หลวงพ่อบ้านแหลม พระคู่บ้านคู่เมืองสมุทรสงคราม

baanlam3

หลวงพ่อบ้านแหลมเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ เสมือนหนึ่งเป็นแก้วมณีอันมีค่าคู่เมืองสมุทรสงคราม ชาวสมุทรสงครามเคารพสักการะพระพุทธรูปองค์นี้กันมาหลายชั่วคน หลวงพ่อบ้านแหลม จึงเป็นเสมือนเจ้าพ่อหลักเมือง หรือเทวดาประจำเมืองสมุทรสงครามก็ว่าได้ และถ้าจะว่าไปแล้ว หลวงพ่อบ้านแหลม ก็มีประวัติ ความเป็นมาคู่กับเมืองสมุทรสงครามเลยทีเดียว ใครไปเมืองสมุทรสงครามไม่ได้ไปนมัสการหลวงพ่อบ้านแหลม ก็เหมือนหนึ่งไม่ได้ไปเมืองสมุทรสงคราม ใครพูดถึงเมืองสมุทรสงคราม ไม่กล่าวถึงนามหลวงพ่อบ้านแหลม ก็เหมือนไม่รู้จักเมืองสมุทรสงคราม ข้าราชการผู้ใดย้ายไปเมืองสมุทรสงคราม ถ้าไม่ได้ไปนมัสการหลวงพ่อบ้านแหลม ก็เหมือนหนึ่งเข้าไปอาศัยวัด แต่ไม่ได้ไปนมัสการท่านสมภารเจ้าวัด ลูกสมุทรสงครามคนใดไม่เคยเห็นหน้าหลวงพ่อบ้านแหลมก็เปรียบเหมือนลูกกำพร้าเกิดมาไม่เคยเห็นหน้าพ่อ ความสำคัญของหลวงพ่อบ้านแหลม ถ้าจะเปรียบความก็คงจะเปรียบได้เช่นนี้
ตามตำนานปากเปล่า คือคำบอกเล่ากันสืบๆ มานั้นกล่าวว่าหลวงพ่อบ้านแหลมลอยน้ำมา บ้างว่าสององค์พี่น้อง คือหลวงพ่อบ้านแหลมกับหลวงพ่อเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี บ้างว่าสามองค์พี่น้อง คือหลวงพ่อโสธร จังหวัดฉะเชิงเทราด้วย บ้างว่ามีสี่พี่น้อง คือหลวงพ่อวัดไร่ขิงจังหวัดนครปฐมอีกองค์หนึ่ง บ้างก็ว่ามีห้าพี่น้อง คือ หลวงพ่อบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ด้วย แต่ก็สรุปได้ว่า หลวงพ่อบ้านแหลมลอยน้ำมา 5 องค์พี่น้ององค์แรกขึ้นประดิษฐานที่วัดโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา องค์ที่สองขึ้นสถิตที่วัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม องค์ที่สามขึ้นสถิตที่วัดบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ องค์ที่สี่ขึ้นสถิตที่วัดบ้านแหลม (วัดเพชรสมุทรวรวิหารในปัจจุบัน) จังหวัดสมุทรสงคราม องค์ที่ห้าขึ้นสถิตที่วัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี พระพุทธรูปทั้ง 5 องค์นี้ ล้วนแต่เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ มีอภินิหารเป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองนั้นๆ และมี ชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักของประชาชนจังหวัดอื่นทั่วไปด้วย

เกี่ยวกับข้อสันนิษฐานพระพุทธรูปลอยน้ำนั้น มีผู้สันนิษฐานไว้ว่า “ประวัติหลวงพ่อบ้านแหลมนั้นในชั้นต้นลอยน้ำมาจริงดังข่าวเล่าลือ แต่มิใช่ว่าท่านลอยนำมาโดยลำพัง คงมีผู้อัญเชิญมาบนเรือจากที่แห่งหนึ่ง เพื่อนำไปประดิษฐานไว้ในที่แห่งหนึ่งและต้องนำผ่านมาทางทะเล เพราะสมัยนั้นการคมนาคมทางบกไม่สะดวกและเป็นของหนัก จึงต้องนำท่านบรรทุกเรือมาทางน้ำ ในขณะที่เรือผ่านมานั้นน่าจะมีบางวัดขอนิมนต์ไว้สักการะที่วัด แต่ไม่สำเร็จเพราะผู้นำมาไม่ยอมถวาย จึงเล่าลือว่าท่านไม่ยอมขึ้นอยู่ในวัดใดทั้งสิ้น เว้นแต่วัดบ้านแหลมขณะที่นำผ่านทะเลไปนั้น เรือคงจะอับปางลง และเหลือวิสัยที่จะงมท่านขึ้นมาได้ เพราะในสมัยหลายร้อยปีมานั้น ทะเลระหว่างปากอ่าวสมุทรสงครามกับปากอ่าวเพชรบุรีจะต้องกว้างขวางกว่านี้มาก เมื่อคนผู้นำท่านมาไม่สามารถช่วยให้ท่านขึ้นจากน้ำได้ จึงต้องปล่อยให้ท่านจมอยู่ในทะเล จนถึง พ.ศ. 2310 (บางตำนานว่า พ.ศ. 2307)จึงมีผู้ไปตีอวนได้ นำท่านขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่ วัดบ้านแหลม (วัดเพชรสมุทรวรวิหารในปัจจุบัน)

พระพุทธลักษณะ
องค์หลวงพ่อบ้านแหลมนั้น เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ปางอุ้มบาตร ขนาดสูงแต่ปลายนิ้วพระบาทถึงยอดพระเกศมาลา 167 ซม. คือเท่าขนาดคนธรรมดานี่เอง ฐานพระบาทสูง 45 ซม. เป็นพระพุทธรูปสมัยกรุงศรีอยุธยา ลักษณะเด่นเป็นพิเศษ คือพระพักตร์งามเหมือนพระพักตร์เทพบุตร มีคนกล่าวว่าหลวงพ่อเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ เพราะมีพระพักตร์เป็นเทวดานี่เอง เทวดาจึงมาสิงสถิตรักษาองค์หลวงพ่ออยู่ให้เป็นพระศักดิ์สิทธิ์ พระหัตถ์เป็นคนละชิ้นกับพาหา ทำให้สามารถถอดออกได้ เป็นแบบพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย เช่น พระพุทธรูปทองคำวัดไตรมิตร ก็ถอดได้เป็นท่อนๆ เป็นต้น พระบาทไม่สวมฉลองพระบาทแบบพระพุทธรูปทรงเครื่องที่เรียกว่าพระโพธิสัตว์สมัยกรุงศรีอยุธยา พระเศียรนั้นไม่สวมเทริดชฏาแบบพระโพธิสัตว์ สมัยอยุธยา พระเกตุมาลาเป็นเปลวเพลิงแบบพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย สังฆาฏิพาดยาวลงมาถึงพระชงฆ์ แต่ไม่มีลายเป็นดอกดวงเป็นแบบพระพุทธรูปสมัยอยุธยา จีวรทำแผ่เป็นแผ่นแผงอยู่เบื้องหลัง มีแฉกมุมแบบอยุธยา ฐานรองพระบาทนั้นตอนบนทำเป็นรูปดอกบัวบานรองรับ ตอนล่างทำเป็นฐานหักมุม 12 มุม เป็นรูปฐานพระเจดีย์ ชั้นล่างสุดทำเป็นฐานเท้าสิงห์มีลวดลายสวยงามมาก ทรงเครื่องเต็มยศ กล่าวคือสวมสายสะพายพาดเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ คาดรัดประคด ปักดิ้นเงินซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานถวายเป็นพุทธบูชา บาตรแก้วสีน้ำเงิน ซึ่งสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงประทานถวายหลวงพ่อไว้ในรัชกาลที่ 5 เวลานี้ทั้งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ รัดประคตและบาตรแก้ว ทางวัดเก็บรักษาไว้ในพระอุโบสถ พระพุทธรูปหลวงพ่อบ้านแหลมนี้ ทางกรมศิลปากรได้จดทะเบียนไว้เป็นโบราณวัตถุแห่งชาติแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496

ขอขอบคุณ http://www.maeklongtoday.com/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .