วัดพระธาตุดอยตุง (วัดพระมหาชินธาตุเจ้า) อ.แม่สาย จ.เชียงราย ไหว้พระธาตุประจำปีเกิด

วัดพระธาตุดอยตุง พระเจดีย์ประจำคนเกิดปีกุน (คนเกิดปีหมู)

วัดพระธาตุดอยตุง ตั้งอยู่บริเวณส่วนที่เรียกว่าหน้าอกของดอยนางนอน ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวเขา ซึ่งดอยตุงมีระยะทางห่างจากอำเภอเมืองเชียงรายประมาณ 46 กม. และมีพระธาตุดอยตุงประดิษฐานอยู่บนยอดดอย สามารถมองเห็นได้ในระยะไกลเนื่องจากพระธาตุดอยตุง ตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณสองพันเมตร

ตามตำนานเล่าว่า พระธาตุดอยตุงสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอชุตราช กษัตริย์ผู้ครองเมืองโยนกนาคพันธุ์(ปัจจุบันคืออำเภอแม่จัน) พระมหากัสสปะได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระรากขวัญเบื้องซ้าย(กระดูกไหปลาร้า) แล้วมอบให้แก่ พระเจ้าอชุตราช ได้สร้างเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุนั้นไว้บนดอยแห่งนี้ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ไว้ แล้วจึงได้ให้ทำตุง (ธง) มีความยาว 1,000 วาปักบนยอดเขาหากตุงปลิวไปถึงที่ใดก็กำหนดให้เป็นฐานของพระเจดีย์ ทั้งนี้พระองค์ได้พระราชทานทองคำให้พวกลาวจกเป็นค่าที่ดิน และให้พวกมิลักขุ 500 ครอบครัวดูแลรักษาพระธาตุ ต่อมาในสมัยพญามังรายแห่งราชวงค์มังราย พระมหาวชิรโพธิเถระได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาถวาย 50 องค์ พญามังรายจึงให้สร้างพระเจดีย์อีกองค์ใกล้กับเจดีย์องค์เดิม นับจากนั้นเป็นต้นมาพระธาตุดอยตุงจึงได้มีเจดีย์สององค์มาจนถึงทุกวันนี้

ปัจจุบัน กรมศิลปากรมีโครงการรื้อถอน องค์พระธาตุองค์ปัจจุบันโดยให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นไปตามร้องขอของคนท้องถิ่นไปทางจังหวัด และส่งต่อมายังสำนักโบราณคดีเชียงใหม่ ให้ช่วยฟื้นฟูพระสถูปในสมัยครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ได้บูรณะไว้ตามภาพถ่ายที่ปรากฏอยู่ในวิหารพระธาตุดอยตุง เนื่องจากพระธาตุองค์ปัจจุบัน 2 องค์ที่ตั้งอยู่เวลานี้ เป็นของใหม่ ได้มีการบูรณะเมื่อสามสิบปีเศษที่แล้ว ออกแบบโดยนายช่างสถาปนิกกรุงเทพฯ และเข้าใจว่าพระสถูปเดิมสมัยครูบาได้บูรณะไว้เมื่อแปดสิบปีที่แล้ว อาจถูกทับคล่อมอยู่ภายในองค์ปัจจุบัน ซึ่งคณะทำงานได้มีการหารือทางเจ้าคณะอำเภอเรียบร้อยแล้ว และได้ให้นำพระสถูปเดิมที่ถอดออกมา ไปตั้งไว้ที่วัดพระธาตุน้อยดอยตุง อยู่ด้านล่างก่อนขึ้นดอยพระธาตุ จากนั้นทำการบูรณะพระสถูปเจดีย์ ครูบาศรีวิชัย ให้คืนกลับมาสภาพดังเดิมให้แล้วเสร็จก่อนเดือนธันวาคม 2550 ในปีหน้า โดยมีงบประมาณทั้งสิ้น 21 ล้านบาท รวมค่าปรับปรุงภูมิทัศน์ อาทิเช่น ปรับปรุงพื้นที่ลานพระธาตุให้กว้างขึ้น รื้อโรงเก็บวัสดุอุปกรณ์ เคลื่อนย้ายพระสังกัจจาย พระพุทธรูปองค์ใหญ่ในรูปปางต่างๆ นำไปตั้งประดิษฐานในสถานที่ที่เหมาะสม ปรับปรุงภูมิทัศน์ฐานบันไดนาคทางขึ้น เพื่อความสะดวกต่อพุทธศาสนิกชน ซึ่งไปนมัสการพระธาตุเป็นจำนวนมากของทุกปี

พระธาตุดอยตุง นับเป็นโบราณสถานอันเก่าแก่แห่งหนึ่งในภาคเหนือ ตามประวัติตำนานได้กล่าวไว้ว่า พระมหากัสสะปะเถระเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ได้อาราธนาอัญเชิญเอายังพระบรม สารีริกธาตุกระดูกไหปลาร้า(พระรากขวัญเบื้องซ้าย) ของพระพุทธเจ้า มามอบถวายแด่พระเจ้าอุชุตราชเจ้าผู้ครองนครนาคพันธ์โยนกชัยบุรี รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์สิงหนวติ เป็นประธานพร้อมด้วยมุขมนตรีเสวกอำมาตย์ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของพระองค์ ได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุขึ้นมาบรรจุสร้างขึ้น ณ ที่ดอยดินแดง (คือดอยตุงปัจจุบัน) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1454 ต่อมาอีก 100 ปี มีพระอรหันต์องค์หนึ่งชื่อว่า พระมหาวชิรโพธิเถร ได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุมามอบถวายให้พระเจ้ามังรายะนะธิราช แล้วจึงได้พร้อมใจกันนำเอาพระบรมธาตุขึ้นบรรจุสร้างใหม่ขึ้นมาอีกองค์หนึ่ง บนดอยตุง พร้อมได้ปฏิสังขรณ์องค์เดิม จากนั้นมาก็ไม่ปรากฏหลักฐานรายนามผู้บูรณะปฏิสังขรณ์ ลุถึง พ.ศ.2470 ครูบาศรีวิชัย นักบุญผู้ยิ่งใหญ่แห่งลำพูนพร้อมด้วยคณะศรัทธาชาวพุทธได้ทำการปฏิสังขรณ์ องค์พระเจดีย์ พระวิหาร พระประธาน กาลเวลาผ่านพ้นมานานวิหารและพระประธานก็ถูกภัยธรรมชาติครอบงำชำรุดทรุดโทรม ไปตามกาลเวลา ส่วนองค์พระเจดีย์นั้นยังมีรูปทรงปกติดีอยู่ ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2499 ได้มีอุบาสิกาผู้หนึ่งอยู่ในจังหวัดพะเยา ชื่อว่า นางทองคำ ฮั้นตระกูล ได้มีกุศลเจตนาอันยิ่งใหญ่ ทำการลงรักปิดทองพระเจดีย์ทั้ง 2 องค์ ให้เหลืองอร่ามไปทั่ว ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2500 องค์สรภาณมธุรส(บ๋าวเอิง) เจ้าอาวาสวัดสมานัมบริหาร กทม. พร้อมด้วยอุบาสิกา ทองคำ ฮั้นตระกูล ได้ทำการก่อสร้างอุโสถขึ้นหนึ่งหลังพร้อมทั้งพระประธานในอุโบสถ พระสาวก หมอชีวกโกมารภัจ ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ.2507 ก็ได้มีการดำริในการที่จะบูรณะองค์พระธาตุดอยตุงครั้งใหญ่ ซึ่งได้ใช้เวลาเตรียมการและหาทุนต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาหลายปี ลุถึง พ.ศ.2514-2516 จึงได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จไป 1 องค์ พระธาตุ 2 วิหารหลวงที่ประดิษฐานพระประธานสิงห์หนึ่งเชียงแสน 3 พระประธานสิงห์หนึ่ง ซึ่งได้กราบทูลสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เสด็จมาเป็นองค์เททอง
ในการบูรณะครั้งนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปทรงองค์พระเจดีย์กันใหม่ ออกแบบโดยอาจารย์ประกิต(จิตร์) บัวบุศน์ องค์พระเจดีย์บุด้วยกระเบื้องโมเสดสีทอง มีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป 8 ซุ้ม มีฉัตรประดับทั้ง 4 มุมดังที่เห็นปรากฎวันนี้ ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2525 ได้มีอุบาสกคนหนึ่งชื่อ ไศลยนต์ ศรีสมุทร์ เจ้าของและผู้จัดการตลาดแม่สาย ได้มีกุศลเจตนาอันแรงกล้า ได้ทำการเทลานพระธาตุและพร้อมกันนั้นทางวัดก็ได้ทำการก่อสร้างรั้วรอบบริเวณลานพระธาตุอีกโสดหนึ่ง
สำหรับท่านที่ขึ้นมานมัสการพระธาตุนั้น ท่านจะสังเกตุเห็นว่าวัดพระธาตุดอยตุงนั้นจะมีบริเวณ 2 เขตด้วยกันคือ ชั้นบนนั้นจะเป็นเขตพุทธาวาส นับเอาตั้งแต่ประตูวัดที่มียักษ์นั่งถือขวานอยู่นั้นขึ้นไป ท่านห้ามไม่ให้ใครทำสกปรกรุงรัง เช่น ถ่ายหนัก ถ่ายเบา เพราะห้องน้ำไม่มี จากที่ประตูวัดลงมา 1 กิโลเมตร เป็นเขตสังฆาวาส เป็นที่อยู่พำนักของพระสงฆ์องค์เณรและประชาชนทั่วไป
ก่อนขึ้นมานมัสการพระธาตุ กรุณาจอดรถเข้าห้องน้ำให้เรียบร้อยก่อนที่วัดน้อย 1 กิโลเมตร
คำไหว้พระธาตุดอยตุง : นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ….(สามจบ) พิมพา ธะชัคคะ ปัพพะเต นะจุฬาธาตุ จิรัง มะหาคะมา นะมามิหัง อะหังวันทามิ สัพพะทาฯ(สามจบ)

ขอขอบคุณเนื้อหาจาก
oceansmile.com  วิกิพีเดีย

Both comments and pings are currently closed.

One Response to “วัดพระธาตุดอยตุง (วัดพระมหาชินธาตุเจ้า) อ.แม่สาย จ.เชียงราย ไหว้พระธาตุประจำปีเกิด”

  1. bairaka พูดว่า:

    วัดในเชียงราย

. . . . . . .
. . . . . . .