วัดพระธาตุลำปางหลวง พระเจ้าล้านทอง จ.ลำปาง สักการะพระเจ้าล้านทอง ณ วัดพระธาตุลำปางหลวง ไหว้พระธาตุประจำปีเกิด

วัดพระธาตุลำปางหลวง พระเจ้าล้านทอง จ.ลำปาง พระเจดีย์ประจำปีฉลู
สักการะพระเจ้าล้านทอง ณ วัดพระธาตุลำปางหลวง

วัดพระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่ในเขตตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง อยู่ห่างจากตัวเมืองลำปางไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๑๘ กิโลเมตร ตัววัดตั้งอยู่บนเนินสูง มีการจัดวางผัง และส่วนประกอบของวัดสมบูรณ์แบบที่สุด มีสิ่งก่อสร้าง และสถาปัตยกรรมต่าง ๆ บริเวณพุทธาวาสประกอบด้วย องค์พระธาตุลำปางหลวง เป็นประธาน มีบันไดนาคนำขึ้นไปสู่ซุ้มประตูโขง ถัดซุ้มประตูโขงขึ้นไปเป็น วิหารหลวง บริเวณทิศเหนือขององค์พระธาตุมีวิหารบริวารตั้งอยู่คือ วิหารน้ำแต้ม และ วิหารต้นแก้ว ด้านตะวันตกขององค์พระธาตุประกอบด้วย วิหารละโว้ และ หอพระพุทธบาท ด้านใต้มี วิหารพระพุทธ และ อุโบสถ ทั้งหมดนี้จะแวดล้อมด้วยแนวกำแพงแก้วทั้งสี่ด้าน นอกกำแพงแก้วด้านใต้มีประตูที่จะนำไปสู่เขตสังฆาวาส ซึ่งประกอบด้วยอาคาร หอพระไตรปิฎก กุฏิประดิษฐาน พระแก้วดอนเต้า อาคารพิพิธภัณฑ์และกุฏิสงฆ์

ตามตำนานกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระเถระสามองค์ได้เสด็จจาริกไปตามบ้านเมืองต่าง ๆ จนถึงบ้านลัมภะการีวัน (บ้านลำปางหลวง) พระพุทธเจ้าได้ประทับเหนือดอยม่อนน้อย มีชาวลัวะคนหนึ่งชื่อ ลัวะอ้ายกอน เกิดความเลื่อมใส ได้นำน้ำผึ้งบรรจุกระบอกไม้ป้างมะพร้าว และมะตูมมาถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้ฉันน้ำผึ้งแล้วทิ้งกระบอกไม้ป้างไปทางทิศเหนือ แล้วทรงพยากรณ์ว่า สถานที่แห่งนี้ต่อไปจะมีชื่อว่า ลัมพกัปปะนคร แล้วได้ทรงลูบพระเศียรได้พระเกศามาหนึ่งเส้น มอบให้แก่ลัวะอ้ายกอนผู้นั้น ลัวะอ้ายกอนได้นำพระเกศานั้น บรรจุในผอบทองคำ และใส่ลงในอุโมงค์พร้อมกับถวายแก้วแหวนเงินทองเป็นเครื่องบูชา แล้วแต่งยนต์ผัด(ยนต์หมุน) รักษาไว้ และถมดินให้เรียบเสมอกัน แล้วก่อเป็นพระเจดีย์สูงเจ็ดศอกเหนืออุโมงค์นั้น ในสมัยต่อมาก็ได้มีกษัตริย์เจ้าผู้ครองนครลำปางอีกหลายพระองค์ มาก่อสร้างและบูรณะซ่อมแซม จนกระทั่งเป็นวัดที่มีความงามอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ในทางประวัติศาสตร์นครลำปาง วัดพระธาตุลำปางหลวงมีประวัติว่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๗๕ นครลำปางว่างจากผู้ครองนคร และเกิดความวุ่นวายขึ้น สมัยนั้นพม่าเรืองอำนาจได้แผ่อิทธิพลปกครองอาณาจักรล้านนาไว้ได้ทั้งหมด พม่าได้ยึดครองนครเชียงใหม่ ลำพูน โดยแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์พม่า ท้าวมหายศเจ้าผู้ครองนครลำพูนได้ยกกำลังมายึดนครลำปาง โดยได้มาตั้งค่ายอยู่ภายในวัดพระธาตุลำปางหลวง ครั้งนั้น หนานทิพย์ช้าง ชาวบ้านปงยางคก (ปัจจุบันอยู่อำเภอห้างฉัตร) วีรบุรุษของชาวลำปาง ได้รวบรวมพลทำการต่อสู้ทัพเจ้ามหายศ โดยลอบเข้ามาในวัด และใช้ปืนยิงท้าวมหายศตาย แล้วตีทัพลำพูนแตกพ่ายไป ปัจจุบันยังปรากฏรอยลูกปืนอยู่บนรั้วทองเหลืองที่ล้อมองค์พระธาตุเจดีย์ ต่อมาหนานทิพย์ช้างได้รับสถาปนาขึ้นเป็น พระยาสุลวะลือไชยสงคราม เจ้าผู้ครองนครลำปาง และเป็นต้นตระกูล ณ ลำปาง เชื้อเจ็ดตน ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูน ณ น่าน
วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นโบราณสถานสำคัญ ที่ตั้งอยู่ในบริเวณซากเมืองโบราณลัมพกัปปะนคร ตามประวัติพระนางจามเทวีเคยเสด็จมานมัสการ และทำการบูรณะซ่อมแซมอยู่เสมอ นับว่าเป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณกาล มีความสวยงาม และมีความยอดเยี่ยมทั้งสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรม เป็นที่ประดิษฐาน พระแก้วดอนเต้า ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวลำปาง และชาวพุทธทั่วไป

วัดพระธาตุลำปางหลวง เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองลำปางมาแต่โบราณ ตามตำนานกล่าวว่ามีมาตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี ในราวพุทธศตวรรษที่ 20 ตอนปลาย เป็นวัดไม้ที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของไทย งดงามด้วยสถาปัตยกรรมเก่าแก่มากมายได้แก่
พระธาตุลำปางหลวง เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนปีฉลู ด้วยเริ่มสร้างในปีฉลูและเสร็จในปีฉลู เช่นกัน ฐานเป็นบัวลูกแก้ว ส่วนองค์เป็นทรงกลมแบบล้านนาภายนอก บุด้วยทองจังโก ยอดฉัตรทำด้วยทองคำ มีลายสลักดุนเป็นลวดลายประจำยามแบบต่างๆ ลักษณะเจดีย์แบบนี้ได้ส่งอิทธิพลให้พระธาตุหริภุญไชย และพระบรมธาตุจอมทอง ภายในองค์พระเจดีย์บรรจุพระเกศา และพระ อัฐิธาตุจากพระนลาฎข้างขวา พระศอด้านหน้าและด้านหลัง ที่รั้วทองเหลืองรอบองค์พระธาตุมีรูกระสุนปืนที่หนานทิพย์ช้างยิงท้าวมหายศปรากฏอยู่

วิหารขนาดใหญ่ที่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2019 โดยเจ้าหมื่นคำเป๊ก ภายในมีซุ้มปราสาททองเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าล้านทอง ด้านหลังเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้า ทันใจ บนแผงไม้คอสองมีภาพจิตรกรรมเก่าแก่งดงามเรื่องทศชาติและพรหมจักร
วิหารพระพุทธ ไม่ปรากฏว่าสร้างเมื่อใด และใครเป็นผู้สร้าง แต่ประมาณอายุไม่ต่ำกว่า 700 ปี เดิมเป็นวิหารเปิดโล่งหน้าบันเป็นลายดอกไม้ติดกระจกสี ภายในประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่เต็มอาคาร ก่ออิฐถือปูน ศิลปะเชียงแสน และยังปรากฏเงาพระธาตุภายในวิหารอีกด้วย
เมื่อหันหน้าเข้าหาวิหารหลวง ด้านขวามือ คือ วิหารน้ำแต้ม หรือวิหารภาพเขียนสี (“แต้ม” แปลว่า ภาพเขียน) สร้างเมื่อ พ.ศ.2044 เป็นวิหารเปิดโล่งที่เก่าแก่ที่สุดอีกหลังหนึ่งทางภาคเหนือ ภายในเป็นรูปแบบของสถาปัตยกรรมไทยที่งดงาม ไม่มีฝ้าเพดาน กำแพงด้านพระประธานเขียนภาพลายทองบนพื้นรักแดง มีภาพจิตรกรรมศิลปะล้านนาบนแผงไม้คอสองที่กล่าวกันว่าเก่าแก่ที่สุด และหลงเหลือเพียงแห่งเดียวในเมืองไทย อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 ลงมา แต่ปัจจุบันภาพเขียนลบเลือนไปมาก และประดิษฐานพระพุทธรูปสัมริดปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 1.25 เมตร สูง 1.25 เมตร

ซุ้มพระบาท สร้างครอบพระพุทธบาทไว้ ฐานก่อขึ้นเป็นชั้นคล้ายฐานเจดีย์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 1992 ภายในมองเห็นแสงหักเหปรากฏเป็นเงาพระธาตุและพระวิหารในด้านมุมกลับ แต่มีข้อห้ามไม่ให้ผู้หญิงขึ้น
กุฏิพระแก้ว เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างเมื่อใด แต่ประมาณอายุไม่ต่ำกว่า 400 ปีมาแล้ว
วิหารพระเจ้าศิลา เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าศิลาซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงละโว้ เมื่อ พ.ศ. 1275 พระบิดาของพระนางจามเทวีมอบให้ประดิษฐานไว้ ณ ที่นี้
พิพิธภัณฑ์ รวบรวมศิลปวัตถุจากที่ต่างๆ ที่หาชมได้ยาก เช่นสังเค็ด ธรรมาสน์ คานหาบ ตู้พระไตรปิฎก เป็นต้น
นอกจากนี้วัดพระธาตุลำปางหลวงยังเป็นที่ประดิษฐาน “พระแก้วดอนเต้า” (พระแก้วมรกต) พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดลำปาง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะล้านนาสลักด้วยหยกสีเขียว ทุกปีจะมีงานนมัสการพระแก้วดอนเต้าในวันเพ็ญเดือน 12 นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมวัดพระธาตุลำปางหลวงได้ระหว่างเวลา 07.30-17.00 น.

วัดพระธาตุลำปางหลาง อ.เกาะคา จ.ลำปาง

เป็นพระธาตุประจำปีเกิด พระธาตุประจำคนเกิดปีฉลู พระธาตุประจำปีวัว

คำบูชาพระธาตุ (ตั้งนโม 3 จบ)
ยาปาตุภูตา อะตุลานุภาวาจีรัง
ปะติฎฐาสัมภะ กัปปะปุเร เทเวนะ
คุตตา อุตตะราภิทัยยา นะมามิหันตัง
วะระชินะธาตุง ฐะเปติ มะหา ฐาเน
เจติยัง ปูชิตา นะเะเทเวหิ
อะหัง วันทามิ ธาตุโย

ขอขอบคุณ เนื้อหาจาก http://www.ezytrip.com  http://th.wikipedia.org

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .