วัดหริภุญชัย จังหวัดลำพูน

เป็นวัดที่สำคัญที่สุดของจังหวัดลำพูน ตั้งอยู่ใจกลางเมือง แวดล้อมด้วยแหล่งที่กินที่เที่ยวทางวัฒนธรรมอื่น ๆ เป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวในตัวเมืองลำพูน และเป็นจุดเริ่มเดินเที่ยวชมตัวเมืองลำพูนย่าน ถ.อินทยงยศ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หริภุญไชย ขัวมุงท่าสิงห์ ย่านทอผ้าเวียงยอง เป็นต้น
ภายในกำแพงแก้วของวัดมีพื้นที่ประมาณ 15 ไร่เศษ ประกอบด้วยสิ่งปลูกสร้างดั้งเดิมและวิหารที่สร้างในยุคหลังมากมาย รวมถึงพระพุทธรูปสำคัญ คือ พระเสตังคมณีศรีหริภุญไชย

สถานที่ตั้ง และการเดินทาง
ที่ตั้ง :
ต.ในเมือง อ.เมือง
รถยนต์ส่วนตัว :
จากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวใช้ ถ.รอบเมือง ไปทางประตูท่านางประมาณ 100 ม. วัดพระธาตุฯ อยู่ทางซ้ายมือ
รถรับจ้าง :
ขึ้นสามล้อถีบจากตัวเมือง

สิ่งที่น่าสนใจ

พระธาตุหริภุญไชย
เป็นเจดีย์ทรงล้านนา หุ้มแผ่นทองจังโกทั้งองค์ เมื่อคราวบูรณปฏิสังขรณ์ในปี พ.ศ.2054
สมัยพระเมืองแก้วกษัตริย์เชียงใหม่ โดยคราวนั้นได้มีการสร้างระเบียงหอกทำด้วยทองเหลืองล้อมองค์พระธาตุ
สำหรับองค์พระ์เจดีย์สูง 92 ศอก มีฐานบัวลูกแก้วย่อเก็จ ถัดขึ้นไปเป็นฐานเขียงกลมสามชั้นรับฐานบัว และองค์ระฆังกลม องค์ระฆังกลมหุ้มแผ่นทองจังโก ประทับลวดลายดอกไม้สี่กลีบ และดุนลายเป็นภาพพระพุทธรูปปางถวายเนตร และปางลีลา นักประวัติศาสตร์พบจารึกบนแผ่นทองที่องค์ระฆังด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือพบเป็นอักษรล้านนา ระบุถึงผู้ปฏิสังขรณ์ว่า “พระมหาเทวีผู้เป็นแม่แก่เจ้าพญาทั้งสองพี่น้อง ผู้เป็นอุบาสิกาแก่ฝูงสงฆ์ทั้งหลาย” เดิมเชื่อว่าเป็นพระราชมารดาของพระเจ้ากือนา แต่เมื่อพิจารณาจากพงศาวดารและรูปแบบอักษรแล้ว จึงเชื่อว่าน่าจะหมายถึงพระราชชนนีของพญาแสนภูแห่งนครเชียงใหม่ ถัดจากองค์ระฆังเป็นบันลังก์ย่อมุมและปล้องไฉน ปลียอดเจดีย์ทำเป็นฉัตรเก้าชั้น

ซุ้มประตูโขง และสิงห์หน้าวัด
ก่อนเข้าภายในเขตระเบียงคตด้าน ถ.รอบเมืองใน จะผ่านซุ้มประตูโขงก่ออิฐถือปูน ประดับปลายปูนปั้นที่อ่อนช้อยสวยงาม เป็นศิลปะทวาราวดี ประกอบด้วยซุ้มจระนำสี่ด้าน แต่ละด้านลดหลั่นขึ้นไปห้าชั้น ประดับด้วยปลายปูนปั้นรูปดอกบัว ยอดซุ้มประตูโขงเป็นปราสาทประดับด้วยเจดีย์ขนาดเล็กห้าองค์
เบื้องหน้าซุ้มประตูมีสิงห์ใหญ่สูง 3 ม. คู่หนึ่งยืนสง่าบนแท่นสูงประมาูีณ 1 ม. สิงห์คู่นี้สร้างในสมัยพระเจ้าติโลกราชเมื่อปี พ.ศ.1990 คราวเดียวกับการบูรณะองค์พระธาตุครั้งสำคัญ ซุ้มประตู และสิงห์ใหญ่ได้รับการบูรณะล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2499

หอระฆัง
สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2481 โดยครูบาคำฟู เดิมเป็นหอพระแก้วขาว ภายหลังพญามังรายยึกครองนครหริภุญไชย ได้อัญเชิญพระแก้วขาวไปยังวัดเชียงมั่น จึงเหลือเป็นฐานอาคารอยู่ทางด้านทิศขวาของวิหารหลวง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้นบนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กล้าวยาวประมาณ 5 ม. ทาสีแดง มีบันไดทางขึ้นสี่ทิศ ขั้นล่างแขวนกังสดาลขนาดใหญ่ ชั้นบนสอบแคบกว่าชั้นล่าง แขวนระฆังขนาดใหญ่ หลังคาเป็นยอดปราสาท ประดับซุ้มจระนำสี่ทิศ เป็นอาคารที่มีความงามแปลกตา

หอไตร
เป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีความงดงาม มีรูปแบบที่นิยมสร้างในล้านนา เป็นอาคารสองชั้น ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ชั้นบนเป็นเครื่องไม้ มีบันไดขั้นทางเดียว โดยหันหน้าเข้าหาองค์พระธาตุ ด้านหลังหอไตรหันไปทางหน้าวัด มีลิงโตประดับที่หัวเสา ส่วนชั้นบนเป็นเครื่องไม้มีบันไดนาคขนาดเล็กตั้งอยู่ตรงทางเข้า ตัวอาคารประดับด้วยไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจก มีมุขทั้งด้านหน้าและหลัง หลังคาลดชั้นประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หลังคามุงกระเบื้องดีบุก จากจารึกซึ่งพบที่วัดระธาตุหริภุญชัย จารึกเมื่อปี พ.ศ. 2043 ระบุว่าหอไตรนี้เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎกครบทั้ง 84,000 พระธรรมขันธ์ โดยเป็นคัมภีร์ใบลานทั้งหมด

เขาพระสุเมรุ
ตั้งอยู่ด้านหน้าหอไตร ลักษณะคล้ายเจดีย์ทรงกลม สูงประมาณ 2.5 ม. ทาสีแดง ส่วนยอดหลั่นเป็นชั้นเล็ก ๆ ประดับสำริดหล่อเป็นรูปป่าไม้ สัตว์ป่าต่าง ๆ ถือว่าเป็นเชิงเขาพระสุเมรุ

วิหารหลวง
ตั้งอยู่ด้านหน้าองค์พระธาต สร้างในสมัยพระเมืองแก้วเมื่อปี พ.ศ. 2054 ตัวอาคารเป็นแบบล้านนา แต่วิหารหลังเดิมถูกพายุพัดเสียหายยับเยินเมื่อปี พ.ศ. 2458 ชาวลำพูนจึงร่วมกันสร้างวิหารหลวงขึ้นมาใหม่ เป็นอาคารบนฐานสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยกเก็จด้านหน้า หลังคาซ้อนหลายชั้นลดหลั่นยื่นออกมาด้านหน้าประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันประดับไม้แกะสลักปิดทอง ประดับกระจกสีฟ้ารูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ถัดมาเป็นเทพพนม และสายพฤกษา หน้าต่างและบานประตูเป็นไม้แกะสลักปิดทองรูปเทพพนม
ภายในวิหารหลวงมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย หน้าตักกว้างประมาณ 3 ม. พร้อมสาวก ด้านหน้ามีบุษบกสูงประมาณ 2 ม. ภายในประดิษฐาน พระแก้วขาว หรือพระเสตังคมณีศรีหรุภุญไชย เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย แกะสลักจากแก้วผลึกใส สูงประมาณ 1 คืบ

ปทุมวเจดีย์ (สุวรรณเจดีย์)
ตั้งอยู่ด้านขวามือขององค์พระธาตุ ใกล้กับวิหารละโว้ และวิหารพระเจ้าพันตน ในเขตระเบียงคดถัดจากหอระฆังไปปประมาณ 30 ม. เป็นเจดีีย์ฐานสี่เหลี่ยมทรงปราสาท สร้างด้วยศิลาแลง และอิฐ สุวรรณเจดีย์นี้เป็นกรุพระเปิมซึ่งเป็นพระเครื่องสำคัญคู่เมืองลำพูนที่มีชื่อเสียงรองจากพระรอด

วิหารพระเจ้าทันใจ (เปิดเวลา 08.00-16.00 น.)
ตั้งอยู่ด้านหลังองค์พระธาตุติดกับประตูวัดด้าน ถ.อินทยงยศ เป็นวิหารเก่าแก่ บูรณะเมื่อปี พ.ศ.2525 วิหารเป็นแบบล้านนา ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามญาติ และปางประทานอภัย รวมหกองค์ ถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ เชื่อกันว่าสามารถดลบันดาลให้ผู้มากราบไหว้สัมฤทธิผล

วิหารพระกลักเกลือ
ตั้งอยู่ใกล้มุมระเบียงคดด้านทิศเหนือ พระกลักเกลือ หรือพระเจ้าแดงเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยขนาดใหญ่ ศิลปะล้านนา หน้าตักกว้าง 5 ม. สูง 6 ม. ห่มจีวรสีแดงเข้ม บริเวณนี้ก่อนการบูรณะและสร้างวิหารขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2536 ได้ขุดพบเสาศิลาแลง และพระเกศาของพระพุทธรูปขนาดใหญ่จำนวนมาก เชื่อว่าเป็นพระเจ้าแดงองค์เดิม ในอดีตเมื่อสร้างองค์พระเสร็จ ช่างได้ใช้อิฐบดเป็นสีแดงทาองค์พระ จึงเีรียกว่า พระเจ้าแดง ด้านหน้าพระเจ้าแดงมีพระกลักเกลือ หรือพระพุทธรูปปางฉันสมอ ซึ่งเป็นปางที่แปลก และเป็นที่มาของวัดพระธาตุหริภุญชัย ปางฉันสมอหล่อด้วยสำริด หน้าตักกว้าง 1 ม.ลักษณะคล้ายปางมารวิชัย แต่พระหัตถ์ซ้ายทรงกลัก (กระบอก) เกลือ พระหัตถ์ขวาทรงสมอ ซึ่งถือว่าเป็นพระประจำวัดนี้ เนื่องจากคำว่า “หริ” แปลว่า ผลสมอ “ภุญช” หมายถึง กินแล้ว รวมคำได้ว่า “ผู้กินผลสมอ” อันเป็นความหมายของวัดพระธาตุหริภุญชัย

วิหารพระบาทสี่รอย
เป็นวิหารสร้างใหม่ ตั้งอยู่ด้านหลังวิหารพระพุทธ ลักษณะคล้ายศาลา ภายในประดิษฐานรอยพระพุทธบาทที่จำลองมาจากรอยพระพุทธบาทจาก อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ กว้าง 2 ม. ยาว 4 ม. ลักษณะเป็นรอยขนาดเล็กซ้อนอยู่ในรอยขนาดใหญ่รวมสี่รอย เหนือรอยพระพุทธบาทมีเครื่องไม้แกะสลักเป็นรูป 12 นักษัตร

อาคารพิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุหริภุญชัย (เปิดเวลา 08.00-16.00 น.)
ภายในเก็บรักษาศิลปวัตถุ และโบราณวัตถุต่าง ๆ จัดแสดงโดยไม่มีการจัดหมวดหมู่ ประกอบด้วยพระเกศาของพระพุทธรูปโบราณขนาด 6 นิ้ว 10 อัน พระเจ้าแข้งคม พระพุทธรูปหน้าตักกว้าง 1 ศอก มีหน้าแข้งเป็นสันคล้ายสันมีด พระพุทธรูปขนาดเล็กสร้่างด้วยสำริด ศิลปะล้านนาสมัยพุทธศตวรรษที่ 21 อีกจำนวนมาก รวมทั้งต้นไม้เงินต้นไม้ทองที่ชาวบ้านนำมาถวายเป็นพุทธบูชา

เจดีย์เชียงยืน
อยู่นอกระเบียงคดด้านทิศเหนือขององค์พระธาตุ ห่างไปประมาณ 100 ม. ในเขต โรงเรียน เมธีวุฒิกร เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกันสี่ชั้น มีฐานบัวคว่ำและบัวถลา ตามตำนานเล่าว่าเจดีย์องค์นี้สร้างในสมัยพญาอาทิตยราชโดยบรรดาแม่ครัวที่มาทำอาหารเลี้ยงคณะศรัทธาเมื่อครั้งสร้างพระธาติหริภุญชัย และได้รับการบูรณะใหม่ในสมัยพระเจ้าติโลกราช เป็นเจดีย์แบบหริภุญไชยหนึ่งในสามองค์ที่ยังหลงเหลืออยู่ในลำพูน

ขอขอบคุณ http://i.lamphun.go.th

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .