เมื่อข้าพเจ้าเป็นศิษย์หลวงพ่อวัดอัมพวัน

ข้าพเจ้ารู้จักวัดอัมพวั นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๒๖ เนื่องจากวิทยาลัยส่งมาเข้าร่วมอบรมปฏิบัติธรรมในโครงการ “สัปดาห์แห่งการปฏิบัติธรรมสำหรับข้าราชการ” ระหว่างวันที่ ๑๙-๒๕ มิถุนายน ท่านเจ้าของโครงการคือ พระเดชพระคุณหลวงพ่อพระครูภาวนาวิสุทธิ์ (สมณศักดิ์ในปัจจุบันเป็นท่านเจ้าคุณพระภาวนาวิสุทธิคุณ)

นับเป็นโอกาสอันดีที่ข้าพเจ้าได้มาเรียนรู้วิธีปฏิบัติธรรมอย่างเป็นแบบแผน มีครูอาจารย์ควบคุม ซึ่งดีกว่าอ่านจากตำราแล้วปฏิบัติเองดังที่ข้าพเจ้าเคยทำ ผู้เข้าอบรมในเวลานั้นมีเพียง ๑๓ คน ทั้งที่หลวงพ่อท่านมีหนังสือเชิญชวนไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะสมัยนั้นคนยังไม่เห็นคุณค่าของการปฏิบัติธรรม ตลอดเวลา ๗ วัน ที่พวกเราอยู่ที่วัด หลวงพ่อท่านเมตตาสอนด้วยตนเองทั้งกลางวันและกลางคืน โดยมีคุณแม่ยุพิน บำเรอจิต เป็นผู้ช่วย ข้าพเจ้าปฏิบัติได้พอสมควร ที่ไม่สามารถปฏิบัติได้อย่างเต็มที่เพราะมีความกังวลห่วงลูกชายซึ่งขณะนั้นอายุเพิ่งจะ ๔ เดือนเศษ แต่ข้าพเจ้าก็อยู่ปฏิบัติจนครบกำหนด และนั่นเป็นนิมิตอันดีสำหรับข้าพเจ้า เพราะหลังจากนั้นชีวิตก็เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะอำนาจแห่งรสพระธรรมและความเมตตาของพระเดชพระคุณหลวงพ่อนั่นเอง

ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ข้าพเจ้าก็ได้เข้าปฏิบัติธรรมที่วิทยาลัยครูเชียงใหม่ ตามคำชวนเชิญของอาจารย์ผ่องพรรณ ปัณฑรานนท์ ผู้เป็นเจ้าของโครงการ โดยมีคุณแม่ ดร.สิริ กรินชัย เป็นผู้ให้การอบรม พระเดชพระคุณหลวงพ่อก็ได้มาแสดงธรรมให้ผู้ปฏิบัติฟัง และข้าพเจ้าก็ได้ถือโอกาสกราบเรียนถามข้อสงสัยบางประการ เกี่ยวกับเรื่องลูกชายของข้าพเจ้า โดยให้เหตุผลว่าที่ต้องกราบเรียนถามเพราะเป็นเรื่องที่ไม่เหมือนคนอื่น หลวงพ่อไม่ตอบคำถาม แต่ได้พูดว่า “ จะให้เหมือนคนอื่นได้ยังไงล่ะจ๊ ะ ก็สุจิตรามีคนเดียวในประเทศไทย” ตอนนั้นข้าพเจ้ารู้สึกงวยงงสงสัย ไม่เข้าใจว่าหลวงพ่อหมายความว่าอย่างไร แต่บัดนี้ข้าพเจ้าคิดว่าเข้าใจแล้ว (แต่จะถูกหรือผิดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

ที่ว่าชีวิตของข้าพเจ้าเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือ นับตั้งแต่ข้าพเจ้าเป็นศิษย์หลวงพ่อวัดอัมพวันแล้ว หน้าที่การงานก็ดีขึ้น ๆ ตามลำดับ ข้าพเจ้าไม่เคยคิดที่จะเขียนตำรามาก่อนเลย ก็ได้เกิดความคิดที่จะเขียน และก็ได้เขียนตำราศาสนาเปรียบเทียบขึ้น (ขณะนี้พิมพ์ครั้งที่ ๓) กับ จริยศึกษา อีกเล่มหนึ่ง ส่งขอตำแหน่งทางวิชาการ ทำให้ได้กระโดดจากซี ๔ เป็นซี ๖ คือได้เป็นซี ๕ อยู่สองวัน พอได้ตำแหน่ง “ผู้ช่วยศาตราจารย์” ท่านก็ปรับให้เป็นซี ๖

นอกจากจะเข้ามาปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวันหลายหนหลายครั้งเป็นการส่วนตัวแล้ว ข้าพเจ้ายังได้จัดโครงการนำนักศึกษาวิทยาลัยครูธนบุรีมาปฏิบัติธรรมหลายรุ่น หลายครั้งและก็ได้ฟังธรรมบรรยายจากหลวงพ่ออยู่เสมอ ๆ จนบางเรื่อง (ที่เกี่ยวกับกฎแห่งกรรม) จำได้ขึ้นใจทีเดียว

ต่อมาในปี ๒๕๓๐ ข้าพเจ้าก็สอบเข้าเรียนปริญญาเอก สาขาปรัชญา ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสอบเข้าได้ที่หนึ่งของรุ่นหนึ่ง ซึ่งมีผู้สอบทั้งสิ้น ๕๐ คน แต่สอบได้เพียง ๓ คน ทั้งที่เขาต้องการับ ๕ คน ข้าพเจ้าเป็นคนเรียนไม่เก่ง แต่ที่สอบเข้าได้ที่หนึ่ง เพื่อน ๆ ลงความเห็นว่า “เพราะเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อวัดอัมพวัน” ซึ่งข้าพเจ้าก็ไม่คัดค้าน ในเทอมแรก ข้าพเจ้าเรียนได้สองสัปดาห์ก็ขอลาป่วย ผ่าตัดตาซึ่งเป็นต้อเนื้อ (เคยผ่าตัดครั้งหนึ่งแล้ว แต่ได้งอกขึ้นอีกภายในเวลาไม่กี่เดือน) ทำให้ต้องพักการเรียน พอเปิดภาคเรียนที่สองก็เข้าไปเรียน แต่รู้สึกไม่ถูกโฉลกกับเนื้อหาวิชา เพราะเขาไปเน้นแต่ปรัชญาตะวันตกที่ข้าพเจ้ามองว่าเป็นเรื่ องเพ้อฝัน ไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้ เฉพาะอย่างยิ่งพวกนักปรัชญาผู้เป็นเจ้าของลัทธิคำสอนเหล่านั้นก็เปลี่ยนแนวคิดอยู่ตลอดเวลาจนผู้เรียนตามไม่ทัน (เพราะคำสอนเหล่านั้นไม่เป็นสัจธรรมเหมือนคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งไม่เคยเปลี่ยนแปลง) ข้าพเจ้ารู้สึกเบื่อและเรียนไม่รู้เรื่อง เพราะ “ รับไม่ได้ ” ยิ่งคิดไปว่าตัวเองอาจจะต้องกลายเป็นคนบ้า ๆ บอ ๆ อย่างพวกนักปรัชญาผู้มีชื่อเสียงเหล่านั้น ก็ยิ่งไม่อยากเรียน แล้วก็เ ลยสอบตก โดยรีไทร์สมความปรารถนา (ก็เสียใจอยู่เหมือนกันตรงที่อุตส่าห์สอบเข้าไปได้) ข้าพเจ้าก็มากราบเรียนหลวงพ่อว่า “ตกเรียบร้อย และเขาไล่ออกแล้วเจ้าค่ะ” ท่านบอกไม่เป็นไรแล้วเป่าหัวเพี้ยง ๆ เป็นอันว่าสิ้นสุดสำหรับการใฝ่ฝันอยากเป็น “ดอกเตอร์”

ความที่ไปวัดฟังธรรมจากหลวงพ่อหลายครั้งหลายหน จนแทบว่านับครั้งไม่ถ้วน ทำให้ชีวิตพลิกผันไปอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นคือ ข้าพเจ้ากลายเป็น “นักเขียน” ที่มีผู้อ่านติดตามผลงานมากที่สุดผู้หนึ่ง ซึ่งจะขอเล่าอย่างย่อ ๆ คือ ข้าพเจ้าใฝ่ฝันอยากเป็นนักเขียนมาตั้งแต่เด็ก ๆ แต่ก็ได้แต่ฝัน เพราะผู้ที่จะเป็นนักเขียนได้นั้น จะต้องเป็นคนรอบคอบ ละเอี ยดลออ เป็นนักอ่านตัวยง และที่สำคัญคือต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “ พรสวรรค์ ” ซึ่งสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่มีอยู่ในตัวข้าพเจ้าเลย การใฝ่ฝันที่จะเป็นนักเขียนเป็นได้แค่ความฝันที่ข้าพเจ้ามั่นใจว่าจะไม่มีวันเป็นจริงขึ้นมาได้

ขอขอบคุณ http://www.dharma-gateway.com

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .