วัดพระธาตุลำปางหลวง นมัสการพระธาตุ อลังการความงามแห่งศิลปะล้านนา

มาถึงจังหวัดลำปางทั้งทีก็ต้องมากราบไว้วัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองกันหน่อย “วัดพระธาตุลำปางหลวง”วัด สำคัญประจำจังหวัดลำปางจัดว่าเป็นวัดที่มีการวางผังไว้อย่างสวยงามและเป็น วัดที่มีส่วนประกอบต่างๆ สมบูรณ์แบบที่สุดวัดหนึ่งของไทย โดยวัดพระธาตุลำปางหลวงสร้างขึ้นโดยจำลองตามคติไตรภูมิจักรวาล โดยมีองค์พระธาตุเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นแกนกลางของจักรวาล ส่วนวิหารทั้ง 4 แทนทวีปทั้ง 4 ทิศที่ตั้งอยู่รายล้อมเขาพระสุเมรุ และลานทรายในวัดก็แทนห้วงมหานทีศรีทันดรอันกว้างใหญ่ไพศาล


เมื่อเราเดินขึ้นบันไดนาคขึ้นไปถึงซุ้มประตูใหญ่ ที่เรียกว่า “ซุ้มประตูโขง” หรือ “มณฑป” แล้ว ผ่านกำแพงแก้วเข้าไป สิ่งแรกที่เราจะเห็นก็คือ “วิหารหลวง” เป็นวิหารโถงเครื่องไม้สักขนาดใหญ่ ภายในประดิษฐ์ฐาน “พระเจ้าล้านทอง” องค์พระประธานประจำวิหารหลวงซึ่งอยู่ภายใน “กู่ปราสาท” รอบวิหารจะมี “ไม้คอสอง” ไม้ที่อยู่ด้านบนของแต่ละช่วงเสาที่มีภาพเขียนพุทธประวัติอันเก่าแก่ ทั้ง 24 แผ่นซึ่งยังคงความสวยงามและสมบูรณ์อยู่มาก ถัดจากวิหารหลวงก็จะเป็น “องค์พระธาตุลำปางหลวง” ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำทรงกลมแบบล้านนา ภายนอกบุด้วยทองจังโก ที่บริเวณยอดฉัตรทำด้วยทองคำ ภายในองค์พระเจดีย์บรรจุพระเกศาและพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ตามความเชื่อของการไหว้พระธาตุประจำปีเกิด พระธาตุลำปางหลวงถือเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนเกิดปีฉลู ด้วยเพราะเริ่มสร้างในปีฉลูและแล้วเสร็จในปีฉลูเช่นกัน

จากประวัติศาสตร์ของนครลำปาง วัดพระธาตุลำปางหลวงมีประวัติเล่าสืบทอดกันมาว่า เมื่อปี พ.ศ. 2275 เกิดความวุ่นวายขึ้นในนครลำปาง เนื่องจากการว่างเว้นผู้ครองนคร สมัยนั้นพม่ามีอิทธิพลมากและปกครองอาณาจักรล้านนาไว้ได้ทั้งหมด โดยพม่าได้ยึดครองนครเชียงใหม่ ลำพูน โดยแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์พม่า ซึ่งท้าวมหายศเจ้าผู้ครองนครลำพูนได้ยกกำลังมายึดนครลำปาง โดยได้มาตั้งค่ายอยู่ภายในวัดพระธาตุลำปางหลวง ครั้งนั้น “หนานทิพย์ช้าง” ชาวบ้านปงยางคก (ปัจจุบันอยู่อำเภอเกาะคา ) วีรบุรุษของชาวลำปาง ได้รวบรวมพลทำการต่อสู้กับทัพเจ้ามหายศ โดยลอบเข้ามาในวัดและใช้ปืนยิงท้าวมหายศตาย แล้วตีทัพลำพูนให้แตกพ่ายไป ปัจจุบันรอยลูกปืนยังปรากฏอยู่บนรั้วทองเหลืองที่ล้อมองค์พระธาตุฯ ต่อมาภายหลังหนานทิพย์ช้างได้รับสถาปนาขึ้นเป็น “พระยาสุลวะลือไชยสงคราม” เจ้าผู้ครองนครลำปาง ซึ่งถือเป็นต้นตระกูล ณ ลำปาง เชื้อเจ็ดตน ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูน ณ น่านนั่นเอง
– งานประจำปีของวัดพระธาตุลำปางหลวง จะจัดขึ้นในช่วงวันเพ็ญเดือน 12 เป็นงานนมัสการพระแก้วดอนเต้า (พระแก้วมรกต) ซึ่งพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองลำปางนั่นเอง
– องค์พระธาตุ ภายในบรรจุ พระเกศา และพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า เป็นเจดีย์ทรงลังกา หุ้มด้วยแผ่นทองเหลืองฉลุลาย หรือที่เรียกกันว่า “ทองจังโก”
– ซุ้มพระบาท เป็นอาคารที่สร้างครอบรอยพระพุทธบาทไว้ ภายในมีภาพเงาพระธาตุกลับหัวให้ได้ชม แต่มีข้อห้ามคือ ห้ามผู้หญิงขึ้นไปยังซุ้มพระบาทโดยเด็ดขาด
– ที่บริเวณด้านหน้าวัดมีบริการรถม้าภาพเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ ในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งคิดค่าบริการ 150 บาทต่อรอบ ใช้เวลาประมาณ 20 นาที

หนึ่งสิ่งมหัศจรรย์ของวัดพระธาตุลำปางหลวงที่ไม่อยากให้พลาดโอกาสไปชมให้ได้ก็คือ “เงาพระธาตุกลับหัว” ที่อยู่ด้านในของ “ซุ้มพระบาท” แต่การเข้าชมเงาพระธาตุในซุ้มพระบาทนี้มีข้อห้ามไม่ให้คุณสุภาพสตรีขึ้นไป ยังซุ้มพระบาทนะครับ นอกจากนี้นอกกำแพงแก้วด้านใต้จะมีประตูนำไปสู่เขตสังฆาวาส ซึ่งยังมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่อีกมากมาย ทั้งหอพระไตรปิฏก อาคารพิพิธภัณฑ์ ที่รวบรวมโบราณวัตถุต่างๆ ที่หาชมได้ยากไว้มากมาย รวมถึงกุฏิที่ประดิษฐาน “พระแก้วดอนเต้า” (พระ แก้วมรกต) พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองลำปางในปางสมาธิ เป็นศิลปะแบบล้านนาสลักด้วยหยกสีเขียว ซึ่งทุกปีจะมีการจัดงานนมัสการพระแก้วดอนเต้าขึ้นในวันเพ็ญเดือน 12
สำหรับใครที่มีโอกาสแวะมายังเมืองลำปางแห่งนี้ อย่าลืมแวะมาที่วัดพระธาตุลำปางหลวงให้ได้ แล้วคุณจะได้สัมผัสกับประวัติศาสตร์ของเมืองลำปางอย่างเต็มเปี่ยม รวมถึงได้ชื่นชมฝีมือเชิงช่างที่ล้ำเลิศด้วยคุณค่าความงามทางศิลปะ ความสง่างามและความยิ่งใหญ่ของวัด ซึ่งสร้างความอัศจรรย์ใจให้กับผู้ที่พบเห็นทุกครั้ง

ขอขอบคุณ http://www.thaiticketmajor.com/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .