วัดร่องขุ่น แผนที่วัดร่องขุ่น จ.เชียงราย

วัดร่องขุ่น จ.เชียงราย
การเดินทางไปวัดร่องขุ่น ข้อมูลวัดร่องขุ่น

วัดร่องขุ่น เป็นวัดพุทธและวัดฮินดู ที่จังหวัดเชียงราย ออกแบบและก่อสร้างโดย เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบัน โดยเฉลิมชัยคาดว่างานก่อสร้างวัดร่องขุ่นจะไม่เสร็จลงภายในช่วงชีวิตของเขา วัดร่องขุ่นได้ต้นแบบการสร้างมาจาก วัดมิ่งเมือง ใน จังหวัดน่าน

เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างวัดมาจาก 3 สิ่งต่อไปนี้คือ

ชาติ : ด้วยความรักบ้านเมือง รักงานศิลป์ จึงหวังสร้างงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ไว้เป็นสมบัติของแผ่นดิน
ศาสนา : ธรรมะได้เปลี่ยนชีวิตของอาจารย์เฉลิมชัยจากจิตที่ร้อนกลายเป็นเย็น จึงขออุทิศตนให้แก่พระพุทธศาสนา
พระมหากษัตริย์ : จากการเข้าเฝ้าฯ ถวายงานพระองค์ท่านหลายครั้ง ทำให้อาจารย์เฉลิมชัยรักพระองค์ท่านมาก จากการพบเห็นพระอัจฉริยะภาพทางศิลปะและพระเมตตาของพระองค์ท่าน จนบังเกิดความตื้นตันและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงปรารถนาที่จะสร้างงานพุทธศิลป์ถวายเป็นงานศิลปะประจำรัชกาลพระองค์ท่าน

วัดร่องขุ่นแห่งนี้เป็นวัดพุทธ ซึ่งสังกัดอยู่ในฝ่ายมหานิกาย ไม่ใช่วัดฮินดูเหมือนดังที่จั่วหัวไว้ในวรรคแรก ซึ่งนั่นการนำเอาวัฒนธรรมแวดล้อมของตัวเองเข้ามาผสมผสานหรือถูกอิทธิของศาสนาอื่นเข้ามาแทรกแซงบ้าง ก็เป็นเรื่องของธรรมชาติ

ตามพระบัญญัติแห่งคณะสงฆ์ไทยแล้ว วัดร่องขุ่น เป็น “วัดพุทธ” ไม่ใช่ “มหายาน”

ความหมายของอุโบสถ
สีขาว : พระบริสุทธิคุณของพระพุทธเจ้า
สะพาน : การเดินข้ามจากวัฎสงสารสู่พุทธภูมิ
เขี้ยว หรือ ปากพญามาร : กิเลสในใจ
สันของสะพาน : มีอสูรอมกัน ข้างละ 8 ตัว 2 ข้าง รวมกันแทนอุปกิเลส 16
กึ่งกลางของสะพาน : เขาพระสุเมรุ
ดอกบัวทิพย์ : มี 4 ดอกใหญ่ตรงทางขึ้นด้านข้างอุโบสถแทนซุ้มพระอริยเจ้า 4 พระองค์ คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์
บันไดทางขึ้น : มี 3 ขั้นแทน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

วัดร่องขุ่นตั้งอยู่ที่
ตำบลป่าอ้อดอนชัย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย 57000 โทรศัพท์ 0-5367-3579, 0-5367-3539

แรงบันดาลใจในการสร้างวัดร่องขุ่น
มีคนถามผม (อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์) เยอะมากถึงแรงบันดาลใจอะไรที่ทำให้ทุ่มตัวทุ่มใจอุทิศตนสร้างวัดไปจนตายผมมีอยู่ 3 สิ่งที่ผมเคารพรักศรัทธายิ่งกว่าชีวิตอันกระจอกงอกง่อยของผมเอง และคนไทยทุกคนควรระลึกถึงทุกลมหายใจเข้าออก

ชาติ ผมเกิดบนแผ่นดินไทย ในหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อว่าบ้านร่องขุ่น ในจังหวัดเชียงราย เกิดมาไม่มีไฟฟ้า ใช้บริการด้วยหมอตำแยชื่อยายตุ่นดึงออกมาจากแม่ผม เลือดรกผมตกบนแผ่นดินนี้ ผมรักบ้านเมืองประเทศของผม แต่เด็ก

ปรารถนาอยากเป็นทหารรับใช้ชาติ แต่ดันเรียนไม่เก่ง วาดรูปเก่ง จึงหวังว่าวันหนึ่งข้างหน้าจะสร้างงานศิลปะให้ยิ่งใหญ่ฝากไว้ให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน ณ ที่เกิด

ศาสนา ผมเลวมาก่อนแต่เด็ก ใจร้อน วู่วาม เคยแทงพี่ชาย เกเร เที่ยวซ่อง เจ้าชู้ โตขึ้นติดกาม เจ้าชู้มาก หลอกผู้หญิงมาเยอะ เรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วก็ยิ่งเพิ่มความเลวเข้าไปอีก อัตตสูง ความอยากกามอยากวัตถุสูง อยากเด่น

อยากดัง อิจฉาตาร้อน โอ้อวด

ธรรมมะของพระพุทธเจ้าเป็นเหมือนหวายหนามอันแหลมคมฟาดมาที่ใจผมเมื่อจิตพยศ ธรรมะเหมือนน้ำเย็นดับความเร่าร้อนลึกๆในจิตผม และเป็นน้ำอุ่นๆ ให้ผมอุ่นจิตเมื่อผมมีอาการหวาดผวาลังเลในสัจธรรม

พระมหากษัตริย์ เมื่อผมเรียนอยู่ที่คณะจิตกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผมเคยได้ยินครูบาอาจารย์ผมพูดถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า พระองค์เคยรับสั่ง “งานศิลปะประจำรัชกาลของเรา ไม่เห็นมี ทุกรัชกาลเขามีงาน

ศิลปะที่แสดงเอกลักษณ์กันทุกรัชกาล วัดวาอารามที่สร้างกันใหม่ๆ ก็ยังยึดอิทธิพลศิลปะเก่าๆ อยู่”

เริ่มแรกสร้างวัด ผม (อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์) คิดเพียงกะสร้างโบสถ์ 1 หลังสวยๆ ใช้เวลาสัก 10 ปีก็มากพอ สร้างไปได้ 2 ปี คนชอบกันมาก เริ่มมองสิ่งก่อสร้างภายในวัด ขี้เหร่ไม่สวย ดูไม่เข้ากับโบสถ์ อุตริสั่งรื้อทิ้งหมด เริ่มตั้งแต่ซุ้มประตูวัด ประปา

หมู่บ้านหน้าวัด ศาลาอ่านหนังสือ ศาลาการเปรียญ หอฉัน กุฏิพระหลังเก่าของแม่สร้างอุทิศให้อาก๋งที่ผมเคยวาดรูปติดหน้าบันไว้เมื่อเป็นเด็กศิลปากรปี 4 สุดท้ายปีนี้ 2548 ทุบกุฏิใหญ่ของพระสงฆ์องค์เจ้าทั้งหมดทิ้งเป็นหลัง

สุดท้าย จึงไม่เหลืออะไรเลยที่เป็นของเก่าสมัยท่านเจ้าอาวาส พระครูไสวสร้างไว้ (มรณภาพปี 2546)

ผมต้องทุบทิ้งเพราะเป็นของเก่าที่ไม่มีค่าทางสุนทรีภาพ เป็นช่างรับเหมาห่วยๆ ราคาถูกๆ สร้างประมาณ 10 – 20 ปีนี่เอง

พอทุบของเขาทิ้งก็เลยคิดสร้างเพิ่ม แต่ที่ดินวัดไม่พอเลยซื้อเพิ่มครับ อีกไร่กว่าก็ยังไม่พออีก หากสร้างไปก็จะเบียดเบียนกันดูไม่สวย จึงติดต่อขอซื้อที่จากเศรษฐีกรุงเทพฯ เพิ่ม แต่เป็นบุญของพระศาสนาครับท่านใจบุญยกให้ฟรีๆ

ไร่กว่าๆ ที่วัดตกสี่เหลี่ยมพอดี

เวลาผ่านไป 5 ปี คนมาชื่นชมกันเยอะมากจนหาที่จอดรถลำบาก และดันแพ้เสียงเชียร์โดยเฉพาะพวกฝรั่งมันยกย่องออกอาการมาก เลยบ้าตามมัน เปลี่ยนความคิดเป็นสร้างให้สวยระดับโลกให้ได้

เอาล่ะวะไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ลุยเต็มสูบกันเลย ผมขอที่เพิ่มจากคุณวันชัย วิชญชาคร เศรษฐีใจบุญเป็นครั้งที่สอง ท่านก็เห็นแก่พระศาสนา ประเทศชาติ บอกผมว่าเอาเลยอาจารย์ จะเอาเท่าไหร่ก็ถมเอาเถอะ ผมมีร้อยกว่าไร่หลังวัด

ผมคนขี้เกรงใจครับ ขอแค่พอสร้างให้ครบ 9 หลัง ได้เพิ่มอีกประมาณ 3 ไร่กว่า รวมวัดมีเนื้อที่จาก 3 ไร่กว่าเป็น 9 ไร่กว่าๆ

พอแล้วครับ ภูมิทัศน์ลงตัวสวนพอดีครับ ไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป ผมแบ่งที่ดินเป็น 3 เขต

หนึ่ง เขตพุทธวาส ผมชอบเรียกว่าพุทธภูมิ เป็นที่อยู่ของพระพุทธเจ้า จะอยู่ด้านขวา มีเสานางเรียกตั้งโปร่งๆ เป็นเขตแดนประกอบด้วยโบสถ์ หอพระธาตุ สะพานสุขาวดีข้ามน้ำไปสู่ยังหอพระอีกหลัง

สอง เขตสังฆาวาส อยู่ด้านซ้ายด้านเดียวกับเขตฆราวาส จะประกอบด้วยกุฏิพระและหอวิปัสสนา จุคนประมาณ 200 คน สำหรับบรรยายธรรมขั้นสูงและฝึกวิปัสสนากรรมฐาน

สาม เขตฆราวาส อยู่ด้านซ้ายมือหลังแรก เป็นหอศิลป์ ข้างล่างห้องโถงใหญ่ใช้เป็นที่จำหน่ายผลงานสิ่งพิมพ์ ของที่ระลึกต่างๆ ห้องวีดิทัศน์เพื่อบรรยาย จุคนประมาณ 50 คน

——————————————————————————————————————

ผมใฝ่ฝันที่จะสร้างวัด (อุโบสถ) สักหลังก่อนตาย สาเหตุเพราะผมเป็นชาวพุทธแท้ ผมเป็นจิตรกร หลังจากที่ผมได้ทำบุญครั้งใหญ่ ปี ๒๕๒๗ ด้วยการเดินทางไปเขียนจิตรกรรมฝาผนังถวายเป็นพุทธบูชาที่วัดพุทธปทีป ประเทศอังกฤษ เป็นเวลา ๔ ปี ผมหมดเงินที่เคยสะสมมา ผมเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่
ปี ๒๕๓๑ ผมกลับไปที่บ้านเกิดของผม เพื่อกราบหลวงพ่อและถวายรูปพิมพ์ผลงานวัดพุทธปทีปให้ท่าน วัดบ้านผมทรุดโทรมมาก หลวงพ่อสมภารสุขภาพไม่ดีและชราภาพมาก อุโบสถหลังเล็กๆ ที่ผมเคยจำความได้ เคยเห็นพ่อผมกับเพื่อน ๆ ท่านในหมู่บ้าน ชักไม้ด้วยช้างมาร่วมกันสร้างวัด ผมเคยเห็นหลวงพ่อ ตายาย พ่อแม่ และพี่น้องชาวบ้านเดินทางไปอาราธนาหลวงพ่อศิลาดำใส่เกวียนออกมาจากป่า
ผมเข้าไปในโบสถ์ที่ใชัสังฆกรรมไม่ได้ด้วยเหตุเพราะชำรุดมาก และกลายเป็นที่อยู่ของค้างคาวฝูงใหญ่ ผมตั้งอธิษฐานจิต ถ้าชีวิตผมพร้อมเมื่อไหร่ ผมจะกลับมาสร้างโบสถ์ใหม่ให้ได้ เวลา ๑๐ ปี ผ่านไปด้วยกุศลจิต ชีวิตผมและครอบครัวประสบความสำเร็จทุกอย่างพร้อมแล้ว
ผมกลับไปบ้านเกิดดำเนินการร่วมกับหลวงพ่อสมภาร เริ่มร่างรูปอุโบสถหลังใหม่ตามจิตนาการของท่าน เพื่อให้ท่านได้มีส่วนร่วม ดังนั้น โครงสร้างลักษณะสถาปัตยกรรมในปีแรกจึงเป็นแบบตามใจหลวงพ่อสมภาร
ใน ๒ ปีต่อมา ผมได้มาเริ่มต่อเติมเพิ่มสถาปัตยกรรมให้สง่าแปลกตาขึ้น โดยเพิ่มบันไดด้านข้างขึ้น ประดับเปลวพระรัศมี ทั้ง ๔ แบบ และขุดสระสร้างสะพานข้ามเข้าสู่อุโบสถ พร้อมกับงานตกแต่งในเรื่องของลวดลายปูนปั้นประดับกระจกภายนอก เขียนแบบและหาช่างพื้นบ้านและแม่บ้านในหมู่บ้านมาฝึกสอนปั้นและประดับกระจกทั้งหมด ๑๐ คน
ผมได้เริ่มงานมาถึงบัดนี้ ปี ๒๕๔๓ ๓ ปีแล้วครับ คาดว่า จะใช้เวลาอีก ๗ ปี ถึงจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ ทั้งลวดลายปูนปั้นภายนอกและจิตรกรรมฝาผนังภายใน ผมต้องหาเงินปีละประมาณล้านถึงสองล้านบาทเพื่อสร้างสรรค์ผลงานชิ้นสุดท้ายของชีวิตผมให้ดีที่สุด เท่าที่ฝีมือและสติปัญญาผมมีอยู่
วัดร่องขุ่นจะเป็นศิลป์สมบัติของคนไทยทุกคนและสุดท้ายวัดร่องขุ่นอาจเป็น ศิลป์สมบัติอีกแห่งหนึ่ง ที่มีคุณค่าแก่โลกมนุษย์ในอนาคตก็ได้ แต่ทุกสิ่งไม่สำคัญเท่ากับบุญกุศลที่ผมและท่านผู้มีจิตศรัทธาทุกท่านอุทิศ ถวายเพื่อเป็นทิพยสถานและพระนิพพานเป็นที่สุด
กราบขอบพระคุณทุกท่านที่ได้ร่วมสร้างมหากุศลกับผม

๐ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ๐

ขอขอบคุณ เนื้อหาและรูปภาพจาก วัดร่องขุ่น.com วิกิพีเดีย

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .