วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่ วัดบุปผาราม สักการะพระเจ้าเก้าตื้อ หลวงพ่อวัดสวนดอกเชียงใหม่

วัดสวนดอก วัดบุปผาราม จ.เชียงใหม่
สักการะพระเจ้าเก้าตื้อ หลวงพ่อวัดสวนดอกเชียงใหม่

วัดสวนดอก หรือ วัดบุปผาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ปัจจุบันตั้งอยู่บนถนนสุเทพ ตำบลสุเทพอำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

วัดสวนดอกตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ เลขที่ 139 ถนนสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากประตูสวนดอกไปทางทิศตะวันตก 1 กิโลเมตร กินเนื้อที่ 35 ไร่ 2 งาน 44 ตารางวา ทิศเหนือยาว 183 เมตร ทิศใต้ยาว 193 เมตร ทิศตะวันออกยาว 176 เมตร และทิศตะวันตกยาว 176 เมตร

วัดสวนดอกในอดีตนั้นป็นสวนดอกไม้ (ต้นพยอม) ของเจ้านายฝ่ายเหนือใน ราชวงศ์เม็งราย โดยในปี พ.ศ. 1914 (ศักราชนี้ถือตามหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ของพระรัตนปัญญาเกตุ) พระเจ้ากือนา กษัตริย์องค์ที่ 6 แห่ง ราชวงศ์เม็งราย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็น “พระอารามหลวง” เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของ “พระมหาเถระสุมน” ผู้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ในแผ่นดินล้านนา และสร้างองค์พระเจดีย์เพื่อประดิษฐาน “พระบรมสารีริกธาตุ” 1 ใน 2 องค์ ที่ “พระมหาเถระสุมน” อัญเชิญมาจากสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1912 (องค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ในพระเจดีย์ ใน วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร)

ในสมัย ราชวงศ์เม็งราย วัดสวนดอก มีความเจริญรุ่งเรืองมาก แต่หลังจากสิ้น ราชวงศ์เม็งราย บ้านเมืองตกอยู่ในอำนาจพม่า ทั้งเกิดจลาจลวุ่นวาย วัดนี้จึงกลายสภาพเป็นวัดร้างไป วัดสวนดอก ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่อีกครั้ง ในรัชสมัย พระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ แห่ง ราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ (เจ้าเจ็ดตน) และได้รับการทำนุบำรุงจาก เจ้านายฝ่ายเหนือ และประชาชนเชียงใหม่มาโดยตลอด

วัดสวนดอก ต่อได้รับการบูรณะครั้งสำคัญ 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2450 พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญรวบรวมพระอัฐิ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และ พระประยูรญาติ มาประดิษฐานรวมกัน และต่อมาอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2475 เป็นการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระวิหารโดย ครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา

พระเจ้าเก้าตื้อ เป็นพระพุทธรูปหล่อองค์ใหญ่ สร้างด้วยโลหะหนัก 9 โกฏิตำลึง (“ตื้อ” เป็นคำในภาษาไทยเหนือ แปลว่า หนักพันชั่ง) พระญาเมืองแก้ว กษัตริย์องค์ที่ 13 แห่ง ราชวงศ์เม็งราย โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2047 “พระเจ้าเก้าตื้อ” เป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสนฝีมือช่างล้านนาและสุโขทัย หน้าตักกว้าง 8 ศอก หรือ 3 เมตร สูง 4.70 เมตร เพื่อเป็นพระองค์ประธานใน วัดพระสิงห์ แต่เนื่องมีน้ำหนักมากไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ จึงได้ถวายเรือนหลวงของพระองค์เป็นพระวิหาร พระราชทานชื่อว่า “วัดเก้าตื้อ” แทน ซึ่งต่อมาภายหลังได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัย ครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ในปี พ.ศ. 2475 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478

พระพุทธรูปองค์เล็ก หน้าพระประธาน คือ พระเจ้าค่าคิง (เท่าพระวรกาย) พระเจ้ากือนา โปรดให้ช่างสร้างขึ้นด้วยทองสัมฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ มีขนาดเท่าวรกายของพระองค์ หน้าตักกว้าง 2 เมตร สูง 2.5 เมตร (กรมวิชาการ เชียงใหม่ นพบุรีศรีนครพิงค์ (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์การศาสนา กรมการศาสนา) พ.ศ.2543 หน้า 165) (พระวรกายของพระกือนาขณะประทับยืนสูงเท่าองค์พระ)
ข้อมูลจากประชุมตำนานล้านนากล่าวว่า สร้างขึ้นโดยบัญชาของพระราชมารดาของพระเจ้ากือนา เพื่อถวายไว้แทนพระเจ้ากือนา เมื่อครั้งทรงประชวรหนัก จึงเป็นเหตุหนึ่งของการเรียกพระนามของพระพุทธรูปที่สร้างแทนพระองค์ว่า “พระเจ้าค่าคิง” ( คิง : ในภาษาล้านนา หมายถึง ตัวของเรา ดังจะเห็นได้จากคำพูดว่า “ฮู้คิงก่” หมายถึง รู้ตัวหรือเปล่า)

เจดีย์อนุสาวรีย์ (กู่) บรรจุอัฐิครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนาไทย สร้างเมื่อ พ.ศ.2490 เพื่อเป็นอนุสรณ์ในคราวที่ครูบาศรีวิชัย มาบูรณะปฏิสังขรณ์วัดสวนดอก และเพื่อเป็นที่สักการะบูชาของสาธุชนทั่วไป

พระวิหารหลวง กว้าง 12 วา 2 ศอก ยาว 33 วา สร้างเมื่อ พ.ศ.2474 โดยครูบาศรีวิชัย และเจ้าแก้วนวรัฐ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กมีลักษณะพิเศษ คือ เป็นวิหารโถงไม่มีผนัง แต่มีระเบียงโดยรอบ หน้าบันทั้งสองด้านมีลายปูนปั้น เครือเถาศิลปะล้านนาที่สวยงาม ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478

ขอขอบคุณ
เนื้อหาจาก http://www.watsuandok.org

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .