วัดพระบรมธาตุนครชุม ตั้งอยู่เลขที่ 15 หมู่ที่ 3 ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร เป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองกำแพงเพชร สร้างขึ้นมาพร้อมกับเมืองนครชุมเป็นวัดประจำจังหวัด
เป็นต้นกำเนิดของ “พระซุ้มกอ” 1 ในพระเครื่องชุดเบญจภาคีอันขึ้นชื่อลือลั่น
ตามตำนานเล่าขานกันว่า เดิมทีเป็นพระธาตุเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ 3 องค์ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท ราวปีพ.ศ.1900 หรือประมาณ 600 ปีก่อน
วัดพระบรมธาตุนครชุมเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ ภายในมีศาสนสถานที่สำคัญหลายอย่าง เช่น พระบรมธาตุเจดีย์ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 9 องค์ พระอุโบสถหลังเก่า พระวิหารโบราณ วิหารพระนอน ศาลาเรือนไทย และศาลาการเปรียญที่ใช้เป็นศูนย์วัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน เพื่อให้เป็นแหล่งความรู้แก่ชุมชน
ที่สำคัญคือ ต้นศรีมหาโพธิ เป็นต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ ซึ่งเชื่อกันว่าพระยาลิไททรงปลูก
วัดพระบรมธาตุนครชุมเป็น 1 ในโบราณสถานนครชุมที่มีประวัติเก่าแก่ยาวนาน
เมืองนครชุมปรากฏในศิลาจารึกหลัก ที่ 3 (จารึกนครชุม) จารึกหลักนี้ ระบุศักราชตรงกับพ.ศ.1900 มีเนื้อหาว่าพระมหาธรรมราชาลิไทได้ทรงมาบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและปลูกต้นโพธิ์ที่นำมาจากลังกาที่เมืองนี้ เดิมมีการอ่านตีความจารึกหลักนี้เป็นคำว่า “นครปุ”
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า เจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังดำรง พระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรม โอรสาธิราชฯ ทรงมีพระราชวิจารณ์ว่า นครปุ ที่ว่านี้น่าจะหมายถึงกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่มีบริเวณกว้างขวางนอกเมืองกำแพงเพชรขึ้นไปทิศเหนือ
แต่ในภายหลังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตรวจสอบแล้วว่าน่าจะเคยปักอยู่ที่วัดพระบรมธาตุ ฝั่งตะวันตกของเมืองกำแพงเพชรมาก่อน และมีการแก้คำอ่านเป็น นครชุม
นครชุมอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง พบโบราณสถานแบบสุโขทัยจำนวนมาก อาทิ วัดเจดีย์กลางทุ่ง วัดหนองพิกุล วัดซุ้มกอ
ในปีพ.ศ.2392 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เดินทางมากำแพงเพชรและพบซากปรักหักพังของเจดีย์ 3 องค์ ท่านจึงให้พระยาน้อย เจ้าเมืองกำแพงเพชรบูรณะเจดีย์ทั้ง 3 องค์
เมื่อรื้อเจดีย์ทั้ง 3 องค์ก็พบพระพุทธรูป กรุพระเครื่องต่างๆ มากมาย อาทิ พระทุ่งเศรษฐี พระท่ามะปราง พระพลูจีบ พระเม็ดขนุน พระเปิดโลก ที่สำคัญที่สุด คือพบพระซุ้มกอ มีหลากหลายพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นพิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์ขนมเปี๊ยะ
ส่วนพระราชวชิรเมธี รองเจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุ นครชุม กล่าวถึงเรื่องราวของกรุพระเครื่องของวัดพระบรมธาตุ ว่า ตามตำนานการสร้างพระเครื่องเมืองกำแพงเพชรจากจารึกลานเงินที่พบในกรุวัดพระบรมธาตุเมืองนครชุม ค้นพบโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)
มีใจความสำคัญว่า มีฤๅษี 11 ตน ฤๅษีเป็นใหญ่ 3 ตน ชื่อฤๅษีพิลาไลย ฤๅษีตาไฟ ฤๅษีตางัว คิดทำพระเครื่องถวายแด่พระยาศรีธรรมาโศกราช จึงไปนำวัตถุมงคลมาประกอบเป็นพระเครื่องปลุกเสกเป็นพระเครื่อง
พระราชวชิรเมธีเล่าว่า จากการที่เมืองกำแพงเพชรของเรามีพระดี ทำให้วัดทุกวัดกว่าร้อยวัด ถูกขุดไม่มีชิ้นดีในช่วง 80 กว่าปีที่ผ่านมา ราวพ.ศ. 2470 คนทุกสารทิศต่างมาล่าพระเครื่องเมืองกำแพงกันอย่างชุลมุน แม้จะผิดกฎหมาย แต่ไม่มีใครเกรงกลัว ต่างขุดกันจนทำให้โบราณสถานและโบราณวัตถุพินาศสิ้นแม้ในปัจจุบันปีพ.ศ.2550 ก็ยังมีการลักลอบขุดกันเนืองๆ
“มีผู้เฒ่าเล่าว่าผู้คนที่ขุดพบจะเอาเฉพาะพระบูชา ส่วนพระว่านหน้าทองนั้น ก็จะลอกเอาเฉพาะทองไปหลอมสิ้น เพื่อทำลายหลักฐาน ทิ้งองค์พระไว้ไม่เป็นที่ต้องการของใครๆ ปล่อยให้สลายไปตามธรรมชาติ ผู้ขุดพบพระว่านหน้าทอง เล่าว่าจะพบไม่มาก ในกรุๆ หนึ่ง พบทั้งพระซุ้มกอ พระเม็ดขนุน พระท่ามะปราง พระเปิดโลก พระพลูจีบ”
ขอขอบคุณ http://www.khaosod.co.th/