ที่มาของพระธาตุจอมกิตติ ก่อนยอดฉัตรหัก

268_1206703637_jpg_652

จากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขนาด ๖.๑ ริคเตอร์ ที่ชายแดนประเทศลาว เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๐ เป็นผลให้พระธาตุจอมกิตติ พระธาตุองค์สำคัญและเก่าแก่ในเมืองโบราณเชียงแสน ซึ่งตั้งอยู่บนยอดดอยน้อยหรือดอยจอมกิตติ ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ที่อยู่ห่างจากจุดเกิดแผ่นดินไหวราว ๖๐ กิโลเมตร เกิดรอยร้าวในส่วนองค์พระธาตุ รวมทั้งในส่วนยอดฉัตรและยอดปลีได้หักพังลง

ทั้งนี้จากการตรวจสอบของกรมศิลปากร พบว่า ยอดขององค์พระธาตุจอมกิตติได้รับความเสียหายหลายส่วน โดยเฉพาะอัญมณีประดับยอดฉัตร ๙ ชนิด ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานบรรจุในยอดฉัตร เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ (พระเกศาธาตุ) เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๙ ปรากฏว่าได้หลุดออกมา ๕ เม็ด โดย ณ เวลานี้ กรมศิลปกรสามารถตามหาอัญมณีประดับยอดฉัตรพบแล้ว ๓ เม็ด ส่วนอีก ๒ เม็ดยังคงหาไม่พบ ซึ่งหากว่าไม่สามารถหาอัญมณีที่หายไปได้ ทางกรมศิลปากรจะทำหนังสือไปยังสำนักพระราชวัง เพื่อขอพระราชทานเม็ดพลอยสีที่เหมือนกับเม็ดเก่ามาประดับไว้ในยอดฉัตรดังเดิมต่อไป ในการทำการบูรณะองค์พระธาตุจอมกิตติ

ผู้เขียนจึงขอนำเรื่องราวความเป็นมาของพระธาตุจอมกิตติ มาเล่าสู่กันฟังไว้ ณ ที่นี้

“พระธาตุจอมกิตติ” ตั้งอยู่บนดอยจอมกิตติ วัดพระธาตุจอดกิตติ ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เป็นปูชนียสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองเชียงแสนมาช้านาน และยังเป็น ๑ ในพระธาตุสำคัญในเส้นทางไหว้พระธาตุ ๙ จอม อันมี พระธาตุจอมผ่อ, พระธาตุจอมแจ้ง, พระธาตุจอมแว่, พระธาตุจอมจ้อ, พระธาตุจอมกิตติ, พระธาตุจอมจันทร์ และพระธาตุจอมสัก ซึ่งเป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดเชียงราย

ตามตำนานได้กล่าวถึงการสร้างพระธาตุจอมกิตติไว้ว่า พระพุทธโฆษาจารย์ พระเถระชาวมอญ ได้ไปศึกษาพระพุทธศาสนาที่ลังกา และเมื่อเดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่แคว้นโยนก ก็ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากเมืองลังกา มาถวายพระเจ้าพังคราช ผู้ครองแคว้นโยนกในขณะนั้น ซึ่งได้โปรดให้พระเจ้าพรหม พระราชโอรส อัญเชิญไป ประดิษฐานบนดอยน้อยหรือดอยจอมกิตติ พระเจ้าพรมจึงโปรดให้สร้างพระเจดีย์สูง ๖ วา ๒ ศอก กว้าง ๓ วา เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อปี พ.ศ.๑๔๘๓

พร้อมกับขนานนามพระเจดีย์องค์นี้ว่า “พระธาตุจอมกิตติ”

อีกราว ๕๐๐ กว่าปีต่อมา คือในปี พ.ศ.๒๐๓๐ พระเจ้าสุวรรณคำล้านนา ได้โปรดให้ หมื่นเชียงสง บูรณปฏิสังขรณ์พระธาตุจอมกิตติ โดยการสร้างพระเจดีย์ครอบองค์เดิมที่เหลือเพียงซากอิฐ หลังจากนั้นในปี พ.ศ.๒๒๓๗ เจ้าฟ้าเฉลิมเมือง เจ้าเมืองเชียงแสนในขณะนั้น ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุขึ้นอีกครั้ง ครั้นต่อมาจากนั้นในปี พ.ศ.๒๕๐๐ กรมศิลปากร ได้เข้ามาบูรณปฏิสังขรณ์ โดยการเสริมความมั่นคงและเสริมส่วนที่ชำรุดเท่านั้น พร้อมทั้งประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ

ครั้นถึงราว พ.ศ.๒๕๑๑ กรมศิลปากรก็ได้ทำการบูรณะอีกครั้งหนึ่ง ในครั้งนั้นทำได้เพียงการเสริมความมั่นคงและเสริมส่วนที่ชำรุดหลุดร่วงไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปในพิธียกยอดฉัตร เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๙ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๘ ได้เกิดแผ่นดินไหว เป็นเหตุให้รอยแยกแตกขององค์เจดีย์ที่ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลานั้น ขยายตัวมากขึ้น ประกอบกับโครงสร้างส่วนยอดและลายปูนปั้นก็หลุดร่วงแตกลงมากขึ้นเช่นเดียวกัน และองค์พระธาตุก็เกิดการทรุดเอียงลงด้วย

ในปี พ.ศ.๒๕๔๘ คณะรัฐมนตรีมีมติให้บูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถาน โบราณวัตถุ วัด และศาสนสถานทั่วประเทศที่มีอายุเก่าแก่ตั้งแต่ ๖๐ ปี ขึ้นไป เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๔๙ ซึ่งมีพระธาตุจอมกิตติรวมอยู่ด้วย ดังนั้นในปี พ.ศ.๒๕๔๙ กรมศิลปากรจึงได้สร้างฐานรากเพื่อยึดรอบองค์พระธาตุ รวมทั้งรอยแตกใต้ฐาน อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ.๒๕๕๐ นี้ กรมศิลปากรก็จะลงมือบูรณะพระธาตุจอมกิตติอีกครั้งหนึ่ง อันเนื่องมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวนั่นเอง
ฉัตรบนยอดเจดีย์ของพระธาตุจอมกิตติที่หักโค่นจากแผ่นดินไหว

พระธาตุจอมกิตติเป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา ที่มีส่วนผสมแบบอยุธยา ประกอบด้วยส่วนฐานเขียงรองรับฐานบัวย่อมุมไม้สิบสอง และชุดฐานบัวรองรับองค์ระฆัง ๓ ฐาน ในส่วนของฐานบัวย่อมุมประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นประทับยืนในซุ้มจระนำ ๔ ทิศ ในส่วนขององค์ระฆังมีเส้นคาดอก ซึ่งเป็นลักษณะที่โดดเด่นของเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนา เหนือขึ้นไปเป็นชุดดอกบัวรองรับปล้อง ไฉน และปลียอด ซึ่งประดับฉัตร ๙ ชั้น

มีความเชื่อกันว่าถ้าได้กราบไหว้พระธาตุจอมกิตติ และตั้งจิตอธิษฐาน จะอุดมไปด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ ลาภยศ มีผู้คนสรรเสริญ พระธาตุจอมกิตติตั้งอยู่ในบริเวณวัดพระธาตุจอมกิตติ ซึ่งวัดนี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ โดยพระครูสังวรสมาธิวัตร ปัจจุบันมีพระครูวิกรมสมาธิคุณ เป็นเจ้าอาวาส

ปัจจุบัน พระธาตุจอมกิตติ ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวจนฉัตรบนยอดเจดีย์หักตกลงมา ก็ได้รับการบูรณะและได้รับบริจาคอัญมณีที่หายไปกลับคืนมาอยู่ในสภาพสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว มีการเสริมความมั่นคงองค์พระธาตุด้วยวิธีการอัดฉีดอิพอกซี่แรงดันต่ำ บูรณะซ่อมแซมชั้นอิฐ อนุรักษ์ปั้นปูนฉาบที่แกะสลักเป็นลวดลายสวยงามอยู่ที่เจดีย์ สำหรับฉัตรบนยอดเจดีย์เดิมที่หักโค่นลงมา ก็ได้นำมาตั้งไว้ให้ผู้มีจิตศรัทธากราบไหว้อยู่บริเวณหน้าพระธาตุ

ขอขอบคุณ http://www.dhammajak.net/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .