วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก
วัดใหญ่พิษณุโลก สักการะพระพุทธชินราช
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก เรียกกันทั่วไปว่าวัดใหญ่หรือวัดหลวงพ่อพระพุทธชินราช เป็นพระอารามหลวงมาแต่เดิมสร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย ต่อมาเมื่อ ปีพุทธศักราช ๒๔๕๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯให้ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิด วรมหาวิหาร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ ปัจจุบันจึงมีชื่อเต็มว่า วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นวัดเก่าแก่ที่มีความสำคัญยิ่งทั้งทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่านทางทิศตะวันออกตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงกล่าวถึงวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารไว้ว่า ” เป็นวัดใหญ่และเป็นวัดที่สำคัญกว่าวัดอื่นในเมืองพิษณุโลก มีพระมหาธาตุอยู่กลางเห็นจะสร้างตั้งแต่สุโขทัยเป็นราชธานี หากแต่ซ่อมแซมมาหลายครั้งหลายสมัย”
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยตอนต้น แต่ในพงศาวดารเหนือกล่าวไว้ว่า
” ในราวพุทธศักราช ๑๙๐๐ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก (พระมหาธรรมราชาลิไท) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงสุโขทัย ทรงมีศรัทธาเลื่อมใสในบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังได้ทรงศึกษาพระไตรปิฎกและคัมภีร์ศาสนาอื่น ๆ จนช่ำชองแตกฉาน หาผู้ใดเสมอเหมือนได้ยาก พระองค์ได้ทรงสร้างวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน มีพระปรางค์อยู่กลาง มีพระวิหาร ๔ ทิศ มีพระระเบียง ๒ ชั้น และทรงรับสั่งให้ปั้นหุ่นหล่อพระพุทธรูปขึ้น ๓ องค์ เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหารทั้ง ๓ หลัง”
นอกจากนี้วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ยังมีโบราณสถานและโบราณวัตถุล้ำค่าอีกมากมาย ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ได้ทรงนิพนธ์ไว้ว่า ” นมัสการพระพุทธชินราชแล้ว ดูธรรมมาสน์เทศน์ ธรรมาสน์สวด ดูเรือนแก้ว แลสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ ล้วนเป็นของดีอย่างเอก ไม่เคยพบไม่เคยเห็น”
การวางผังของวัด มีพระปรางค์เป็นองค์ประธานของวัด รอบองค์พระปรางค์มีระเบียงคตแลมีวิหารทิศ พระวิหารทางทิศตะวันออกเป็นที่ประดิษฐานพระอัฏฐารส ที่เรียกกันว่าวิหาร เก้าห้อง ปัจจุบันคงเหลือพระอัฏฐารส เสาและเนินพระวิหารบางส่วน พระวิหารทางด้านทิศตะวันตก เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช พระวิหารทางด้านทิศเหนือ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินสีห์ พระวิหารด้านทิศใต้เป็นที่ประดิษฐานพระศรีศาสดา ซึ่งปัจจุบันพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดาได้ถูกอันเชิญไปประดิษฐานที่วัด บวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ทางวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารจึงได้สร้างองค์จำลองขึ้นแทน.
ประวัติพระพุทธชินราช
เมื่อกล่าวถึงพระพุทธรูปที่มีความงามเป็นเลิศ ทุกคนต้องนึกถึงพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก อย่างแน่นอน เพราะเป็นพระพุทธรูปที่สง่างามล้ำค่าไปด้วยศิลปกรรมเลิศล้ำด้วยคุณลักษณะ กว่าพระพุทธรูปทั้งหมดในแผ่นดิน นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีทุกสมัย ต่างตกลงใจเป็นอย่างเดียวกันว่าพระพุทธชินราชนั้นงามเป็นหนึ่ง ประดุจดั่งเพชรเม็ดงามที่ล้ำค่ามหาศาล ศิลปะที่ปรากฏผ่านสายตา เป็นที่สร้างศรัทธาเลื่อมใส จับจิตใจของผู้พบเห็น เป็นที่น่าอัศจรรย์ ยากที่จะพรรณนาความงามให้หมดสิ้นได้ นำความเอิบอิ่มใจมาให้เป็นทัศนานุตตริยะอย่างยอดเยี่ยม และเต็มเปี่ยมไปด้วยพุทธลักษณะที่เลอเลิศทำให้เกิดความคิดเป็นอัศจรรย์ว่า เป็นพุทธปฏิมาที่สร้างด้วยฝีมือมนุษย์จริงหรือ และเมื่อได้เข้าใกล้ประหนึ่งได้เข้าเฝ้าองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างไม่ ต้องสงสัย เป็นที่ปลื้มใจได้ปีติของคนทั่วหล้า ผู้ที่มาแล้วอยากที่จะกลับมาอีกครั้ง เหมือนกับมีพลังดลใจไม่มีเบื่อ ความงามและความศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระพุทธชินราช ยังประกาศประจักษ์เป็นพยานผ่านกาลเวลามาทุกยุคทุกสมัย เป็นที่พึ่งทางใจของคนทุกชนชั้น อย่างไม่มีวันเสื่อมคลาย ผู้ที่มีความทุกข์ใจกาย ก็ผ่อนคลายยามเมื่อได้เห็น กลายเป็นความสุขอย่างประหลาด เหมือนหยาดน้ำฝนที่ตกลงในที่แห้งแล้งกันดาร ย่อมเป็นที่สำราญของสรรพสัตว์นานาชนิด เหมือนได้ชุบชีวิตจากตายแล้วเกิดใหม่
องค์พระพุทธชินราชยังประกาศความงามเป็นหนึ่งให้โลกได้ประจักษ์ตา ผู้คนทุกชาติภาษา ต่างติดตราตรึงใจเมื่อได้ยลเหมือนต้องมนต์ให้หลงใหล ใคร่อยากจะทัศนาให้เป็นเวลานาน ไม่อยากที่จะผ่านเลยไป ความอัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่บนผืนแผ่นดินนี้ ไม่น่าเชื่อว่าจะมีสิ่งล้ำค่าเกิดขึ้นได้ จึงหวนใจคิดว่าถ้าองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยังทรงพระชนม์ จะงามเลิศล้นสักแค่ไหน
ต้องกล่าวสรรเสริญองค์พระยาลิไทจอมกษัตริย์และช่างผู้เจนจัดในศิลปกรรม มีจิตเลิศล้ำบริสุทธิ์เป็นอเนกอนันต์ที่ได้รังสรรค์สิ่งดีงามให้เกิดบนผืนแผ่นดินไทย อันเป็นศูนย์รวมใจของชนทั้งชาติ และประกาศความเป็นหนึ่งแห่งศิลปะให้โลกได้รับรู้เพื่อเชิดชูด้านวิจิตรศิลป์ของชนชาติไทย .
พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยสำริด ปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัยตอนปลาย หน้าตักกว้าง 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว สูง 7 ศอก หล่อในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) ซึ่งได้สร้างพระพุทธชินราช พร้อมกับพระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา ฐานชุกชีปั๊มเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงาย เดิมไม่ได้ลงรักปิดทอง ได้มีการปิดทองครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ คราวเสด็จพระราชดำเนินมานมัสการพระพุทธชินราช เมื่อปี พ.ศ. 2146
พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปองค์ประธานของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในประเทศไทย เส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงโก่ง พระเกตุมาลาเป็นรูปเปลวเพลิง มีลักษณะพิเศษเรียกว่าทีฆงคุลี คือที่ปลายนิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่นิ้วยาวเสมอกัน ซุ้มเรือนแก้วทำด้วยไม้แกะสลักสร้างในสมัยอยุธยา แกะสลักเป็นรูปมกร (ลำตัวคล้ายมังกรแต่มีงวงคล้ายช้าง) อยู่ตรงปลายซุ้ม และมีลำตัวเหรา (คล้ายจรเข้) อยู่ตรงกลางซุ้ม มีเทพอสุราปกป้องพระองค์อยู่สองตน คือ ท้าวเวสสุวัณ และอารวกยักษ์
ในตำนานการสร้างพระพุทธชินราชกล่าวว่า พระพุทธชินราชสร้างในสมัยพระศรีธรรมไตรปิฎก (พระยาลิไท) ได้สร้างขึ้นพร้อมกับพระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา โดยใช้ช่างจากเมืองศรีสัชนาลัย และเมืองหริภุญชัย ในการเททองปรากฏว่าหล่อได้สำเร็จเพียงสององค์ ส่วนพระพุทธชินราชทองแล่นไม่ตลอด ต้องทำพิมพ์หล่อใหม่ถึงสามครั้ง ครั้งสุดท้ายพระอินทร์ได้แปลงกายเป็นชีปะขาวมาช่วยเททองหล่อ เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้นสองค่ำ เดือนหก ปีมะเส็ง นพศก จุลศักราช 319 จึงหล่อได้สำเร็จบริบูรณ์
ปัจจุบันพระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดาได้ถูกอันเชิญไปประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ทางวัดจึงได้หล่อองค์จำลองขึ้นแทน
หลังจากสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดาแล้ว พระยาลิไทรับสั่งให้ช่างนำเศษทองสัมฤทธิ์ที่เหลือนำมารวมกันหล่อพระพุทธรูป ปางมารวิชัย ขนาดเล็ก หน้าตัก กว้าง 1 ศอกเศษ เรียกชื่อพระพุทธรูปนี้ว่า “พระเหลือ”เศษทองยังเหลืออยู่อีกจึงได้หล่อพระสาวกยืนอยู่ 2 องค์ ส่วนอิฐที่ก่อเตาสำหรับหลอมทองในการหล่อพระพุทธรูป นำมารวมกันบนชุกชี (ฐานชุกชี) พร้อมกับปลูกต้นมหาโพธิ์ 3 ต้นลงบนชุกชี เรียกว่า โพธิ์สามเส้า ระหว่างต้นโพธิ์ได้สร้างวิหารน้อยขึ้นมา 1 หลัง อัญเชิญพระเหลือกับสาวกเข้าไปประดิษฐานอยู่ เรียกว่า พระเหลือ
วิหารพระเจ้าเข้านิพพาน เป็นวิหารขนาดกลางตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวิหารพระพุทธชินราชนอกเขตระเบียงคต ภายในประดิษฐานหีบปิดทอง(สมมุติ)บรรจุพระบรมศพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำด้วยศิลาตั้งอยู่บนจิตรากาธานประดับด้วยลวดลายลงรักปิดทองร่องกระจกสวยงาม ที่ปลายหีบมีพระบาททั้งสองยื่นออกมา และบริเวณด้านหน้า หรือด้านท้าย หีบพระบรมศพ มีพระมหากัสสปะเถระ นั่งนมัสการพระบรมศพ ซึ่งนับว่าเป็นโบราณวัตถุที่สำคัญของวัดพระศรีรัตนมหาวรวิหาร โดยผู้สร้างถือคติว่าเป็นการจำลองสังเวชนียสถานของพระพุทธเจ้า คาดว่ามีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย
บริเวณหลังวิหารพระพุทธชินราช มีพระอัฏฐารส ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติสูง 18 ศอก (ประมาณ 10 เมตร) สร้างในสมัยเดียวกับพระพุทธชินราช ในราว พ.ศ. 1800 เดิมประดิษฐานอยู่ในวิหารใหญ่แต่วิหารได้พังไปจนหมด เหลือเพียงเสาที่ก่อด้วยศิลาแลงขนาดใหญ่ 3 – 4 ต้น และเนินพระวิหารบางส่วน เรียกว่า “เนินวิหารเก้าห้อง” ในปัจจุบันกรมศิลปากรได้ทำการบูรณะขุดแต่งทางโบราณคดีในบริเวณที่เรียกว่า “เนินวิหารเก้าห้อง” ซึ่งขุดพบฐานพระวิหารเดิมและพระพุทธรูปวัตถุโบราณจำนวนหนึ่ง
ขอขอบคุณ เนื้อหาจาก
watyai.com และ วิกิพีเดีย