วัดพระธาตุช่อแฮ จ.แพร่ สักการะพระธาตุช่อแฮ หลวงพ่อวัดพระธาตุช่อแฮ ไหว้ขอพรพระเจ้าทันใจ
วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง เป็นวัดศักดิ์สิทธิ์ เก่าแก่ คู่บ้าน คู่เมืองจังหวัดแพร่และเป็นวัดพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล
วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ที่ 11 ถนนช่อแฮ ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ บนเนื้อที่ 175 ไร่ บุคคลใดที่มาเที่ยวจังหวัดแพร่แล้วจะต้องมานมัสการพระธาตุช่อแฮ เพื่อเป็นศิริมงคลกับตนเอง จนมีคำกล่าวว่า ถ้ามาเที่ยวจังหวัดแพร่ แต่ไม่ได้มานมัสการพระธาตุช่อแฮเหมือนไม่ได้มาจังหวัดแพร่แพร่ การเดินทางมาเที่ยววัดพระธาตุช่อแฮ ถนนสายหลัก คือ ถนนช่อแฮ เริ่มตั้งแต่สี่แยกบ้านทุ่ง อำเภอเมืองแพร่ ซึ่งเป็นสี่แยกใจกลางเมืองแพร่ เข้าสู่ถนนช่อแฮ และตรงไปตามถนนช่อแฮ ผ่านโรงพยาบาลแพร่ สนามบินจังหวัดแพร่ หมู่บ้านเหล่า หมู่บ้านนาจักร หมู่บ้านแต หมู่บ้านมุ้ง สถานที่ตั้งของวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง อยู่ในบริเวณเขตเทศบาลตำบลช่อแฮ ด้วยระยะทาง 9 กิโลเมตร จากตัวเมืองจังหวัดแพร่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกวัดพระธาตุช่อแฮ ตำบลช่อแฮ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2549 โดยได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับทั่วไป เล่ม 123 ตอนที่ 96 ง วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 (พ.ศ. 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้มวลสารจากพระธาตุช่อแฮ ทำพระสมเด็จจิตรลดา
วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง เป็นวัดที่ตั้งอยู่เนินเขาเตี้ยสูงประมาณ 28 เมตร องค์พระธาตุช่อแฮเป็นเจดีย์ ศิลปะเชียงแสน แบบแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง บุด้วยทองดอกบวบหรือทองจังโก องค์พระธาตุสูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 11 เมตร ลักษณะองค์พระธาตุตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยม 1 ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยม 3 ชั้นรองรับ ถัดไปเป็นฐานบัวคว่ำและชุดท้องไม้แปดเหลี่ยม ซ้อนลดชั้นกันขึ้นไป 7 ชั้น จากนั้นเป็นบัวระฆัง 1 ชั้น และหน้ากระดานหนึ่งชั้น จนถึงองค์ระฆังแปดเหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังค์ย่อมุมไม้สิบสองและปล้องไฉน ส่วนยอดฉัตรประดับตกแต่งด้วยเครื่องบนแบบล้านนา มีรั้วเหล็กรอบองค์พระธาตุ 4 ทิศ มีประตูเข้าออก 4 ประตู แต่ละประตูได้สร้างซุ้มแบบปราสาทล้านนาไว้อย่างสวยงาม
ตำนานพระธาตุช่อแฮในพระราชพงศาวดารว่าด้วยกรุงสุโขทัย
พระราชพงศาวดารว่าด้วยกรุงสุโขทัย หอสมุดแห่งชาติ กล่าวถึงวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวงว่า สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 1879-1881 ในสมัยที่พระมหาธรรมราชา (ลิไท) ยังทรงเป็นพระมหาอุปราชซึ่งครองเมืองศรีสัชนาลัยอยู่ในครั้งนั้น พระองค์โปรดให้สร้างสถานที่สำคัญทางศาสนาตามที่ปรากฏในพุทธประวัติในที่ต่าง ๆ รวมทั้งที่เมืองแพร่ซึ่งอยู่ในขอบขัณฑสีมาของกรุงสุโขทัย พระมหาธรรมราชาลิไทพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุแก่ขุนลัวะอ้ายก้อมให้นำมาบรรจุไว้ในฐานเจดีย์ เมื่อขุนลัวะอ้ายก้อมมาถึงบริเวณดอยโกสิยธชัคคะเห็นว่าทำเลดีจึงสร้างเจดีย์ขึ้น และนำผอบพระบรมสารีริกธาตุบรรจุบรรจุไว้ในสิงห์ทองคำ สร้างแท่นที่ตั้งผอบด้วยเงินและทอง แล้วตั้งสิงห์ทองคำไว้โดยโบกปูนทับอีกชั้นหนึ่ง หลังจากนั้นก็จัดงานบำเพ็ญกุศลเฉลิมฉลอง 7 วัน 7 คืน ภายหลังเมืองแพร่ถูกรวมเข้ากับอาณาจักรล้านนาไทยกษัตริย์ล้านนาก็ทรงได้ทะนุบำรุงพระธาตุช่อแฮตามลำดับ จนกระทั่งราชวงศ์นี้หมดอำนาจลง พระธาตุช่อแฮก็ทรุดโทรมเป็นอันมากจนล่วงมาถึง พ.ศ. 2467 พระครูบาศรีวิชัย (หรือตุ๊เจ้าวัดบ้านปางจังหวัดลำพูน) ได้เป็นประธานบูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัดแพร่ และมีพระมหาเมธังกร (พรหม พรหมเทโว) อดีตเจ้าคณะจังหวัดแพร่ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ในการบูรณปฏิสังขรณ์ จนทำให้พระธาตุช่อแฮกลับมามีความงดงาม และเป็นแหล่งเชิดหน้าชูตาของจังหวัดแพร่ และเป็นแหล่งเชิดหน้าชูตาของจังหวัดแพร่
ตำนานพระธาตุช่อแฮในตำนานพระเจ้าเลียบโลก
ตำนานพระธาตุช่อแฮในตำนานพระเจ้าเลียบโลก กล่าวถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระองค์ได้เสด็จมาถึงเมืองพล (เมืองแพร่) ประทับ ณ ดอยโกสิยธชัคคะบรรต ขณะนั้นหัวหน้าชาวลั๊วะชื่อ ขุนลั๊วะอ้ายก้อม ได้มากราบไหว้พระพุทธเจ้าที่ดอยนี้ พระพุทธเจ้าได้แสดงปาฏิหารย์เคี้ยวหมากเมาให้ขุนลั๊วะอ้ายก้อมเห็นและประทานพระบรมสารีริกธาตุ (พระเกศาธาตุ) เป็นที่ระลึก โดยเอาเส้นผมพระเกศาเส้นหนึ่งให้แก่ขุนลั๊วะอ้ายก้อมแล้วรับสั่งให้เอาไปไว้ในถ้ำที่อยู่ใกล้ ๆ และรับสั่งอีกว่าเมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพานไปแล้ว ให้เอาพระบรมสารีริกธาตุพระข้อศอกข้างซ้าย มาบรรจุไว้ ณ สถานที่นี้ และเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพานไปแล้ว 218 ปี สมเด็จพระเจ้าอโศกมหาราชและพระอรหันต์ทั้งปวงได้ร่วมอธิษฐาน อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุในโกศที่เตรียมไว้นั้น ให้ไปสถิตย์อยู่ในสถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงตั้งไว้ เมื่อสิ้นคำอธิษฐานพระบรมสารีริกธาตุทั้งหลายก็เสด็จออกจากโกศโดยทางอากาศไปตั้งอยู่ที่แห่งนั้น ๆ ทุกแห่ง ส่วนพระบรมสารีริกธาตุที่เหลืออยู่ พระอรหันต์ทั้งปวงก็อัญเชิญไปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่เหลืออยู่ พระอรหันต์ทั้งปวงก็อัญเชิญไปบรรจุในเจดีย์ 84,000 องค์นั้น แล้วประกาศแก่เทวดาทั้งหลายให้พิทักษ์รักษาตลอดไป จนกว่าหมดอายุแห่งพระพุทธศาสนา 5,000 พระวัสสา
ตำนานพระธาตุช่อแฮจากข้อมูลประชาสัมพันธ์ของทางวัดพระธาตุช่อแฮ
ตำนานพระธาตุช่อแฮอีกทางหนึ่ง กล่าวถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าได้เสด็จมาถึงเมืองพล (เมืองแพร่) ประทับ ณ ดอยโกสัยธชัคคะบรรพต ขณะนั้นมีหัวหน้าชาวลั๊วะนามว่าขุนลั๊วะอ้ายค้อม (อ่านว่า “ก้อม” ) ได้มากราบไหว้พระพุทธเจ้าที่บนดอยนี้ พระพุทธเจ้าได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ให้ขุนลั๊วะอ้ายค้อมเห็น เนื่องจากสถานที่นี้เป็นที่ร่มรื่น เหมาะสมที่จะตั้งเป็นสถานที่ไว้ในพระพุทธศาสนา พระองค์ได้ประทานพระบรมสารีริกธาตุที่ระลึก
โดยเอาเส้นพระเกศาเส้นหนึ่งให้แก่ขุนลั๊วะอ้ายก้อมไว้ มีรับสั่งให้เอาเส้นพระเกศานี้ไปไว้ในถ้ำที่อยู่ใกล้บริเวณนี้ พระองค์ทรงรับสั่งอีกว่าเมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ให้เอาพระบรมสารีริกธาตุพระศอกข้างซ้ายมาบรรจุไว้ ณ สถานที่นี้ และต่อไปภายหน้าจะได้ชื่อว่าเมืองแพร่ โดยเป็นเมืองใหญ่ซึ่งพระองค์เคยเสด็จประทับนั่ง ณ ใต้ต้นหมากนี้ เมื่อทรงทำนายแล้วก็เสด็จจาริกไปยังเมืองต่าง ๆ ที่ทรงเห็นว่าควรจะเป็นที่ตั้งพระธาตุได้ จากนั้นจึงเสด็จกลับไปยังพระเชตวันอารามและหลังจากที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว 218 ปี ตรงกับสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้าอโศกมหาราชและพระอรหันต์ทั้งปวงได้ร่วมกันอธิษฐานว่าเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีพระชนม์ชีพอยู่นั้น เคยเสด็จไปยังถิ่นฐานบ้านเมืองหลายแห่ง แล้วทรงหมายสถานที่ที่ควรจะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้
จึงขออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่ได้บรรจุในโกศที่เตรียมไว้นั้นไปสถิตอยู่ในสถานที่ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงหมายไว้นั้นเถิด เมื่ออธิษฐานแล้วพระบรมสารีริกธาตุทั้งหลายก็เสด็จออกจากโกศโดยทางอากาศไปตั้งอยู่ที่แห่งนั้น ๆ ทุกแห่ง ส่วนพระบรมสารีริกธาตุเหลืออยู่ พระอรหันต์ทั้งปวงก็อัญเชิญไปบรรจุในพระเจดีย์ 84,000 องค์นั้น แล้วประกาศแก่เทวดาทั้งหลายให้พิทักษ์รักษาตลอดไป จนกว่าจะหมดอายุแห่พระพุทธศาสนา 5,000 พระวัสสา กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนพระธาตุช่อแฮ เป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 และได้ประกาศกำหนดขอบเขตโบราณสถาน เล่มที่ 97 ตอนที่ 159 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2523
สำหรับชื่อพระธาตุช่อแฮนั้น บ้างว่าได้มาจากชื่อผ้าแพรชั้นดีซึ่งทอจากสิบสองปันนาที่ชาวบ้านนำมาผูกบูชาพระธาตุ บ้างก็ว่ามาจากผ้าแพรที่ขุนลัวะอ้ายก๊อมนำมาถวาย ทุกปีจะมีงานนมัสการพระธาตุในวันขึ้น 9 ค่ำ- ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 (ประมาณเดือนมีนาคม)
พระเจ้าทันใจหรือหลวงพ่อทันใจ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิปูนปั้น ลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 30 นิ้ว สูงประมาณ 2 ศอก (กว้าง 80 ซม. สูง 1.20 ซม) เป็นพระพุทธรูปองค์ใหม่ที่สร้างขี้นเมื่อปี พ.ศ. 2465 ผู้สร้างคือ ชาวไทยใหญ่ (เงี้ยว) สร้างพระพุทธรูปองค์นี้แทนพระพุทธรูปองค์เดิมที่หล่อด้วยจืน (ตะกั่ว) ที่ถูกลักไป พระเจ้าทันใจหรือหลวงพ่อทันใจ (ทางเหนืออ่านว่า พระเจ้าตันใจ๋) เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่มีผู้นิยมมากราบไหว้ บนบานศาลกล่าวอยู่เสมอ เชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปที่ใครมาขอพรแล้ว จะได้สิ่งนั้นอย่างสมประสงค์ ด้านหลังซุ้มพระเจ้าทันใจประดิษฐานอยู่ มีไม้เสี่ยงทายทำด้วยไม้รวก หรือไม้สัก มีความยาวเกิน 1 วา คาดว่าใช้แทนไม้เซียมซี เมื่อผู้ใดต้องการเสี่ยงทายสิ่งใด ก็จะนำไม้ดังกล่าวมาทาบกับช่วงแขนที่กางเหยียดตรงไปจนสุดแขนทั้งสองข้าง ความยาวของวาอยู่ตรงจุดใดของไม้ก็จะ ทำเครื่องหมายไว้แล้วนำไม้มาอธิษฐานเบื้องหน้าพระเจ้าทันใจว่า สิ่งที่ตนประสงค์นั้นจะสำเร็จหรือไม่ หากสำเร็จก็ขอให้ความยาวของตนเลยจุดที่ทำเครื่องหมายไว้ออกไป เมื่ออธิฐานเสร็จแล้ว ก็นำไม้เสี่ยงทายขึ้นมาวาอีกครั้งหนึ่ง
คำไหว้หลวงพ่อทันใจหรือพระเจ้าทันใจ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (ว่า 3 จบ)
นะโม นะมะ สะขัง โกธะมัง ใจจะคุ (ว่า 3 จบ)
พระพุทธโลกนารถบพิตร และวิหารศิลปะล้านนาประยุกต์
เป็นพระพุทธรูปปางพระนาคปรก ประดิษฐานอยู่ในวิหารศิลปะลานนาประยุกต์ ภายในมีภาพจิตกรรมฝาผนังอย่างสวยงาม สร้างขึ้นในปี 2534 โดยมีเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร ป.ธ.9) เป็นประธานเททองหล่อและเบิกพระเนตร องค์พระขนาดหน้าตักกว้าง 3.60 เมตร สูง 7 เมตร สร้างด้วยโลหะทองเหลือง ลงรักปิดทอง
ขอขอบคุณ เนื้อหาจาก วิกิพีเดีย