พุทธปัญจภาคีวารีปาฏิหาริย์ เล่าขานตำนานหลวงพ่อลอยน้ำ 5 พี่น้อง–ตำนานของ “หลวงพ่อวัดไร่ขิง” แห่งแม่น้ำนครชัยศรี วัดไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม

paragraphaeparagraph_3_410

เรื่องราวของพระพุทธรูป 5 พี่น้อง ที่เล่าสืบกันมาว่าทุกองค์พร้อมใจลอยน้ำมาจากทางเหนือ เพื่อจะช่วยปลดเปลื้องทุกข์ให้คนเมืองใต้ บัดนี้เรื่องราวได้ดำเนินมาจนถึง พระพุทธรูปองค์สุดท้ายที่ลอยมาตามแม่น้ำนครชัยศรี และขึ้นประดิษฐานที่วัดไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม ชาวบ้านขนานนามท่านว่า “หลวงพ่อวัดไร่ขิง”

ประวัติความเป็นมา

ความเป็นมาของหลวงพ่อวัดไร่ขิงนั้น มีตำนานเรื่องหนึ่งที่เล่าสืบกันมาพอเป็นเค้า แต่ยังไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดนักว่า ในสมัยที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมราชานุวัตร ในปี พ.ศ.2394 นั้น ท่านได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นไปครอง วัดศาลาปูนวรวิหาร อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นเจ้าคณะใหญ่กรุงเก่า วันหนึ่งท่านได้ลงไปที่วัดไร่ขิง เมื่อท่านเข้าไปในพระอุโบสถกราบพระประธานแล้ว ท่านก็ได้สนทนากับเจ้าอาวาสวัดไร่ขิงว่า “โบสถ์ใหญ่โต แต่พระประธานเล็กไปหน่อย” เจ้าอาวาสวัดไร่ขิงกราบเรียนท่านว่า “วัดไร่ขิงเป็นวัดจนๆ ไม่สามารถสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ๆ ได้” เมื่อทราบดังนั้นท่านจึงบอกว่าที่วัดของท่านมีอยู่องค์หนึ่งให้เจ้าอาวาสไปอัญเชิญมาได้

เมื่อสมเด็จฯ กลับไปแล้วไม่นาน เจ้าอาวาสวัดไร่ขิงพร้อมทั้งกรรมการวัดได้เดินทางไปยังวัดศาลาปูน และอัญเชิญพระพุทธรูปดังกล่าวลงแพที่ใช้ไม้ไผ่มัดล่องลงมาตามลำน้ำเจ้าพระยา เข้าแม่น้ำนครชัยศรี จนกระทั่งถึงวัดไร่ขิง ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันทำพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถแทนองค์เดิมตั้งแต่นั้นมา และขนานนามพระพุทธรูปองค์ใหม่นี้ตามนามของวัดว่า “หลวงพ่อวัดไร่ขิง”

 

พุทธลักษณะ

หลวงพ่อวัดไร่ขิง เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสัมฤทธิ์ ประทับนั่งปางมารวิชัยแบบประยุกต์ พระรูปมีลักษณะผึ่งผายคล้ายแบบเชียงแสน พระหัตถ์เรียวงามตามแบบสุโขทัย แต่เฉพาะพระพักตร์ดูคล้ายแบบรัตนโกสินทร์ ประดิษฐานเหนือฐานชุกชี มีขนาดหน้าตักกว้าง 4 ศอก 2 นิ้ว สูง 4 ศอก 16 นิ้วเศษ
ในวันที่ชาวบ้านทำพิธีอัญเชิญหลวงพ่อขึ้นจากแพไม้ไผ่ ตรงกับวันพระขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ซึ่งเป็นวันสงกรานต์พอดี จึงมีชาวบ้านมาร่วมเป็นจำนวนมาก ขณะที่กำลังอัญเชิญหลวงพ่อขึ้นจากแพสู่ปะรำพิธีนั้น ได้เกิดเหตุการณ์เป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก เพราะแสงแดดที่แผดจ้าพลันหายไป บังเกิดเป็นเมฆดำทะมึน ลมปั่นป่วน ฟ้าคะนองกึกก้อง ฝนโปรยปรายลงมา ยังความฉ่ำเย็นกันทั่วหน้า ทุกคนในที่นั้นเกิดความปีติโสมนัสยิ่งนัก พากันอธิษฐานเป็นเสียงเดียวกันว่า

“หลวงพ่อจักทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ดับความร้อนคลายความทุกข์ให้หมดไป ดุจสายฝนที่เมทนีดลให้ชุ่มฉ่ำ เจริญงอกงามด้วยธัญญาหาร ฉะนั้น”

และนับตั้งแต่ที่หลวงพ่อมาประดิษฐานที่วัดไร่ขิง ก็มีประชาชนพากันมาเคารพสักการะมิได้ขาด โดยเฉพาะวันหยุดและวันนักขัตฤกษ์ อุโบสถของหลวงพ่อจะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนจากทุกสารทิศ ที่ได้ยินได้ฟังและได้ประสบในความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อ

 

ความศักดิ์สิทธิ์

เรื่องราวเกี่ยวกับอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อวัดไร่ขิง มีผู้คนเล่าไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางด้านแคล้วคลาด ทางด้านเจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆ เช่น เรื่องของหญิงวัยกลางคนซึ่งถูกฟ้าผ่ากลางท้องนา แต่ไม่ตาย ทั้งๆ ที่หมอที่รับรักษาบอกว่าถ้าโดนอย่างนี้ไม่เคยมีรอดสักรายเดียว ทั้งนี้เพราะห้อยเหรียญรูปหลวงพ่อนั่นเอง

หรือเรื่องของสุภาพสตรีท่านหนึ่งอยู่ที่อเมริกา มีอาการชาที่ริมฝีปาก รักษาเท่าไหร่ก็ไม่หาย ญาติพี่น้องทางเมืองไทย ซึ่งนับถือหลวงพ่อวัดไร่ขิง จึงได้ส่งพระรูปจำลององค์เล็กๆ ไปให้ บอกว่าให้อธิษฐานจิตขอให้หลวงพ่อช่วย สุภาพสตรีท่านนี้ก็ทำตาม คืนหนึ่งเธอฝันเห็นหลวงพ่อ คิดว่าท่านได้มาช่วยแล้ว ในที่สุดก็หายจากโรคดังกล่าว และได้ส่งเงินมาถวายร่วมสร้างโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) เป็นจำนวนมาก

และยังมีเรื่องของชายคนหนึ่งที่รอดชีวิตจากโจรปล้นรถ เพราะขณะที่กำลังอยู่ในนาทีวิกฤตนั้นเขานึกถึงหลวงพ่อวัดไร่ขิง อธิษฐานว่าหากรอดตายจะบวชถวายหลวงพ่อหนึ่งพรรษา แล้วเขาก็รอดตายจริงๆ สุดท้ายก็มาบวชถวายที่วัดไร่ขิง ตามที่ได้บนบานไว้

ส่วนเรื่องน้ำมนต์ของหลวงพ่อวัดไร่ขิง เป็นที่น่าเชื่อถือมานานแล้วว่ารักษาโรคภัยไข้เจ็บปวดหัวตัวร้อนได้ชงัดนัก แม้แต่วัวควายเป็นไข้ก็รักษาให้หายได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้ที่มากราบหลวงพ่อ นิยมนำน้ำมนต์กลับบ้านทุกราย เดิมที่วัดจัดเป็นถุงพลาสติกใบเล็กๆ ให้ใส่ แต่เมื่อมีผู้คนต้องการมากขึ้น และการใส่ถุงพลาสติกก็อาจแตกกลางทางได้ ้ทางวัดจึงบรรจุน้ำมนต์ใส่ในขวดพลาสติก เพื่ออำนวยสะดวกแก่สาธุชนผู้มีจิตศรัทธา ซึ่งจะหลั่งไหลมากราบไหว้หลวงพ่อเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน

บนบานศาลกล่าว

ทุกวันจะมีประชาชนจากทั่วสารทิศมากราบไหว้หลวงพ่อ บนบานขอพรให้ท่านช่วย โดยเฉพาะในวันเสาร์-วันอาทิตย์ ซึ่งผู้คนมากันอย่างล้นหลาม เสียงประทัดจะดังกึกก้องไปทั่วบริเวณพระอุโบสถ อย่างต่อเนื่องยาวนานในแต่ละวัน ซึ่งบอกให้รู้ว่า คนที่ได้รับพรจากหลวงพ่อแล้วสมปรารถนานั้น พากันมาแก้บนนั่นเอง และนอกจากประทัดแล้ว สิ่งที่ผู้คนบอกต่อๆ มาว่าเป็นของโปรดของหลวงพ่ออีกอย่างหนึ่งก็คือ ว่าว และเมื่อแก้บนขอพรเสร็จแล้ว ก่อนกลับทุกรายจะไปรับน้ำมนต์ ซึ่งถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกอย่างหนึ่ง

แต่เรื่องที่ห้ามบนบานศาลกล่าวก็คือ เรื่องขอให้ไม่ถูกเกณฑ์ทหาร เหมือนกับพระพี่น้องที่ลอยน้ำมานั่นเอง

งานนมัสการหลวงพ่อวัดไร่ขิง

ทางวัดได้จัดให้มีงานนมัสการหลวงพ่อปีละ 3 ครั้ง คือ

– ในเทศกาลวันออกพรรษา วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งทางวัดได้จัดงานตักบาตรเทโว และฟังเทศน์ จึงถือเป็นโอกาสให้มีการปิดทองนมัสการหลวงพ่อด้วย

– ในเทศกาลตรุษจีน เพื่อให้ชาวจีนที่เคารพบูชาหลวงพ่อ ได้มีโอกาสกราบไหว้ปิดทองถวายเป็นพุทธบูชา

– ในงานเทศกาลนมัสการปิดทองรูปหลวงพ่อประจำปี ซึ่งจัดขึ้นในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 5 จนถึง วันแรม 3 ค่ำ เดือน 5

งานเทศกาลนมัสการหลวงพ่อวัดไร่ขิงทุกงาน จะเนืองแน่นไปด้วยสาธุชนและประชาชนทั่วไปจากใกล้ไกลที่มีจิตศรัทธาอย่างแรงกล้า เพื่อมากราบไหว้องค์หลวงพ่ออย่างแท้จริง เพราะทุกคนเชื่อว่า องค์หลวงพ่อไม่ได้เป็นแค่พระอิฐพระปูนธรรมดาๆ เท่านั้น

จบเรื่องราวของพระห้าพี่น้อง คือ หลวงพ่อโสธร จ.ฉะเชิงเทรา, หลวงพ่อบ้านแหลม จ.สมุทรสงคราม, หลวงพ่อ (ทอง) เขาตะเครา จ.เพชรบุรี, หลวงพ่อโต จ.สมุทรปราการ และหลวงพ่อวัดไร่ขิง จ.นครปฐม ในชุดพุทธปัญจภาคีวารีปาฏิหาริย์ แต่เพียงเท่านี้

 

ขอขอบคุณhttp://www.dhammajak.net/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .