วัดพระธาตุแช่แห้ง–พระเจ้าก๋าคิง

DSC08058

จารึกฐานพระพุทธรูปไม้ปางมารวิชัย
รายละเอียดเกี่ยวกับพระพุทธรูป
พุทธลักษณะ
พระพุทธรูปไม้ปางมารวิชัย ส่วนฐานด้านหน้าจำหลักรูปสิงห์ (หน้ากาล) อยู่ตรงกลางและรูปช้างสามเศียร (ช้างเอราวัณ) อยู่ตรงมุมทั้ง ๒ ด้านหลังเป็นจารึกอักษรธรรมล้านนา จำนวน ๘ บรรทัด
ขนาดพระพุทธรูป
สูง ๑๒๕ ซม. หน้าตักกว้าง ๖๖ ซม.
ขนาดของฐาน
สูง ๔๖ ซม. กว้าง ๖๗ ซม.
วัสดุที่ใช้
ใช้ไม้มาแกะสลักและลงรักปิดทอง
สภาพปัจจุบัน
อยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์เพียงแต่องค์พระพุทธรูปด้านข้างชำรุดแหว่งหายไปบางส่วนเพราะถูกปลวกกินและเม็ดพระศกที่อยู่ด้านหลังของพระเศียรหลุดร่วงไปบางส่วน
ผู้สร้างพระพุทธรูป
ข้อความในจารึกที่ฐานระบุว่าพระเจ้าอัทธวรวงสา (เจ้าอัตถวรปัญโญ) พร้อมด้วยพระราชบิดา พระราชมารดา พระอัคคชายา ราชโอรส ราชธิดา เป็นมูลศรัทธาโปรดให้หมื่นศรีสรรพช่าง เป็นผู้สร้างพระพุทธรูปในพุทธศักราช ๒๓๓๓
ประวัติพระพุทธรูป
พุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีทางด้านขวา ร่วมกับพระประธาน ในพระอุโบสถวัดพระธาตุแช่แห้งมาเป็นเวลานาน ชาวบ้านเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระเจ้าก๋าคิง” (ก๋าคิง = ค่าคิง หมายถึง พระพุทธรูปที่มีขนาดเท่ากับผู้สร้าง ในที่นี้คือ เจ้าอัตถวรปัญโญ) และไม่ปรากฏหลักฐานว่าเคลื่อนย้ายมาจากที่ใด จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า เมื่อสร้างพระพุทธรูปไม้องค์นี้เสร็จแล้วในปี พ.ศ. ๒๓๓๓ เจ้าอัตถวรปัญโญ คงจะถวายไว้กับวัดพระธาตุแช่แห้งตั้งแต่นั้นมา แม้ว่าในจารึกมิได้ระบุชื่อวัดไว้ก็ตาม ทั้งนี้ เพราะพิจารณาจากการที่มีหลักฐานทั้งในจารึกของวัดพระธาตุแช่แห้งและในพงศาวดารเมืองน่าน ระบุไว้ว่า เจ้าอัตถวรปัญโญได้บูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุปี พ.ศ. ๒๓๓๒ และระหว่าง พ.ศ. ๒๓๔๐ – ๒๓๔๓ ได้สร้างศาสนสถานอื่นๆ ภายในวัดพระธาตุแช่แห้ง ฉะนั้นจึงย่อมเป็นไปได้ที่เจ้าอัตถวรปัญโญจะสร้างพระพุทธรูปที่มีขนาดเท่าพระองค์ถวาย ให้แก่วัดด้วยเช่นกัน
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๗ พระครูวิสิฐนันทวุฒิ รองเจ้าคณะอำเภอเมืองน่านรักษาการเจ้าอาวาสวัดพระธาตุแช่แห้งได้เคลื่อนย้ายออกมาจากอุโบสถเพื่อนำมาปฏิสังขรณ์
ที่อยู่ปัจจุบัน
ประดิษฐานอยู่ที่สำนักงานรองเจ้าคณะอำเภอเมืองน่าน วัดพระธาตุแช่แห้ง ตำบลม่วงตึ๊ด อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน

รายละเอียดเกี่ยวกับจารึก
อักษร ธรรมล้านนา
ภาษา ภาษาไทยและภาษาบาลี
อายุ จุลศักราช ๑๑๕๒ ตรงกับ พุทธศักราช ๒๓๓๓
จำนวนบรรทัด ๘ บรรทัด อยู่ที่ด้านหลังของฐานพระพุทธรูป
เนื้อหาสาระ
พระเจ้าอัทธวรวงสา (เจ้าฟ้าอัตถวรปัญโญ) พร้อมด้วย พระราชบิดา พระราชมารดา พระอัคคชายา ราชโอรส ราชธิดา เป็นปฐมมูลศรัทธา ให้หมื่นศรีสรรพช่างสร้างพระพุทธรูปมีขนาดใหญ่เท่ากับองค์ของพระเจ้าอัทธวรวงสา เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนยี่ (ตรงกับ วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน) พุทธศักราช ๒๓๓๓ ได้นิมนต์พระสงฆ์และสามเณรรวม ๔๑๓ รูป มาทำพิธีฉลองรวมทั้งโปรดให้สร้างบอกไฟ (ดอกไม้ไฟ) ๒ กระบอก เพื่อจุดฉลองเป็นพุทธบูชา
หลักการปริวรรต
ทางด้าน “คำจารึก” มีหลักดังนี้
๑.จะถ่ายถอดตัวอักษรตัวต่อตัวตามอักขรวิธีของคำในจารึก
๒.รูป……….ถ่ายถอดเป็น บ ทั้งคำไทยและบาลี
๓.รูป…….ถ่ายทอดเป็น ป
๔.รูป…….คำไทยถ่ายถอดเป็น ด คำบาลีถ่ายถอดเป็น ฑ
๕.จะใส่เครื่องหมาย (.) ไว้ใต้พยัญชนะที่มีพยัญชนะตัวอื่นมาซ้อนอยู่ข้างใต้
ทางด้าน “คำปัจจุบัน” มีหลักดังนี้
๑.คำภาษาถิ่นเหนือจะเขียนตามอักขรวิธีอักษรไทยกลาง
๒.คำที่ใช้ทั้งในภาษาถิ่นเหนือและภาษาไทยกลางจะสะกดตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
๓.คำภาษาบาลีจะสะกดตามอักขรวิธีบาลี

บทคัดย่อ
จารึกฐานพระพุทธรูปไม้ปางมารวิชัย
วัดพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน

จารึกฐานพระพุทธรูปไม้ปางมารวิชัย พบที่วัดพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน จารึกด้วยอักษรธรรมล้านนา มีใจความเกี่ยวกับการบุญว่า ในพุทธศักราช ๒๓๓๓ เจ้าอัตถวรปัญโญ พร้อมด้วยพระราชบิดา พระราชมารดา พระอัคคชายา ราชโอรส ราชธิดา เป็นปฐมมูลศรัทธา โปรดให้หมี่นศรีสรรพช่างสร้างพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่เท่ากับตัวเจ้าอัตถวรปัญโญ

ขอขอบคุณ http://www.ch.or.th/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .