หลวงพ่อพระทอง หรือ พระผุด ตั้งอยู่ภายใน วัดพระทอง หรือ วัดพระผุด ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เป็นหนึ่งใน Unseen Thailand ของจังหวัดภูเก็ต อีกทั้งยังเป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แต่เดิมที่ตั้งของ วัดพระทอง เป็นทุ่งนากว้าง มีน้ำไหลผ่านลำคลอง มีทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงโค กระบือ ของชาวเมืองถลาง ในสมัยนั้นชาวบ้านเรียกว่า “ทุ่งนาใน” น้ำในลำคลองไหลมาจากน้ำตกโตนไทร ต่อมา “ทุ่งนาใน” ได้มีบ้านคนอยู่อาศัยมากขึ้น จึงถูกเรียกว่า “บ้านนาใน” ถึงทุกวันนี้
สำหรับความเป็นมาของ พระผุด ยังไม่มีหลักฐานที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร มีแต่คำบอกเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นคนไทย และคนจีนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองไทยเป็นเวลานาน และมีนิทานเล่าต่อ ๆ กันมาว่า มีเด็กจูงควายไปกินหญ้ากลางทุ่งนา และเอาเชือกผูกล่ามไว้กับพระเกตุมาลา เพราะคิดว่าเป็นไม้ พอกลับถึงบ้านเด็กตาย ควายก็ตาย ต่อมาพ่อของเด็กฝันถึงเหตุที่เด็กและควายตาย เนื่องจากลูกชายเอาเชือกล่ามควายไปผูกกับพระเกตุมาลา รุ่งขึ้นไปดูจึงรู้ว่าเป็นพระพุทธรูป แต่ ท่านพระครูสุวรรณพุทธาภิบาล ได้บันทึกไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 ซึ่งมีหลักฐาน ดังนี้…
หลวงพ่อพระทอง (พระผุด) ชาวบ้านคนไทยในจังหวัดภูเก็ต เรียกว่า “พระผุด” เพราะเป็นพระพุทธรูป ผุดเพียงพระเกตุมาลา สูงประมาณ 1 ศอก คนจีนเรียกว่า “ภู่ปุ๊ค” (พู่ฮุก) เพราะคนจีนเชื่อกันว่า พระผุด มาจากเมืองจีน คนจีนในภูเก็ต พังงา ตะกั่วป่า ท้ายเหมือง และกระบี่ ต่างเคารพนับถือพระพุทธรูปองค์นี้มาก เมื่อถึงเทศกาลตรุษจีน (เดือน 3) ก็พากันมานมัสการ เป็นประเพณีมาจนถึงทุกวันนี้
ทั้งนี้ เหตุที่คนจีนอ้างว่า พระผุด มาจาดเมืองจีนนั้น มีเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมา เมื่อสมัยสองพันปีเศษ เมืองเซี่ยงไฮ้ของจีนมีพระพุทธรูป 3 องค์ โดยตระกูลเจ้าเมืองของจีน 3 พี่น้อง เป็นผู้สร้างพระพุทธรูปทองคำ 3 องค์ เล่ากันว่า พี่องค์แรกครองเมือง 25 ปี ไม่มีมเหสีและโอรสธิดา เมื่อสวรรคตองค์น้องที่สองได้ขึ้นครองราชย์ เก็บทองคำทั้งหมดหล่อเป็นพระพุทธรูป ไว้บูชาแทนองค์แรก องค์ที่ 2 ครองราชย์อยู่ 23 ปี ก็สวรรคต องค์น้องสุดท้องขึ้นครองราชย์ และเก็บเอาทองคำขององค์ที่ 2 ทั้งหมด หล่อเป็นพระพุทธรูป ซึ่งใหญ่กว่าองค์แรกเป็นพระพุทธรูปไว้บูชาแทนองค์กลาง น้ององค์ที่ 3 ครองราชย์ได้ 8 ปี ก็สวรรคต
เจ้าต่างเสวยราชย์ต่อจากองค์ที่ 3 ก็เก็บเอาทองของพระเจ้าแผ่นดินมาหล่อเป็นพระพุทธรูป รวมเป็นพระพุทธรูป 3 องค์ เป็นพระพุทธรูปที่สวยงามมาก ต่อมาเซี่ยงไฮ้ได้เสียให้แก่ชนชาวธิเบต ชาวธิเบตได้นำเอาพระพุทธรูป 1 ใน 3 องค์ ลงเรือมาทางทะเลเข้ามาทางมหาสมุทรอินเดียเพื่อไปประเทศธิเบต เรือเกิดล่ม พายุพัดเข้ามาชายฝั่งพังงา เรือจมลงมีการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกบริเวณเรือจม กลายเป็นเกาะในเวลาต่อมา บริเวณใกล้องค์พระพุทธรูป มีลำคลองไหลผ่าน เมื่อฝนตกหนักน้ำท่วมเซาะดินให้ต่ำลง หลวงพ่อก็โผล่ให้เห็นเพียงพระเกตุมาลา ส่วนองค์พระนั้นคงอยู่ใต้ดินยังขุดไม่ได้
ขณะที่ประวัติอีกหนึ่งเล่าว่า เมื่อคราวศึก พระเจ้าปะดุง ยกพลมาตีเมืองถลาง พ.ศ. 2328 ทหารพม่าพยายามขุดพระผุดเพื่อนำกลับไปพม่า แต่ขุดลงไปคราวใดก็มีฝูงแตนไล่ต่อย จนต้องละความพยายาม ต่อมาชาวบ้านได้นำทองหุ้มพระพุทธรูปที่ผุดจากพื้นดินเพียงครึ่งองค์ ดังปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ วัดพระทอง ยังเป็นที่ตั้งของ “พิพิธภัณฑสถานวัดพระทอง” เป็นที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุข้าวของเครื่องใช้ของชาวภูเก็ต เช่น “จังซุ่ย” เสื้อกันฝนชาวเหมืองแร่ดีบุก รองเท้าตีนตุกของสตรีเชื้อสายจีน ที่ต้องมัดเท้าให้เล็กตามค่านิยมของสังคมสมัยนั้น พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน เวลา 07.00-17.00 น.
การเดินทาง
วัดพระทอง อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ 21 กิโลเมตร ไปตามถนนเทพกษัตรีผ่านสี่แยกอำเภอถลาง ถึงที่ว่าการอำเภอถลางทางด้านขวาจะมีทางแยกเข้าวัดพระทอง
ขอขอบคุณ http://travel.kapook.com