เที่ยววัดพระสี่อิริยาบถ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร

e0b894e0b8b2e0b8a7e0b899e0b98ce0b982e0b8abe0b8a5e0b894-11

วัดพระสี่อิริยาบถเป็นวัดขนาดใหญ่วัดหนึ่งตั้งอยู่ในบริเวณอรัญญิก แผนผังของวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่ภายในบริเวณวัดก่อด้วยศิลาแลง มีอิฐปนอยู่บ้างเล็กน้อย รอบ ๆ บริเวณวัดมีคูน้ำซึ่งเกิดจากการขุดตัดศิลาแลงไปใช้ในการก่อสร้าง ภายในวัดแบ่งพื้นที่ออกเป็นเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส สิ่งก่อสร้างที่สำคัญของวัดนี้นั้นอยู่ในเขตพุทธาวาสคือ วิหาร เจดีย์รายประจำมุมและมณฑป ซึ่งการวางโครงสร้างของวัดก็ยังคงมีผังที่เรียบง่ายซึ่งเป็นผังวัดที่พบได้ในศิลปะสุโขทัย

วิหารของวัดนี้ตั้งอยู่ด้านหน้าของมณฑป หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ก่อด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่บนฐานทักษิณขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นฐานที่ประดับด้วยบัวลูกแก้วอกไก่และมีการย่อมุม ผนังด้านข้างฐานทักษิณทำเป็นลูกกรงเตี้ย ๆ เลียนแบบเครื่องไม้ บนลานประทักษิณมีวิหารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งมีขนาด 7 ห้อง ภายในมีแท่นอาสนะสงฆ์และฐานชุกชี ซึ่งมีร่องรอยพระพุทธรูปประธานปูนปั้นประทับนั่ง

เจดีย์รายประจำมุมตั้งอยู่ประจำมุมกำแพงแก้ว สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นพร้อมกับมณฑปและวิหาร เพราะอยู่ในตำแหน่งที่สมมาตรกัน เจดีย์ราย 2 องค์หน้าเป็นเจดีย์ทรงปราสาท ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากสายวิวัฒนาการจากศิลปะพุกาม กล่าวคือส่วนเรือนธาตุมีคูหาประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วนยอดเป็นเจดีย์ทรงระฆัง นอกจากนี้ยังมีลักษณะสำคัญคือ มีบัวปากระฆังเป็นบัวคว่ำบัวหงาย มีลายกลีบบัวขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลของศิลปะปาละ ส่วนเจดีย์ 2 องค์หลังเป็นเจดีย์แปดเหลี่ยม

และสิ่งก่อสร้างที่คงสภาพสมบูรณ์ที่สุดของวัดคือ มณฑป ตั้งอยู่ด้านหลังของวิหาร ซึ่งถือว่ามณฑปนี้เป็นประธานของวัดแทนเจดีย์ มีีกำแพงแก้วล้อมรอบ ซึ่งกำแพงแก้วนี้จะเชื่อมกับฐานทักษิณของวิหาร ตัวมณฑปมีผังแบบจตุรมุข ตรงกลางทำเป็นแท่งทึบก่อด้วยศิลาแลงและอิฐ สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นอาคารที่มีหลังคาคลุม ซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากสถาปัตยกรรมในศิลปะพุกาม กล่าวคือช่างชาวสุโขทัยอาจปรับปรุงแกนสี่เหลี่ยมนี้มาจากโครงสร้างสี่เหลี่ยมกลางห้องคูหาในศิลปะพุกาม ซึ่งก่อไว้รองรับน้ำหนักส่วนบน อีกทั้งด้านทั้ง 4 ของเสาประดิษฐานพระพุทธรูปยืนอีกด้วย มณฑปที่วัดพระสี่อิริยาบถนี้ผนังทั้ง 4 ด้านก็จะประดิษฐานพระพุทธรูปเช่นกันแต่จะมีปางต่าง ๆ กันในแต่ละด้าน คือ ด้านตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปลีลา, ด้านตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืน, ด้านทิศเหนือประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์และด้านทิศใต้ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่ง ซึ่งการสร้างพระพุทธรูปในอิริยาบถทั้ง 4 นี้ไว้รวมกลุ่มกันถือเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์สำคัญของศิลปะสุโขทัยและกลายมาเป็นประเด็นสำคัญให้นักวิชาการและผู้สนใจหลายท่านคิดที่จะตีความหมายในเรื่องของที่มาและแนวคิดในการสร้างพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ในลักษณะเช่นนี้

ถ้าหากพิจารณากันโดยทั่ว ๆ ไปแล้ว อาจจะมองได้ว่าการสร้างพระพุทธรูปในอิริยาบถต่าง ๆ นี้อาจสร้างขึ้นมาตามเรื่องราวในพุทธประวัติบางตอน ซึ่งปรากฏมาก่อนแล้วในศิลปะอินเดีย แต่ก็มีนักวิชาการหลายท่านที่ได้ตั้งข้อสันนิษฐานไว้ว่า การรวมกลุ่มของพระพุทธรูป 4 องค์อาจจะแสดงความหมายอื่นบางประการ ซึ่งในที่นี้จะขอยกข้อสันนิษฐานสำคัญไว้ 2 ประการดังต่อไปนี้

การสร้างพระพุทธรูป 4 อิริยาบถรวมเข้าไว้ด้วยกันในบริเวณนอกเมือง อาจจะเอาไว้ใช้เป็นที่พำนักของพระภิกษุฝ่ายอรัญวาสี ที่มุ่งในการเจริญวิปัสสนากรรมฐานเป็นหลัก ซึ่งถ้านำมาประกอบกับ

– เนื้อความในมหาสติปัฏฐานสูตรตอนที่ว่าด้วยกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน อันมีจุดมุ่งหมายในการเน้นอิริยาบถทั้ง 4 อย่าง จะเห็นได้ว่ามีความสัมพันธ์กันตรงที่การกำหนดอิริยาบถทั้ง 4 เป็นแนวทางในการเจริญวิปัสสนากรรมฐานเพื่อบรรลุถึงมรรผลนิพาน นอกจากนี้ยังพบจารึกนครชุมที่จะเป็นหลักฐานได้ว่าชาวสุโขทัยนั้นรู้จักคำว่า “ปัฏฐาน” ซึ่งหมายถึง สติปัฏฐานแล้ว สรุปก็คือ การสร้างพระพุทธรูปกลุ่มนี้อาจจะใช้เป็นเครื่องชี้นำถึงอิริยาบถทั้ง 4 ประการของบุคคลที่จะเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ทั้งพระฝ่ายอรัณวาสีและฆราวาสซึ่งเจริญวิปัสสนากรรมฐานได้ตระหนักถึงความสำคัญของการกำหนดอิริยาบถทั้ง 4 ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญขั้นตอนหนึ่งในการทำนิพพานให้แจ้ง

– หรือการสร้างพระพุทธรูป 4 อิริยาบถรวมเข้าไว้ด้วยกันอาจจะเป็นการกล่าวถึงกิจวัตรและการพักผ่อนของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระไตรปิฎกกล่าวอยู่ในอรรถกถาแห่งกสิสูตรว่า ใน 24 ชั่วโมงพระพุทธองค์ได้แบ่งภารกิจที่ทรงปฏิบัติออกเป็น 5 ช่วงเวลา ซึ่งนอกจากจะบรรยายถึงพุทธกิจในรอบ 1 วันแลัวยังได้กล่าวถึง การพักผ่อนของพุทธองค์ในอิริยาบถต่าง ๆ คือ การนั่งในตอนเช้า, การยืนในตอนหลังเพล, การนอนในตอนบ่ายกับก่อนรุ่งแจ้งและการเดินในเวลาหลังเที่ยงคืน ซึ่งช่างชาวสุโขทัยอาจจะได้รับแนวคิดเช่นนี้มาทำให้ตระหนักได้ว่าพระพุทธองค์ก็ทรงเป็นมนุษย์ จึงต้องมีการพักผ่อนในที่พำนักคือ พระอาราม จึงได้สร้างอาคารแคบ ๆ คลุมพอดีองค์พระพุทธรูปในอิริยาบถทั้ง 4 แนวคิดหนึ่งนั้นเชื่อว่า น่าจะมีความคิดมาจากการทำวิปัสสนากรรมฐานของพระภิกษุฝ่ายอรัญวาสีเพื่อไปสู่นิพพาน ส่วนอีกแนวคิดหนึ่งนั้นเชื่อว่า เป็นการสร้างพระพุทธรูปซึ่งแทนตัวพระพุทธองค์ในอิริยาบถที่ทรงพักผ่อนในพระอาราม เหตุผลของข้อสันนิษฐานทั้ง 2 นั้นมีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีแนวคิดอื่น ๆ ที่น่าสนใจ จึงทำให้ยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่ชัดเจนได้ว่า การสร้างพระพุทธรูปในอิริยาบถทั้ง 4 รวมกลุ่มกันเช่นนี้มีความหมายที่แท้จริงเป็นเช่นไร

การกำหนดอายุโบราณสถานแห่งนี้นั้น อาจจะสามารถกำหนดอายุได้จากพระพุทธรูปลีลาซึ่งประดิษฐานอยู่ทางด้านทิศตะวันออก เป็นพระพุทธรูปที่มีท่าลีลาแบบศิลปะสุโขทัยอย่างแท้จริงคือ มีการเขย่งเท้าขึ้นข้างหนึ่งเหมือนกำลังอยู่ในอาการก้าวเดิน ถ้ากำหนดว่าพระพุทธรูปลีลานี้เกิดขึ้นและนิยมสร้างในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นไปแล้ว โบราณสถานแห่งนี้ก็น่าจะสร้างขึ้นมาในช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 19 เช่นกันหรืออาจหลังกว่านี้

เมืองกำแพงเพชรนี้ถือเป็นเมืองที่เป็นศูนย์กลางของการผสมผสานทั้งศิลปะสุโขทัย ศิลปะล้านนาและศิลปะอยุธยาเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งวัดพระสี่อิริยาบถนี้เองก็ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เราได้เห็นถึงการผสมผสานเอาศิลปะต่าง ๆ เหล่านั้นเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว และการสร้างพระสี่อิริยาบถอันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของศิลปะสุโขทัยนี้ นอกจากที่วัดแห่งนี้แล้วยังพบได้อีก 2 แห่งคือ วัดพระพายหลวงและวันพระเชตุพนในจังหวัดสุโขทัยอีกด้วย

ขอขอบคุณhttp://www.tinyzone.tv/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .