระนอน กำแพงวัด เป็นศิลาแลงปักตั้งล้อม 4 ด้าน มีทางเข้าปูด้วยศิลาแลง มีศาลาโถงปลูกคร่อมทางเดินเป็นศาลากว้าง 6 เมตร ยาว 11 เมตร เป็นเสา 4 แถว 5 ห้อง ต่อจากศาลาหน้าวัดมีประตูเข้าไปในบริเวณวัดแล้วถึงฐานศิลาแลงใหญ่ ยกฐานสูงประมาณ 2 เมตร มีเสาลูกกรงเป็นศิลาแลงเหลี่ยมและมีทับหลังลูกกรงเตี้ย ๆ สูงประมาณ 60 เซนติเมตร อยู่โดยรอบ ฐานนี้มีบันไดขึ้นด้านหน้า 2 บันได ด้านข้าง 2 บันไดและด้านหลังอีก 2 บันได บนฐานวิหารกว้าง 17 เมตร ยาว 29 เมตร ย่อมุขเด็จทั้งหน้าและหลัง เสาวิหารที่อยู่บนฐานเป็นเสา 4 แถว 5 ห้อง 2 แถว หน้าและหลัง 2 ห้อง รวม 7 ห้อง ที่ฐานชุกชี มีรอยตั้งพระพุทธรูปนั่งด้านหลังวิหารมีบันไดลงติดต่อกับมณฑปพระอิริยาบถ โดยรอบมณฑปกำแพงแก้วเตี้ย ๆ เหลือแต่ฐาน มีประตูเข้าด้านข้าง 2 ข้าง และด้านหลังมณฑปกว้าง 29 เมตร เป็นมณฑปสี่หน้า ด้านหน้ามีพระพุทธรูปปางลีลา ด้านข้างเหนือมีพระพุทธรูปนั่ง พระพุทธรูปปูนปั้นทั้ง 3 ด้าน ที่กล่าวมาแล้วชำรุดเหลือซากพอเป็นรอยให้ดูรู้ว่าเป็นพระพุทธรูปเท่านั้น แต่ก็เป็นหลักฐานที่แสดงให้รู้ว่า เป็นพระพุทธศิลปแบบสุโขทัยสกุลช่างกำแพงเพชร ซึ่งหาดูได้ยาก

วัดช้างล้อม
เป็นวัดใหญ่ตั้งอยู่บนเนินสูง มีพระเจดีย์ใหญ่ตั้งอยู่กลางลาน ฐานเจดีย์กว้าง 31 เมตร รูปสี่เหลี่ยมที่ฐานเป็นรูปช้างครึ่งตัวเห็นแต่ 2 ขาหน้า หันศีรษะออกจากฐานรายรอบเจดีย์ เป็นช้างทรงเครื่องจำนวน 68 เชือก ระหว่างช้างมีลายปูนปั้นเป็นรูปใบโพธิ์ กับมีรอยตั้งรูปยักษ์และนางรำติดอยู่แต่ชำรุดหัก เห็นไม่สมบูรณ์ ทางขึ้นไปบนฐานทักษิณมีบันไดสี่ด้าน ตรงเชิงบันไดมีรูปสิงห์หักอยู่ที่ฐาน ฐานเจดีย์จากพื้นดินถึงลานทักษิณชั้นบนสูงประมาณ 7 เมตร กลางลานมีเจดีย์ฐานเขียงแปดเหลี่ยมฐานกว้างประมาณ 20 เมตร ลักษณะเป็นเจดีย์แบบลังกายอดหัก ด้านหน้าฐานเจดีย์เป็นวิหารใหญ่ กว้าง 17 เมตร ยาว 34 เมตร ฐานสูงประมาณ 1.5 เมตร วิหารเป็นเสา 4 แถว 7 ห้อง มีมุขเด็จข้างหน้าหนึ่งห้อง ต่อจากวิหารใหญ่เป็นสระน้ำซึ่งขุดลงไปในพื้นศิลาแลง กว้าง 23 เมตร สี่เหลี่ยมลึก ประมาณ 8 เมตร มีน้ำขังอยู่บางฤดูจากการขุดแต่งที่ฐานเจดีย์วัดช้างรอบนี้ได้พบบรรดาลวดลายต่าง ๆ เป็นดินเผารูปนางรำ รูปยักษ์ รูปหงส์ รูปหน้าเทวดา และหน้ามนุษย์ ซึ่งตามลักษณะโบราณวัตถุเป็นศิลปอาณาจักรอยุธยาตอนต้น หรือสุโขทัยตอนปลายทำให้ทราบลักษณะเครื่องแต่งตัว การฟ้อนรำและลักษณะอื่น ๆ ของคนสมัยสุโขทัยตอนปลาย ซึ่งเป็นประโยชน์ในการศึกษาศิลปะและโบราณคดี บรรดาโบราณวัตถุที่พบนี้ บางชิ้นเก็บรวบรวมตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร

เป็นมรดกโลก
ในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2534 องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้อุทยานแห่งนี้เป็นแหล่งมรดกโลกร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและศรีสัชนาลัยภายใต้ชื่อว่า เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร (Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns)

ขอขอบคุณhttp://th.wikipedia.org

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .