วัดพระธาตุแช่แห้ง–พระประวัติเจ้าหลวงท้าวขาก่าน

DSC04016

ในปีพุทธศักราช ๒๐๑๙ พระเจ้าติโลกราชได้ทรงแต่งตั้งให้เจ้าหลวงท้าวขามาปกครองนครน่าน ในบันทึกตามพงศาวดารได้บรรยายรูปร่างลักษณะเจ้าหลวงท้าวขาก่านไว้ว่า มีผิวกายสีดำแดง สักยันต์เป็นรูปพญานาคราชตั้งแต่ขาจนถึงน่อง ยามเดินคล่องแคล่ว ว่องไวนัก เจ้าหลวงปกครองนครน่านได้ระยะหนึ่ง จึงได้ใช้ให้หมื่นคำไปถวายเครื่องบรรณาการแด่เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และไปได้ตำนานพระธาตุแช่แห้งมาจากพระคุณเจ้ามหาเถรวชิรโพธิ์ที่ได้มาจากเมืองลังกา เมื่อนั้นเจ้าหลวงท้าวขาก่านพร้อมด้วยสังฆเจ้า และชาวเมืองทั้งหลายได้พากันแผ้วถางบริเวณดอยภูเพียงแช่แห้งซึ่งขณะนั้นถูกปกคลุมด้วยป่าไผ่เครือเถาวัลย์ จนเจอจอมปลวกใหญ่ลูกหนึ่งก็พากันทำการสักการบูชา ครั้นถึงเวลากลางคืนบริเวณจอมปลวกก็ปรากฏดวงพระธาตุเจ้าแสดงปาฏิหาริย์เปล่งรัศมีรุ่งเรืองนัก จึงได้พากันขุดบริเวณจอมปลวกดู ขุดได้ลึก ๑ วาก็เจอก้อนศิลากลมเกลี้ยงลูกหนึ่งเจ้าหลวงท้าวขาก่านจึงให้ชีปะขาวเชียงโดมวัดใต้ ทุบให้แตกก็พบ ผอบทองคำมีฝาปิดสนิท เมื่อเปิดออกดูก็พบ พระธาตุเจ้า ๗ องค์ พระพิมพ์คำ ๒๐ องค์ พระพิมพ์เงิน ๒๐ องค์ ที่พญาการเมืองได้มาจากเมืองสุโขทัยและนำมาประดิษฐานไว้ แล้วเจ้าหลวงท้าวขาก่านได้นำพระธาตุรวมทั้งพระพิมพ์เงิน พระพิมพ์คำที่ขุดได้ทั้งหมดมาเก็บไว้ที่หอคำและได้กราบบังคมทูลให้พระเจ้าติโลกราชทราบ พระเจ้าติโลกราชทรงมีรับสั่งว่าเมื่อขุดได้ที่ใดก็ให้เก็บไว้ ณ ที่นั้น เมื่อนั้นเจ้าหลวงท้าวขาก่านพร้อมด้วยสังฆเจ้า ท้าวพระยาทั้งหลายก็พร้อมใจกันนำ พระบรมสาริกธาตุเจ้า พระพิมพ์เงิน พระพิมพ์คำมาประดิษฐานไว้ ณ บนดอยภูเพียงแช่แห้งตามเดิม และก่อเจดีย์ สูง ๖ วาคร่อมไว้
ลุถึงปีพุทธศักราช ๒๕๑๐ – ๒๕๑๖ ยุคสมัยบ้านเมืองไม่ปกติสุข มีผู้ก่อการร้ายเกิดขึ้นทางชายแดนของจังหวัดน่านหลวงปู่โง่น โสรโย แห่งวัดพระพุทธบาทเขารวก อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร ท่านได้มาให้กำลังใจแก่เหล่าทหารหาญ ในการต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาหลวงปู่ ได้มีนิมิตถึงองค์เจ้าท้าวขาก่าน มาปรากฏกายให้เห็น หลวงปู่จึงได้ปั้นพระรูปเจ้าหลวงขึ้นตามที่ปรากฎเห็นในนิมิต ในลักษณะของนักรบโบราณ มีดาบใหญ่วางไว้ที่ต้นขา พระเนตร และพระหัตถ์ขวานิ้วชี้ นิ้วก้อย พระหัตถ์ซ้ายนิ้วนางประดับด้วยแก้วโป่งข่าม เสร็จแล้วในงานประเพณีหกเป็ง ปีพุทธศักราช ๒๕๑๓ หลวงปู่โง่น พร้อมด้วยสังฆเจ้า ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนชาวจังหวัดน่าน ก็ได้แห่อัญเชิญองค์พระรูปเจ้าหลวงจากวัดมิ่งเมืองมาประดิษฐานไว้ ณ ศาลเจ้าหลวงบนดอยภูเพียงแช่แห้งตั้งแต่นั้นสืบมา
ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ พระครูวิสิฐนันทวุฒิ ( ศิระ ณ น่าน ) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุแช่แห้งพระอารามหลวงได้เล็งเห็นศาลเจ้าหลวงท้าวขาก่านซึ่งสร้างมาแต่สมัยหลวงปู่โง่น ชำรุดทรุดโทรมมาก จึงในวันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๖ ใต้ ตรงกับวันศุกร์ที่ ๒๗ เดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๐ พระครูวิสิฐนันทวุฒิ พร้อมด้วยคณะศรัทธาญาติโยมทั้งหลาย ได้ทำการรื้อถอนและสร้างศาลเจ้าหลวงขึ้นใหม่โดยรูปแบบในการสร้างเป็นแบบสถาปัตยกรรมเมืองน่าน โครงสร้างแบบม้าต่างไหม หลังคามุงด้วยกระเบื้องว่าว ผนังโดยรอบและราวบันไดทางขึ้นเป็นปล่องไข่ แล้วเสร็จในเดือนมกราคม ๒๕๕๑ และได้อัญเชิญองค์พระรูปขึ้นประทับ ในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๒ ใต้ ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๒๐ มกราคมพุทธศักราช ๒๕๕๑ สิ้นงบประมาณการก่อสร้างไปทั้งสิ้น ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท

ขอขอบคุณ http://www.ch.or.th

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .