วัดบรมธาตุ สร้างขึ้นมาพร้อมกับเมืองนครชุม เป็นพระอารามหลวงประจำเมืองกำแพงเพชร เมื่อตีความจากจารึกนครชุมวัดพระบรมธาตุน่าจะสร้างเมื่อ ปี พ.ศ. 1762 ในสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ มีความเจริญรุ่งเรืองมากกว่า 200 ปี จนกระทั่งเมืองนครชุมถึงกาลล่มสลายเพราะภัยทางธรรมชาติ แม่น้ำปิงกัดเซาะกำแพงเมืองพังพินาศความเจริญทางพุทธจักรและอาณาจักรจึงสูญสิ้นไปจากเมืองนครชุม ทำให้เมืองฝั่งตรงข้ามทางทิศตะวันออก คือเมืองกำแพงเพขรเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาแทนที่
วัดพระบรมธาตุร้างมานานกว่า 300 ปี กระทั่งสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ วัดพระบรมธาตุจึงมีหลักฐานชัดเจรขึ้นอีกครั้ง ในพระราชนิพนธ์เสด็จประพาสต้นครั้งที่ 2 เมื่อเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. 2449 ณ เมืองกำแพงเพชร ความว่า “แล้วลงมาขึ้นที่วัดพระบรมธาตุ องค์ใหญ่หนึ่งย่อมสององค์ พญาตะก่าสร้างรวามสามองค์ให้เป็นองค์เดียวกัน แปลงรูปเป็นเจดีย์มอญ แต่ยังไม่แล้วเสร็จพญาตะก่าตาย พะโป้ จึงได้มากฏิสังขรณ์ต่อ ได้ยกยอดฉัตรซึ่งมาจากเมืองมะมะแม่งขึ้นแล้วแต่ฐานชุกชี ยังถือปูนไม่รอบพระเจดีย์นี้ทาสีเหลืองมีลายปูนขาวและดูในแม่น้ำงามดี”
ปี พ.ศ. 2392 สมเด็จพระพุฒาจารย์โต แห่งวัดระฆังโฆษิตาราม ได้มาเยี่ยมญาติที่เมืองกำแพงเพชร จึงทราบว่ามีเจดีย์เก่าโบราณบรรจุพระบรมสารีริกธาตุอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิง ด้านฝั่งตะวันตกตรงข้ามเมืองเก่าอยู่ถึงสามองค์ ได้ให้พระยารามณรงค์สงคราม(น้อย) เจ้าเมืองกำแพงเพชร ป่าวร้องให้ประชาชนแผ้วถาง พบพระเจดีย์ตามจารึกจริงจึงปฏิสังขรณ์ขึ้น
วัดพระบรมธาตุ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่เลขที่ 15/1 ปากคลองสวนหมาก บ้านนครชุม หมู่ที่ 3 ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร
วัดพระบรมธาตุ เป็นวัดโบราณสร้างมานาน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ตามทะเบียนประวัติ เป็นวัดที่ตั้งเมื่อ ปี พ.ศ. 1858 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา(ครั้งหลัง) เมื่อวันที่ 2 กันยายน ปี พ.ศ. 2497 ตามประวัติกล่าวว่า พระมหาธรรมราชาลิไทย กษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยโปรดสร้างให้สร้างพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุโดยปรากฏตามหลักฐานศิลาจารึกหลักที่ 3 ต่อมาขาดผู้ดูแลรักษา ได้กลายสภาพเป็นวัดร้างอยู่กลางป่า จนถึงสมัยพระยากำแพงเพชร(น้อย) เป็นผุ้ว่าราชการเมือง ได้ค้นพบพระเจดีย์ จึงร่วมมือกับราษฎรทำการบูรณปฏิสังขรณ์ ภายหลังพระยากำแพงเพชร(อ่อง) ผู้ว่าราชการเมืองสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีเศรษฐีชาวกะเหรี่ยงชื่อพญาตะก่า ขออนุญาตทางราชการทำการบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ ได้นำช่างมาจากพม่า ทำการรื้อถอนพระเจดีย์ 3 องค์แล้วทำการก่อสร้างขึ้นใหม่เป็นองค์เดียวในรูปทรงพม่า แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2419 จากนั้นได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุอยู่ในพระเจดีย์องค์เก่ากลาง ซึ่งบรรจุอยู่ในภาชนะรูปสำเภาเงินมีพระธาตุอยู่ 9 องค์นำมาบรรจุในพระเจดีย์องค์ใหม่ และต่อมาปี พ.ศ. 2449 หลานของพญาตะก่าได้นำเอายอดฉัตรจากเมืองร่างกุง มาประกอบไว้บนยอดพระธาตุ ดังที่ปรากฏอยู่เท่าทุกวันนี้
ขอขอบคุณ http://www.prakp.com/