วัดไตรมิตรวิทยาราม วรวิหาร วัดใหญ่ใจกลางเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร นอกจากจะเป็นศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์และมี “พระพุทธทศพลญาณ” หรือ “หลวงพ่อโต วัดสามจีน” ซึ่งมีผู้คนนิยมมากราบไหว้ขอพรกันทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ รวมถึงสิ่งซึ่งเป็นที่สุดของโลกอย่าง “พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร” หรือ “หลวงพ่อทองคำ” ให้ได้ชมอีกด้วย
วัดไตรมิตรวิทยารามแห่งนี้ ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร มีที่ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุงใกล้ ๆ กับสถานีรถไฟหัวลำโพงที่เราคุ้นเคยกันดี แต่เดิมวัดแห่งนี้มีชื่อเรียกว่า “วัดสามจีนใต้” ซึ่งชาวบ้านในสมัยนั้น ได้ตั้งชื่อวัดตามจำนวนของผู้ก่อสร้างที่เป็นชาวจีน 3 คน แต่ทั้งนี้ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยใด จวบจนเวลาล่วงเลยผ่านไปจนถึงปี พ.ศ.2482 จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อจาก “วัดสามจีน” มาเป็น “วัดไตรมิตรวิทยาราม” ดังที่รู้จักกันอยู่ในปัจจุบันนั่นเอง
สำหรับการมาเที่ยวชมและนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่วัดแห่งนี้เราขอแนะนำว่า ให้ใช้บริการรถเท็กซี่หรือรถเมล์จะสะดวกที่สุด เพราะถนนโดยรอบวัดมีขนาดไม่กว้างนัก เนื่องจากเป็นถนนสายเก่าที่สร้างขึ้นมาแต่อดีต ซึ่งในปัจจุบันเมื่อมียวดยานพาหนะมากขึ้น การจราจรจึงติดขัดเป็นเงาตามตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้พื้นที่ในบริเวณวัดที่จัดไว้สำหรับจอดรถก็มีพื้นที่จำกัด ดังนั้นผู้ที่จะนำรถยนต์มาเองจึงอาจจะไม่สะดวกเท่าที่ควร
เมื่อมาถึงวัดไตรมิตรแห่งนี้ สิ่งแรกที่เราเลือกปฏิบัติตามแบบอย่างพุทธศาสนิกชนไทยที่ดีก็คือ การเข้าไปกราบนมัสการและขอพระประธาน “พระพุทธทศพลญาณ” หรือ “หลวงพ่อโต วัดสามจีน” นั่นเอง ซึ่งพระพุทธทศพลญาณหรือหลวงพ่อโตที่ประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถหลังนี้ นับเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ที่มีพระพุทธลักษณะงดงามมาก ซึ่งเรื่องนี้มีหลักฐานบันทึกยืนยันไว้ว่า ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อ ทรงทราบว่าพระประธานวัดสามจีนใต้แห่งนี้มีพุทธลักษณะที่งดงาม จึงได้เสด็จมาเพื่อทอดพระเนตรให้ประจักษ์ว่าสมคำเล่าลือที่กล่าวอ้างกันหรือ ไม่ ซึ่งเมื่อได้ทอดพระเนตรด้วยพระองค์เองแล้วจึงมีรับสั่งว่า งดงามตามอย่างคำเล่าลือจริง ๆ หรือแม้แต่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัติวงศ์ ก็ยังเสด็จมาชมพระประธานของวัดสามจีนใต้แห่งนี้อยู่เสมอเมื่อทรงว่างจากพระ ภารกิจ
นอกจากความงดงามของพระประธานแล้ว บริเวณด้านในพระอุโบสถหลังนี้ ยังมีพระพุทธรูปโบราณที่ประดิษฐานอยู่ภายในให้กราบไหว้ขอพรกันอีกด้วย ส่วนบริเวณรอบ ๆ พระอุโบสถก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่อีกมากมายไม่ว่าจะเป็นอาคารพระอุโบสถที่ ทำการก่อสร้างแบบเฟอร์โรคอนกรีตทรงจัตุรมุข หลังคาสามชั้นรวมถึงชานรอบพระอุโบสถที่ต้องอาศัยฝีมือช่างผู้ชำนาญงานในการ ก่อสร้าง บานประตูและหน้าต่างที่เขียนลายรดน้ำไว้อย่างวิจิตรบรรจง รวมถึงรูปหล่อสิงห์สำริดที่ตั้งไว้บริเวณทางขึ้นพระอุโบสถให้ได้ชมกันอีก ด้วย
หลังจากกราบนมัสการพระประธานและเดินชมความงามของพระอุโบสถโดยรอบอย่างทั่วถึงแล้ว เราจึงมุ่งหน้าไปยัง “พระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา” ที่ ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้ ๆ กันต่อไป ซึ่งพระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาแห่งนี้ สร้างขึ้นมาด้วยจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธมหาสุวรรณปฎิมากร” หรือ “หลวงพ่อทองคำ” นั่นเอง โดยตัวอาคารทั้งหมดจะมีด้วยกัน 4 ชั้น ซึ่งบริเวณชั้นบนสุดจะเป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อทองคำ ชั้นที่ 2 และ 3 เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชน ส่วนบริเวณชั้นล่างสุดจะเป็นพื้นที่จอดรถ ซึ่งพระมหามณฑปนี้ตัวอาคารทั้งหลังจะสร้างขึ้นจากหินอ่อนและออกแบบตามลักษณะ ของอาคารทรงไทยวิจิตรศิลป์ที่มีความงดงามและดูยิ่งใหญ่อลังการมาก
เมื่อเราเดินขึ้นไปถึงบริเวณชั้น 4 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของพระมหามณฑปแห่งนี้ สิ่งแรกที่เราเห็นอยู่เบื้องหน้าก็คือ พระพุทธมหาสุวรรณปฎิมากร พระ พุทธ รูปปางมารวิชัยที่มีพุทธลักษณะอันงดงามและมีสีทองเหลืองอร่ามไปทั่วทั้งองค์ ซึ่งตามประวัติบันทึกไว้ว่า แต่เดิมพระพุทธรูปองค์นี้ ประดิษฐานเป็นพระประธานอยู่ที่วัดพระยาไกรมาตั้งแต่สมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ในลักษณะขององค์พระที่ถูกพอกปิดด้วยปูนทั่วทั้งองค์
ต่อมาจึงได้มีการอันเชิญมาประดิษฐานที่วัดสามจีนใต้ (วัดไตรมิตรฯ) เนื่องจากมีพื้นที่เหมาะสมกว่า ซึ่งการเคลื่อนย้ายนั้นเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะเนื่องจากองค์พระมีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมากจนต้องใช้ปั้นจั่นยก แต่ในขณะที่ทำการยกองค์พระเพื่อนำขึ้นวิหารได้เพียง 1 คืบ ก็ปรากฏว่าลวดสลิงที่ใช้ยึดเกิดขาดเพราะทานน้ำหนักองค์พระไม่ไหว องค์พระพุทธรูปจึงตกลงกระแทกพื้นอย่างแรงเสียงดังสนั่นไปทั่ว พอดีกับเวลานั้นเป็นเวลาใกล้ค่ำและฝนก็บังเอิญตกลงมาอย่างหนัก การอัญเชิญพระพุทธรูปในวันนั้นจึงเป็นอันต้องยุติลง จนเมื่อถึงเวลาเช้าของวันรุ่งขึ้น ท่านเจ้าอาวาสจึงได้มาตรวจดูองค์พระ เพื่อที่จะหาทางอัญเชิญขึ้นประดิษฐานใหม่แล้วก็ได้พบรอยแตกที่พระอุระ (ทรวงอก) และเห็นรักที่ฉาบผิวองค์พระด้านใน เมื่อลองแกะรักออกจึงได้พบกับเนื้อทองคำบริสุทธิ์งามจับตา ท่าน เจ้าอาวาสจึงสั่งให้มีการกะเทาะปูนและลอกรักออกทั้งหมด ความงดงามแห่งเนื้อทองบริสุทธิ์ขององค์พระปฏิมาจึงปรากฏให้เห็นพร้อมพุทธ ลักษณะที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สกุลช่างสุโขทัย ที่งดงามจับตาจับใจผู้พบเห็นยิ่งนัก ซึ่งการค้นพบพระพุทธรูปทองคำในครั้งนั้น ได้กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วทั้งประเทศ สื่อแขนงต่าง ๆ หลายฉบับ ต่างก็พากันประโคมข่าวอย่างกว้างขวาง แม้แต่หนังสือกินเนสบุ๊ค ฉบับปี ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) ก็ยังระบุไว้ว่า “พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร นับเป็นพระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก”
มื่อได้กราบไหว้หลวงพ่อทองคำและชื่นชมกับความงามอันเป็นที่สุดของโลกจนเต็ม อิ่มแล้ว เราจึงเดินลงมายังชั้น 3 ของพระมหามณฑป ซึ่งได้จัดไว้เป็นห้องแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับหลวงพ่อทองคำ “จากพุทธศิลป์สุโขทัย สู่พุทธสมัยปัจจุบัน” โดยแบ่งเป็นหัวข้อนิทรรศการตั้งแต่บทนำ การกำเนิดพระพุทธรูป การสร้างพระพุทธสุวรรณปฏิมากร และเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลวงพ่อทองคำ ผ่านสื่อมัลติมิเดียต่าง ๆ เช่น วิดีทัศน์ แสง สี เสียง บอร์ดนิทรรศการ หุ่นจำลองต่าง ๆ ที่น่าสนใจมากมาย ซึ่งประวัติเหตุการณ์ปูนกะเทาะจนเผยให้เห็นองค์พระทองคำก็อยู่ในชั้นนี้เช่น กัน
ขอขอบคุณ http://www.thetrippacker.com/