วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่ สักการะหลวงพ่อโต หลวงพ่อวัดพระสิงห์เชียงใหม่

วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่
สักการะหลวงพ่อโต หลวงพ่อวัดพระสิงห์เชียงใหม่

วัดพระสิงห์ หรือมีชื่อเต็มว่า วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนสามล้าน ต.พระสิงห์ เป็นวัดที่มีนักท่องเที่ยวรู้จักคุ้นชื่อกันดี พญาผายู กษัตริย์เชียงใหม่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เพื่อบรรจุพระอัฐิของพญาคำฟู ซึ่งเป็นพระราชบิดา เดิมชื่อว่า วัดลีเชียงพระ บริเวณหน้าวัดแห่งนี้เคยเป็นกาดมาก่อน ชาวบ้านเรียกว่า กาดลี วัดพระสิงห์มีสิ่งที่น่าสนใจได้แก่ หอไตร สร้างเป็นครึ่งตึกครึ่งไม้ ที่ตัวผนังตึกด้านนอกประดับด้วยทวยเทพปูนปั้นแต่งองค์ทรงเครื่องสวยงาม เป็นฝีมือช่างสมัยพระเมืองแก้ว ต่อมาในสมัยเจ้าแก้วนวรัฐได้มีการซ่อมแซมขึ้นใหม่ ประมาณ พ.ศ. 2467 ที่ฐานหอไตรปั้นเป็นลายลูกฟักลดบัวภายในประดับด้วยรูปสัตว์หิมพานต์ และประจำยาม ที่มีลักษณะละม้ายลายสมัยราชวงศ์เหม็งของจีน

นอกจากนี้ยังมีวิหารลายคำ เป็นวิหารทรงพื้นเมืองล้านนาขนาดเล็กกระทัดรัด ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ที่ผนังวิหารมีภาพจิตรกรรมโดยรอบ ด้านเหนือเขียนเป็นเรื่องสังข์ทอง ด้านใต้เป็นเรื่องสุวรรณหงส์ ภาพจิตรกรรมดังกล่าวมีความน่าสนใจมากทีเดียว โดยเฉพาะเรื่องสังข์ทองพบเพียงแห่งเดียวที่นี่ ลักษณะเด่นของภาพจิตรกรรมที่พบในล้านนา อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้สรุปไว้ว่า
” จิตรกรรมในภาคเหนือนิยมเขียนภาพชีวิตประจำวัน เป็นภาพเหมือนชีวิตจริง ถ้าเรามองดูภาพที่งดงามเรื่องสังข์ทองในวิหารลายคำ วัดพระสิงห์ จ.เชียงใหม่ เราจะรู้สึกคล้ายกับว่า เราเข้าไปอยู่ในสภาพการณ์ที่เป็นจริงตามความเป็นอยู่เมื่อ 100 ปีก่อน ”

พญาผายู กษัตริย์เชียงใหม่ราชวงศ์เม็งราย โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1888 ขั้นแรกให้ก่อสร้างเจดีย์สูง 23 วา เพื่อบรรจุพระอัฐิของพญาคำฟู พระราชบิดา ต่อมาอีก 2 ปี จึงได้สร้างพระอาราม เสนาสนวิหาร ศาลาการเปรียญ หอไตร และกุฏิสงฆ์ เมื่อเสร็จเรียบร้อย ทรงตั้งชื่อว่า “วัดลีเชียงพระ” สมัยพระเจ้าแสนเมืองมา ขึ้นครองนครเชียงใหม่ โปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาจากเมืองเชียงราย เมื่อขบวนช้างอัญเชิญมาถึงหน้าวัด ช้างก็ไม่ยอมเดินทางต่อ พระเจ้าแสนเมืองมา จึงโปรดให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ประดิษฐาน ณ วัดลีเชียงพระ ประชาชนทางเหนือนิยมเรียกพระพุทธสิหิงค์ ว่า “พระสิงห์” จึงเป็นที่มาของชื่อ “วัดพระสิงห์” ในปี พ.ศ. 2360 พระญาธัมมลังกา หรือพระเจ้าช้างเผือกธรรมลังกา พระอนุชาของพระเจ้ากาวิละ โปรดให้บูรณะพระอุโบสถและพระเจดีย์

ต่อมาในปี พ.ศ. 2467 เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์สุดท้าย พร้อมด้วยครูบาศรีวิชัย และประชาชนชาวเชียงใหม่ ได้ร่วมกันบูระฃณะปฏิสังขรณ์วัดพระสิงห์อีกครั้ง และได้มีการขุดพบสิ่งของมีค่ามากมาย อาทิ แผ่นทองคำจารึกเรื่องราวต่างๆ โกศบรรจุอัฐิพระญาคำฟู แต่สิ่งของเหล่านี้สูญหายไปในช่วงสงครามเอเชียบูรพา และในปี พ.ศ. 2493 วัดพระสิงห์(ศาสนา) ได้รับโปรดเกล้าให้เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร

พระพุทธสิหิงค์ หรือ พระสิงห์ เป็นพระพุทธรูปโบราณหล่อด้วยสำริดหุ้มทอง ปางสมาธิ สูง 79 เซนติเมตร หน้าตักกว้าง 63 เซนติเมตร เป็นศิลปะแบบลังกา ตามประวัติกล่าวว่า พระเจ้าสีหฬะ พระมหากษัตริย์แห่งลังกาทวีป ทรงสร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ. 700 ต่อมา เจ้านครศรีธรรมราชได้ไปขอมาถวายพระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยาได้กรุงสุโขทัยเป็นเมืองขึ้น จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา

ต่อมาได้มีผู้นำไปไว้ที่เมืองกำแพงเพชรและเชียงราย เมื่อพระเจ้าแสนเมืองมา เจ้านครเชียงใหม่ยกทัพไปตีเมืองเชียงรายได้ จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่เชียงใหม่พร้อมกับพระแก้วมรกต เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตีเมืองเชียงใหม่ได้เมื่อ พ.ศ. 2205 ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่วัดพระศรีสรรเพชญ์กรุงศรีอยุธยาเป็น เวลานานถึง 105 ปี

เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แก่พม่าใน พ.ศ. 2310 ชาวเชียงใหม่ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับไปที่เชียงใหม่ เมื่อมณฑลพายัพได้กลับมาเป็นของไทยในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทโปรดให้อัญเชิญลงมายังกรุงเทพมหานครเมื่อปี พ.ศ. 2338

ปัจจุบันพระพุทธสิหิงค์ ประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระราชวังบวรสถานมงคล โดยจะมีพิธีเชิญออกมาช่วงเทศกาลสงกรานต์ให้ประชาชนไทยได้สักการะและสรงน้ำ ส่วนพระสิงห์ที่ประดิษฐานที่วัดแห่งนี้เป็นพระพุทธรูปจำลอง

ขอขอบคุณ เนื้อหาจาก
วิกิพีเดีย

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .