วัดสมานรัตนาราม

วัดสมานรัตนาราม (ใหม่ขุนสมานเพิ่มนคร) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกง หมู่ที่ 11 ตำบลบางแก้ว (ตำบลไผ่เสวกเดิม) อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา และใกล้กับโครงการเขื่อนทดน้ำบางปะกง มีเนื้อที่ ตามหน้าโฉนดที่ตั้งวัด 26 ไร่ 3 งาน 50 ตารางวา (ที่ดินนอกวัดไม่มี) ตามคำบอกเล่าขานของผู้เฒ่าผู้แก่ในสมัยนั้นเล่าสืบกันต่อกันมาว่ามีครอบครัวหนึ่งอยู่ในฐานะมั่นคง เป็นคหบดีมีคนเคารพนับถือ คือครอบครัวท่านขุนสมานจีนประชา (เดิมชื่อจ๋าย) เมื่อท่านขุนสมานจีนประชาถึงแก่กรรมแล้ว ภรรยาทั้ง 2 ของท่านขุนสมานจีนประชา นางทิม สืบสมาน และ นางผ่อง สืบสมาน (เพิ่มนคร) พร้อมด้วย นางยี่สุ่น วิริยะพานิช (ผู้เป็นน้องสาว ต่อมาภายหลังได้สร้างพระปรางค์ขึ้นหน้าโบสถ์ ปัจจุบันยังปรากฏให้เห็นอยู่) มีความศรัทธาคิดจะสร้างวัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้สามีผู้ล่วงลับ จึงได้ดำเนินการสร้างวัด ปรากฏตามหลักฐาน เมื่อ พ.ศ.2422 (ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จทางชลมารค์ผ่านมาได้ทรงแวะเยี่ยมวัดและได้มีชาวบ้านผู้หนึ่ง ชื่อนายเหว่า โพนสุวรรณ์ นำนกกวักเผือกถวาย ณ ที่วัดแห่งนี้ด้วย)

เมื่อสร้างวัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้ตั้งชื่อวัดว่า วัดใหม่ขุนสมานเพิ่มนคร เป็นวัดราษฎ์ คณะสงฆ์ปกครองวัดสมัยนั้นเป็นฝ่ายมหานิกาย แต่ปกครองไม่นานนักผู้สร้างวัดได้ถวายพระในคณะธรรมยุต มีพระครูศิริปัญญามุนี (อ่อน เทวนิโพ) เป็นประธานสงฆ์ในการรับถวายนี้

ชาวบ้านโดยทั่วไปมักเรียกวัดนี้ว่าวัดใหม่ขุนสมานมาจนถึงทุกวันนี้ เมื่อเวลาสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จออกตรวจสังฆมณฑลทางเรือตามลำแม่น้ำบางปะกง พระองค์ได้ขึ้นทรงเยี่ยมวัด ทรงเห็นป้ายชื่อวัดว่าไม่สอดคล้องกับตำบลไผ่แสวก พระองค์จึงทรงประทานนามวัดเสียใหม่ว่า วัดไผ่แสวก เพื่อให้สอดคล้องกับตำบลดังกล่าวแล้ว ครั้นกาลเวลาล่วงเลยมานานหลายสิบปี ทางราชการได้ยุบตำบลไผ่แสวกไปรวมกับตำบลบางแก้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ มีพระเถระผู้ใหญ่พร้อมด้วยภิกษุสามเณรชาวบ้านอุบาสกอุบาสิกาต่างก็มีความเห็นพร้องกันว่าสมควรที่จะเปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่ คือให้มีชื่อคำว่าสมาน เพราะเป็นตระกูลที่สร้างวัดและคำว่าแก้ว เพื่อให้สอดคล้องกับตำบล จึงขออนุญาตทางราชการตั้งชื่อวัดเสียใหม่ว่าวัดสมานรัตนาราม มาจนทุกวันนี้

วัดแห่งนี้ในสมัยหนึ่งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวรเถร)วัดเทพศิรินทราวาสได้ทรงมาเป็นพระอุปัชฌาย์ อุปสมบทบุตรหลานชาวบ้านอยู่หลายครั้ง

วัดสมานรัตนารามมีพระพุทธรูปที่สำคัญยิ่งสององค์

องค์ที่ 1 คือพระประธานในอุโบสถปางมารวิชัย(นาม หลวงพ่อโต) อายุกว่า 120 ปี เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของตำบลและอำเภอองค์หนึ่ง เป็นที่ศรัทธาเคารพนับถือแก่ประชาชนโดยทั่วไป

องค์ที่ 2 คือ พระประธานหน้าวัดตั้งประดิษฐานอยู่ริมแม่น้ำบางปะกงหน้าวัด เป็นพระพุทธรูปปางลีลาประทานพรองค์ใหญ่ที่สุดในลุ่มน้ำบางปะกง สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลสังฆปรินายก ทรงถวายพระนามว่า พระพุทธมหากรุณาคุณประสิทธิ์ และทรงประทานพระบรมสารีริกธาตุ 9 องค์บรรจุบนเกตุพระ ในครั้งกระนั้น พระเดชพระคุณ พระญาณวโรดม (ราชทินนามในขณะนั้น) ปัจจุบันคือ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณวโรดม วัดเทพศิรินทราวาส ได้เป็นผู้ทรงประกอบพิธีอัญเชิญบรรจุพระบรมสารีกธาตุและเบิกพระเนตร และทรงเป็นประธานสมโภช เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2543

วัดสมานรัตนาราม มีเจ้าอาวาสปกครองวัดมาแล้ว 4 รูป ปัจจุบัน 1 รูป รวมเป็น 5 รูป คือ
1. พระสมุห์ทัด สุวัณโณ
2. พระสุชิต สุชิโต
3.พระครูอนันตธรรมรัต (อนันต์ อติลาโภ)
4.พระสมุห์เอี่ยม (เอี่ยมบุญเลอ)
5.พระครูสุทธาภิมุข (ผิน สุทธาภิมุโข สิทธิโกศล)

ซึ่งพระครูสุทธาภิมุข(อายุ 91 ปี) เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน นั้นท่านยังเป็นสัทธิวิหาริกในสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวรเถร)วัดเทพศิรินทราวาส (ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์บรรพชาอุปสมบทให้เมื่อ วันที่ 12 มิถุนายน 2482)

พระพิฆเณศวรปางนอนเสวยสุขวัดสมานรัตนาราม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ ทรงโปรดพระราชทานให้ พระคูรธรรมธร ไพรัตน์ ปัญญาธโร ประธานจัดสร้างพระพิฆเนศปางนอนใหญ่ที่สุดในโลกเข้าเฝ้า เพื่อทูลถวายพระพิฆเนศปางนอนเสวยสุของค์ต้นแบบ

พระพิฆเนศ ปางนอนเสวยสุข หรือ ปางเอกเขนก เนื้อปูนปั้น องค์สีชมพู มีสี่พระกร ทรงดอกบัว งาหัก อีกสองพระกรไม่ทรงศาสตราวุธ ประทับในท่าสุขสบาย

ขอขอบคุณ http://www.touronthai.com/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .