วัดพระธาตุแช่แห้ง–พระวิหารหลวง

DSC_6427

พระวิหารหลวงวัดพระธาตุแช่แห้งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นมาแต่ในสมัยพญาการเมือง พุทธศักราช ๑๙๐๒ หลังจากที่ได้ย้ายเมืองจากเมืองวรนครมาสร้างเมืองอยู่ที่เมืองภูเพียงแช่แห้ง นับได้ว่าในสมัยนั้นเวียงภูเพียงแช่แห้งคือศูนย์รวมของอารยธรรม วัฒนธรรม ความเจริญรุ่งเรือง ดังนั้นวัดพระธาตุแช่แห้งก็ถือได้ว่าเป็นวัดหลวงของอาณาจักรแห่งนี้ ย่อมมีสิ่งปลูกสร้างเพื่อเป็นสถานที่ที่จะประกอบพิธีกรรม หนึ่งในนั้นก็คือพระวิหารหลวงแห่งนี้ เพราะในพงศาวดารพระธาตุแช่แห้งฉบับพระสมุหพรหมได้มีบันทึกไว้ว่า ในสมัยพระยาหน่อคำเสถียรไชยสงคราม ปีวอกพุทธศักราช ๒๑๒๗ เดือน ๖ แรม ๑๒ ค่ำ ได้ทำการรื้อวิหารหลังเก่า และในปีเดียวกันก็ได้ทำการสร้างขึ้นใหม่ ในเดือน ๗ แรม ๕ ค่ำ และเจ้าผู้ครองนครน่านองค์ต่อๆมาก็ได้สร้างบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา
แต่พระวิหารหลวงที่เห็นในปัจจุบันนี้ ได้ทำการรื้อพระวิหารหลังเก่าและสร้างขึ้นใหม่ ในสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พุทธศักราช ๒๔๔๘ ปีมะเส็ง กว้าง ๗ วา ยาว ๑๗ วา ๒ ศอก สูง ๗ วา ๑ ศอก อยู่ทิศใต้ขององค์พระธาตุ หันหน้าไปทางทิศตะวันตก แบบสถาปัตยกรรมล้านนา โครงสร้างเครื่องบนใช้ตัวไม้ที่เรียกว่า ม้าต่างไหม ซึ่งจะมีอยู่ตอนปลายเสาทุกต้น ทำหน้าที่รับน้ำหนักแปตรงส่วนหลังคาที่เป็นเชิงชายทั้งสองด้านมีลักษณะเป็นชั้นไม้โปร่งซ้อนกันเป็นชั้นขึ้นไป ความกว้างระหว่างชั้นมีขนาดเท่ากับระยะของแป โดยเริ่มจากคานไม้ตัวล่างสุดที่เชื่อมไม้ประกบหัวเสาพาดไปสู่ผนัง ทำให้เนื้อที่ตอนบนซึ่งจะเป็นที่ตั้งของ ม้าต่างไหม เป็นสามเหลี่ยมด้านเท่า จากคานไม้นี้ตั้งลูกดั้งเป็นขาขึ้นรับคานตับที่เชื่อมกับไม้ประกบหัวเสาและแป ขนาดไปตามจำนวนแป ตั้งลูกดั้งและวางคานหลั่นกันไปจนหมดแปซึ่งเป็นส่วนลาด ทำให้มองเห็นซี่และเป็นชั้นสวยงาม ม้าต่างไหม นี้เป็นโครงสร้างเครื่องบนของหลังคาที่สำคัญอย่างหนึ่ง นิยมในสถาปัตยกรรมของล้านนาโดยเฉพาะวิหารขนาดใหญ่ ที่มีระบบการสร้างโดยตั้งเสาขึ้นรับคานไว้ภายใน ลักษณะของวิหารจะวางโครงสร้างเพื่อขยายขนาดกว้างใหญ่ตามที่ต้องการได้ โดยต่อมุขลดออกไปด้านหน้าและด้านหลังเป็นส่วนยาวแล้วทำหลังคาซ้อนเป็นเชิงชายออกเป็นชั้นๆ ถ้ามองดูด้านนอกเปรียบเสมือนเรือสำเภาทองลำใหญ่ ที่นำจิตวิญญาณผ่านวัฎฏสงสารสู่เมืองแก้วแห่งพระนิพพาน
พระวิหารหลวงแห่งนี้ มีขนาดใหญ่ จำนวน ๖ ห้อง ห้องกลางมีจำนวน ๒ ห้อง มีขนาดใหญ่ที่สุด และต่อชั้นลดไปทางด้านหน้า และด้านหลัง ด้านละ ๒ ห้อง ลดชั้นที่ ๑ ลดชั้นที่ ๒ มองดูด้านนอกหลังคาจะลดระดับลงมาเป็นเชิงชั้น ซ้อนกันอยู่ ๓ ชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินเผา ตรงมุมหน้าจั่วและปลายจั่วหลังคาของแต่ละมุขจะประดับด้วยพญานาคราชซึ่งปั้นด้วยปูนลักษณะชูคอเปรียบเสมือนผู้พิทักษ์คุ้มครองพระวิหารหลวง รวมแล้วมีทั้งหมดจำนวน ๔๒ ตัว ส่วนหางของพญานาคราชจะเลื้อยไปตามสันหลังคาและจะไปเกี้ยวกวัดรัดกันเป็นบ่วง เป็นชั้นๆ ๓ ชั้นอยู่ตรงกลางสันหลังคา ส่วนของจำหลักหน้าบันแต่ละชั้นนั้นเป็นไม้แผ่นเดียวแกะสลักลายดอกไม้เครือเถาวัลย์ อันอ่อนช้อย เป็นศิลปกรรมที่งดงามและหาดูได้ยากยิ่ง ตรงเชิงบันไดด้านหน้าทางเข้าพระวิหารมีสิงห์คู่นั่งในลักษณะชันขาอยู่ด้านละตัวเป็นปฏิมากรรมปูนปั้นของพม่าตัวด้านทิศเหนือเรียกว่าสิงห์สรวลด้านทิศใต้เรียกว่าสิงห์คายนาง (ดูตำนานสิงห์คายนาง) วิหารโดยทั่วไปจะมีประตูทางเข้าไม่เกิน ๓ ด้าน คือมีประตูทางเข้าด้านหน้า และด้านข้างทั้ง ๒ ด้าน ทางเข้าด้านหลังองค์พระประธานจะไม่มี แต่พระวิหารหลวงแห่งนี้มีประตูทางเข้าถึง ๔ ด้าน และมีประตูทางเข้าทางด้านหลังองค์พระประธานซึ่งนับว่าเป็นเรื่องแปลก ประตูด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตก บนซุ้มประตูเหนือทางเข้า ประกอบด้วยลายปูนปั้นเป็นรูปพญานาคราช ๘ ตัวเกี้ยวกวัดรัดกันเป็นบ่วงอยู่เรียกว่า อัฏฐพญานาคราช(ดูตำนานอัฏฐพญานาคราช) ส่วนบานประตูเป็นประตูไม้ทาสีแดงไม่มีลวดลาย มีหน้าต่างอยู่ทั้งหมด ๑๖ บาน ทาสีแดงไม่มีลวดลาย(ได้มีการค้นพบในปี ๒๕๕๐ ว่าบานประตูและหน้าต่างมีลายทองเป็นรูปเครือเถาวัลย์อยู่) บนซุ้มประตูหน้าต่างด้านนอกแต่ละบานมีลายปูนปั้นเครือเถาวัลย์ประดับอยู่ ผนังพระวิหารก่ออิฐถือปูนทาสีขาว ภายในพระวิหารมีเสาปูนอยู่ทั้งหมด………….ต้น (สันนิษฐานว่าในเสาปูนจะมีเสาไม้อยู่และพื้นด้านล่างพระวิหารจะมีไม้เรียงเป็นหมอนแทนเสาเข็มอยู่เพื่อป้องกันพื้นทรุด) เสาคู่ด้านหน้าตรงทางเข้ามีลวดลายปูนปั้นเป็นรูปสัตว์ในป่าหิมพานต์คล้ายกับฐานชุกชีที่ประดิษฐานพระประธานก็มีลวดลายในลักษณะเดียวกันนี้ ถือเป็นลายปูนปั้นของสกุลช่างเมืองน่าน ที่หาดูที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว ฐานชุกชีในพระวิหารหลวงนั้นแบ่งเป็น ๒ ชั้น ชั้นที่ ๑ อยู่ด้านหน้ามีไว้สำหรับตั้งเครื่องบูชา และเป็นที่ประทับของพระพุทธรูปไม้ปางมารวิชัย มีพระนามว่าพระเจ้าก๋าคิง ส่วนชั้นที่ ๒ มีพระพุทธรูปประทับอยู่ ๘ องค์ พระประธานองค์ใหญ่ปางสมาธิก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทองประทับอยู่บนกลีบบัวพระนามว่าพระเจ้าอุ่นเมือง เบื้องหน้าพระพักตร์ขององค์พระประธานมีพระสาวก ๒ รูปก่อด้วยอิฐถือปูนนั่งกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ในลักษณะหันหน้าเข้าหาองค์พระประธาน องค์ที่ ๒ รองลงมาเป็นพระพุทธรูป ปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์หุ้มด้วยปูนลงรักปิดทองประทับบนกลีบบัว พระนามว่าพระเจ้าล้านทอง องค์ที่ ๓ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับบนฐานลายดอกพุดตาน ไม่ปรากฏพระนาม องค์ที่ ๔ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับบนฐานกระต่ายชมจันทร์ ไม่ปรากฏพระนาม องค์ที่ ๕ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย องค์เล็กที่สุด ไม่ปรากฏพระนาม องค์ที่ ๖ เป็นพระพุทธรูปไม้ประทับยืน สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าอัตถวรปัญโญ องค์ที่ ๗ และ ๘ เป็นพระพุทธรูปปางเทวดาประทับยืน โดยนำทองที่ได้จากการบูรณะองค์พระธาตุแช่แห้งในปี พุทธศักราช ๒๕๓๖ มาหล่อขึ้นใหม่ ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๘ และในปีเดียวกันนี้ก็ได้ตัดไม้มะค่าโมงภายในวัด ๑ ต้น มาแกะสลักพระพุทธรูปปางเทวดา ๒ องค์ แทนพระรูปองค์เดิมที่ถูกโจรกรรมตัดข้อพระบาทไปในปีพุทธศักราช ๒๕๒๔ (ฐานและพระบาทที่คนร้ายไม่ได้นำไปถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จังหวัดน่าน)และพระพุทธรูปไม้ทั้ง ๒ องค์นี้ได้นำมาประดิษฐานไว้ในพระวิหารหลวงแห่งนี้แทนองค์เดิมที่ถูกโจรกรรมไป
ประวัติการสร้างและปฏิสังขรณ์
พระวิหารหลวงหลังนี้ได้ถูกรื้อซ่อมแซมมาหลายยุคสมัยก่อนที่จะเป็นดังเช่นที่เห็นในปัจจุบันนี้ตามหลักฐานการบูรณะปฏิสังขรณ์ ดังนี้
– สมัยพระยาหน่อคำเสถียรไชยสงคราม เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ ๓๙ ปีพุทธศักราช ๒๑๒๗
ได้ทำการรื้อและสร้างใหม่
– สมัยพระเจ้าสุมนเทวราช เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ ๕๘ ปีพุทธศักราช ๒๓๖๒
บูรณะและก่อผนังรอบพระวิหาร
– เจ้าหลวงมหาวงศ์ เจ้าผู้ครอแงนครน่านองค์ที่ ๖๑ ปีพุทธศักราช ๒๓๘๙
ได้ซ่อมแซมบูรณะใหม่
– สมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ ๖๓ ปีพุทธศักราช ๒๔๔๘
ได้ทำการรื้อและสร้างใหม่
ขอขอบคุณ http://www.ch.or.th/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .