ตำนานพระธาตุแช่แห้ง ปรากฎในธรรมพระเจ้าเลียบโลกทรงพระพุทธทำนาย

ff1

ปรากฏในอดีตกาลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วเสด็จประทับ ณ พระเชตะวันมหาวิหารถึงพรรษาที่ ๒๕ พรรษา วันหนึ่งเวลาใกล้รุ่งพระองค์ทรงเล็งเห็นด้วยพระญาณว่า เราตถาคตเมื่อตรัสรู้แล้ว บัดนี้อายุเราได้ ๖๐ ปี เมื่ออายุแห่งเราได้ ๘๐ ปีเราก็จะดับขันธ์ปรินิพพาน ยังเหลือเวลาอีก ๒๐ ปีที่เราตถาคตจะดำเนินไปโปรดเทศนาสั่งสอนเทวดา มนุษย์และเวไนยสัตว์ทั้งหลาย ในเมื่อพระองค์ทรงเล็งเห็นดังนั้นแล้ว พระพุทธเจ้าตนมีพระมหากรุณาจะเสด็จจึงเรียกเอาพระอรหันต์สาวกมีพระอานนท์เป็นผู้ถือบาตร พระรัตนเถร พระโสภณเถร พญาเมืองกุสินารามีพระนามพญาอโศกถือรองเท้าและไม้เท้าเสด็จตามพระพุทธเจ้าตามอุปฏฐาก ส่วนพญาอินทร์ก็ลงมาถือฉัตรกันแดดกันฝนให้พระผู้เป็นเจ้า พระองค์ได้โปรดเทศนาชาวเมืองกุสินาราเป็นปฐมฤกษ์ พระก็เสด็จออกจากเชตวนอาราม ในวันเดือนเกี๋ยง แรม ๑ ค่ำ ไปยังเมืองคูลวา เมืองแกว เมืองลังกา เมืองสวนตาล เมืองจีน เมืองฮ่อ เมืองลื้อ เมืองเขิน เมืองพระยาก เมืองเชียงแสน เมืองเชียงราย ดอยนภยาว ไปจอมแว ดอยคระชาว เมืองลำปาง เมืองแพร่แล้วเสด็จมาถึงยังเมืองนันทบุรีเสด็จประทับอยู่ที่ริมน้ำห้วยไคร้
เมื่อนั้นเมืองนันทบุรีมีเจ้าผู้ครองนครพระนามว่าพญามลราชมีพระมเหสีชื่อเทวีสัณฐมิต ชาวเมืองทั้งหลายเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ทั่ริมแม่น้ำก็ได้ไปทูลให้พญามลราชทราบ พญามลราชทราบดังนั้นก็พิจารณาว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาโดยแท้จึงมีจิศรัทธาเลื่อมใสรีบเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ และพระพุทธองค์ทรงตรัสกับพญามลราชว่าพระองค์อยากมีใจใคร่อาบน้ำ ณ สถานที่นี้ พญามลราชทราบดังนั้นก็ได้ถวายผ้าอาบน้ำแก่พระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทรงรับเอาผ้าอาบน้ำแล้วลงสรงน้ำ เมื่อพระพุทธองค์ทรงสรงน้ำเสร็จ ผ้าอาบผืนนั้นก็กลายเป็นแผ่นทองคำ แล้วพระพุทธองค์ก็ทรงเอาผ้าผืนนั้นคืนให้แก่พญามลราช พญามลราชเห็นผ้าอาบน้ำกลายเป็นทองคำก็ทรงชื่นชมโสมนัส และได้กล่าวกับพระมเหสีให้เตรียมสาด เสื่อ ที่นอน หมอน ฉัตร พร้อมปูอาสนริมฝั่งน้ำด้านทิศตะวันตกเสร็จแล้วก็ได้อาราธนาพระพุทธองค์ทรงขึ้นประทับ และถวายเป็นข้าวบิณฑบาตและปัจจัยอันควรฉันท์แด่พระพุทธองค์
ครั้นพระพุทธองค์ทรงฉันภัตตาหารเสร็จ ได้เล็งญาณเห็นไปในภายภาคหน้าจึงตรัสแก่พญามลราชว่า “ดูรามหาราชเราได้ดำเนินโปรดเทศนา ได้มาอาบน้ำ และได้เสวยภัตตหารที่ท่าน และพระมเหสีได้ถวายให้แก่เรา ณ ที่นี้และสถานที่แห่งนี้ในภายภาคหน้าจะได้ชื่อว่า “ เมืองนาน” ” พญาอโศก พญาอินทร์ และพระอานนท์ ได้ยินคำทำนาย ดังนั้นแล้วพระอานนท์จึงกราบทูลขอพระเกศาธาตุต่อพระพุทธเจ้า เพื่อไว้เป็นที่สักการบูชาแก่คนและเทวดาทั้งหลายตราบเท่า ๕,๐๐๐ พระวรรษา พระองค์จึงเอาพระหัตถ์ลูบศีรษะก็ได้พระเกศาเส้นหนึ่ง มอบให้แก่พระอานนท์ พระอานนท์ก็รับเอาพระเกศามอบให้แก่พญามลราช พญามลราชก็ปิติโสมนัสยิ่งได้สั่งให้สร้างโกศแก้วมณีมีวรรณเขียวใสเหมือนปีกแมงทับ แล้วเอาใส่น้ำต้นฅนฑีปิดฝา คาดด้วยไหมทอง แล้วพญามลราช พญาอินทร์ พญาอโศก และพระอรหันต์ทั้ง ๓ พระองค์มีพระรัตนเถร พระโสภณเถร พระอานนท์ พร้อมด้วยชาวเมืองทั้งหลายก็นำเอาพระเกศาธาตุ ไปยังดอยภูเพียงแช่แห้ง ขุดหลุมลึกลง ๓๐ วา กว้างยาวเท่ากัน และพญามลราชก็ได้บรรจุพระเกศาลงไปในหลุมพร้อมเงินอีก ๓๐๐,๐๐๐ บูชา ส่วนพระมเหสีเทวีสัณฐมิต ก็บรรจุเงินอีก ๓๐๐,๐๐๐ บูชา ส่วนชาวเมืองทั้งหลายก็มีจิตศรัทธาเหลื่อมใสบรรจุเงินเป็นจำนวนมากจนนับไม่ได้ เพื่อเป็นเครื่องบูชาพระเกศาธาตุเจ้า และเพื่อปัจจัยให้ถึงพระนิพพานไปในภายภาคหน้า ส่วนท้าวพระยาทั้งหลายมีพญาอินทร์เป็นประธานได้แต่งยนต์จักรไว้ภายในเพื่อรักษาพระเกศาธาตุเจ้าไว้ตราบเท่า ๕,๐๐๐ พระวรรษา พญามลราชก็ได้ก่ออิฐตั้งเป็นเจดีย์ในหลุมสูง ๓ ศอก แล้วก็ถมดินดังเดิม
เมื่อนั้นพระพุทธองค์ก็ทำนายไว้อีกว่า “เมื่อเราตถาคตนิพพานไปแล้วจงได้เอาธาตุกระดูกข้อมือด้านซ้ายไว้กับพระเกศาในที่นี้เถิด” พระพุทธองค์ตรัสไว้เท่านี้ก็เสด็จไปยังเมืองแพร่ เมืองสาย เมืองสร้อยทรายขาว เมืองลี้ ดอยเกิ้ง ไปเมืองฮอด เมืองลำพูน เชียงใหม่ เมืองตืน เมืองยวมข้ามแม่น้ำสะโตง ท่าฮอนนครกุสินาราแล้วสด็จกลับเมืองสาวัตถีและประทับอยู่ ณ พระเชตวนอาราม พระพุทธองค์เสด็จออกโปรดเทศนาแก่มวลมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายอยู่เป็นเนืองนิตย์ จนพระชนมายุได้กว่า ๗๐ พรรษาพระพุทธองค์และพระอานนท์ได้เสด็จผ่านมายังนครนันทบุรีอีกครั้งหนึ่งและเสด็จประทับ ณ บนดอยภูเพียงใต้ร่มไม้สำโรง เมื่อนั้นยังมีพราหมณ์ผู้หนึ่งมาจากห้วยไคร้ผ่านมายังที่พระพุทธองค์เสด็จประทับอยู่ พราหมณ์ผู้นั้นได้ใช้ให้ข้าทาสชายกลับไปเอาลูกสมอที่แช่น้ำไว้เพื่อมาถวายแด่พระพุทธองค์ ข้าทาสชายได้ไปนานนัก เมื่อกลับมาท่านพราหมณ์ได้ถามว่า “ทำไมเจ้าถึงได้ไปนานนัก” ข้าทาสชายได้ตอบว่า “ลูกสมอที่แช่น้ำไว้แห้งเสียแล้ว” ว่าแล้วท่านพราหมรณ์ก็ได้นำลูกสมอถวายแด่พระพุทธองค์ ขณะนั้นมีแมงม่าเต้าตัวหนึ่งมาอยู่แทบเบื้องพระบาทพระองค์ พระพุทธองค์ก็ทรงแย้มพระสรวลขึ้น เมื่อนั้นพระอานนท์ได้ตรัสถามพระพุทธองค์ว่า “พระพุทธองค์ทรงพระสรวลด้วยเหตุใด” พระพุทธองค์จึงตรัสแก่พระอานนท์ว่า “ดูก่อนท่าอานนท์เมื่อเราตถาคตเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้วจงเอาธาตุกระดูกข้อมือซ้ายของเรามาสถิตย์อยู่ ณ ที่นี้เถิด ตราบเท่า ๕,๐๐๐ พระวรรษา บ้านห้วยไคร้จะได้ชื่อว่า เมืองนาน สถานที่บนดอยแห่งนี้จะได้ชื่อว่า แช่แห้ง แมงม่าเต้าตัวนี้จะเกิดเป็นเจ้าผู้ครองนครแห่งนี้ชื่อว่า ท้าวขาก่าน ท่านพราหมณ์ผู้นี้จะเกิดเป็นอุบาสกผู้หนึ่ง เพื่อช่วยท้าวขาก่านทำนุบำรุงพระศาสนาให้มีความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป ” พระพุทธองค์ได้ตรัสทำนายเพียงเท่านี้และได้เทศนาโปรดท่านพราหมณ์ และสรรพสัตว์บริเวณนั้นเสร็จแล้วก็ได้เสด็จไปยังเมืองต่างๆอีกหลายเมืองและได้เสด็จกลับเมืองกุสินาราเมื่อพระชนมายุเกือบครบ ๘๐ พรรษา ก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานพระพุทธองค์ได้เสด็จประทับอยู่ใต้ต้นรังและได้เสด็จดับขันธ์ในปีมะเส็ง ขึ้น ๑๕ ค่า เดือน ๘ พระจันทร์เสวยฤกษ์ดวงชื่อ วิสาขา พระชนมายุเต็ม ๘๐ พรรษา
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้วพระอรหันต์เจ้าทั้งหลายได้นำเอาพระธาตุเจ้าไปสถิตย์ไว้ตามที่ต่างๆตามที่พระพุทธองค์ทรงทำนายไว้ และ ณ สถานบนดอยภูเพียงนี้ก็เช่นกันพระอรหันต์เจ้าพร้อมกับชาวเมืองทั้งหลายก็ได้นำพระธาตุมาประดิษฐานโดยได้ขุดหลุมเป็นรูปสี่เหลี่ยมลึก ๒๐ วา กว้าง ๕ วา แล้วก่อกู่แก้วสูง ๓ วา คร่อมพระธาตุไว้และได้สร้างยนต์จักรเพื่อรักษาองค์พระธาตุและถมดินปิดหลุมให้เรียบดังเดิม
หลังจากที่พระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว ๒๑๘ ปี พญาอโศกราชกษัตริย์เมืองปาตาริบุตร แห่งชมพูทวีป มีใจใคร่สร้างพระธาตุเจดีย์ จำนวน ๘๔,๐๐๐ หลังไว้ทุกเมืองตราบจนมาถึงเมืองนันทบุรีก็พร้อมชาวเมืองทั้งหลาย ขุดหลุมเป็นรูป ๔ เหลี่ยม ลึก ๑๐ วา กว้าง ๕ วา แล้วนำพระธาตุที่พระเจ้าอโศกราชบรรจุในผอูปทองคำฝังไว้ ทั้งยังได้หล่อทองคำเป็นรูปสิงห์ไว้กลางหลุม และสร้างยนต์จักรล้อมพระธาตุไว้แล้วก็ได้ถมดินให้เสมอดังเดิมและก่อเจดีย์สูง ๓ วาคร่อมไว้
ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่ปรากฏว่ามีกษัตริย์พระองค์ใดสืบทอดพระศาสนาปล่อยให้ป่าไม้ปกคลุม เจดีย์ก็ชำรุดทรุดโทรมพังทลายเสียหายหมด จวบจนเวลาผ่านไป ๑,๙๐๐ ปี

ขอขอบคุณ http://www.ch.or.th/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .