วัดอนาลโย ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านสันป่าบง ตำบลสันป่าม่วง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีเนื้อที่ทั้งหมด 2,800 ไร่ เริ่มการก่อสร้างโดยพระอาจารย์ไพบูลย์ สุมังคโล ขณะท่านอยู่วัดรัตวนาราม ท่านมีปรากฎการณ์เห็นทรายทองไหลลงมาสู่วัดเป็นสายรังสี แสงของทรายทองที่ไหลพรั่งพรูราวกับสายน้ำนั้นอาบวัดทั้งวัดแทบจะกลายเป็นวัดทองคำ ท่านมองทวนลำแสงสีทองไป ก็เห็นเขาที่อยู่อีกฟากหนึ่งของกว๊านพะเยา จากนั้นได้มีโยมอาราธนาไปดูสถานที่สำคัญและแปลกประหลาดเพื่อจะได้สร้างสำนักสงฆ์ไว้เป็นที่บำเพ็ญกุศลของชาวบ้าน สืบเนื่องจากชาวบ้านมักจะเห็นแสงสว่างเป็นดวงกลมล่องลอยไปมาอยู่บนดอยสูง แสงนั้นดูสว่างเรืองรองบางทีก็สว่างจ้าเป็นสีเหลืองสดอาบทั้งดอยราวกับเป็นดอยทองคำ เหตุการณ์เหล่านี้มักปรากฎในวันสำคัญทางพุทธศาสนา เช่น วันพระ 8 หรือ 15 ค่ำ เป็นต้น หลังจากที่พิจารณาดูสถานที่แล้วเห็นว่าเป็นสถานที่สวยเหมาะสมแก่การเจริญเมตตาภาวนาเป็นอย่างยิ่ง ควรที่จะสร้างให้เป็นสถานที่พักปฏิบัติธรรม
จากนั้นสมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร มาเป็นองค์ประธานพิธีวางศิลาฤกษ์ ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2525 เวลา 12.45 นาฬิกา จากนั้นก็ได้สร้างสิ่งต่างๆมาจนปรากฏเห็นอยู่ในปัจจุบัน แต่มีอุปสรรคสำคัญอยู่ประการหนึ่งที่ทำให้วัดต้องขบคิดหนักคือ “การขาดแคลนน้ำ” ระหว่างที่ท่านกำลังครุ่นคิดหาทางแก้ไข วันหนึ่งท่านพระอาจารย์ไพบูลย์ได้รับอาราธนานิมนต์ไปเจริญพระพุทธมนต์ ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณในพระบรมหาราชวัง ขณะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประเคนเครื่องจตุปัจจัยไทยธรรมมาถึงท่านอาจารย์ทรงมีพระราชปฏิสันถารว่า “ทราบข่าวว่าท่านอาจารย์ได้ไปสร้างสำนักสงฆ์บนเขาสูงที่จังหวัดพะเยาทางฟากกว๊าน คงจะขาดแคลนน้ำ ไม่เป็นไรผมจะปรึกษากรมชลประทานให้” วันพุธที่ 18 มกราคม 2527 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมนมัสการพระอาจารย์ไพบูลย์ สุมังคโล หัวหน้าสำนักสงฆ์อนาลโยเป็นการส่วนพระองค์ ในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้น ทรงสราญพระราชหฤทัยเป็นที่ยิ่ง ทรงสนทนาธรรมแล้วทรงเสวยพระกระยาหารค่ำ ณ ที่ประทับรับรองของสำนักสงฆ์วัดอนาลโย ประทับอยู่ตั้งแต่เวลา 15.00 น. จนถึงเวลา 20.00 น. จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับและได้ทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทาน จัดสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ต๋อม และอ่างเก็บน้ำห้วยทับช้างเพื่อผันน้ำมาใช้บนสำนักสงฆ์ และจ่ายไปยังไร่นาของประชาชน จึงนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมเป็นที่สุด ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กระทรวงศึกษาธิการและมหาเถรสมาคม อนุญาตให้เป็นวัดโดยสมบูรณ์ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2530 และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม ให้วัดอนาลโย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
วัดอนาลโย นับเป็นวัดใหญ่ที่มีชื่อเสียงของเมืองพะเยา มีอาณาเขตกว้างขวางและมีสถานที่ที่สำคัญที่น่าสนใจให้เข้ามาศึกษาและเยี่ยมชมมากมาย เริ่มกันตั้งแต่บริเวณลานจอดรถ สำหรับใครที่ชื่นชอบการจับจ่ายซื้อหาของฝาก ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ผักตบชวา ที่แปรรูปเป็นสินค้าต่าง ๆ เช่น กระเป๋า หมวก ซองโทรศัพท์มือถือ หรือของกินต่าง ๆ บริเวณลานจอดรถมีไว้คอยบริการเพียบ
เดินขึ้นมาบริเวณวิหารจัตุรมุข อาคารสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง รอบ ๆ อาคารมีศาลาไม้ และด้านล่างวิหารจัตุรมุขเป็นสระน้ำขนาดใหญ่ เต็มไปด้วยพันธุ์ปลาน้ำจืด จึงทำให้ชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ว่า “วังมัจฉา” ถัดมาเป็นสวนหย่อมขนาดกลาง มีโต๊ะไม้หินอ่อนไว้สำหรับนักท่องเที่ยว ที่อยากมานั่งชมวิวเมืองพะเยาในยามเย็น
การขึ้นไปยังวัดอนาลโยสามารถไปได้สองแบบด้วยคือ เดินขึ้นบันได หรือเอารถยนต์ส่วนตัวขับขึ้นไปตามถนน สู่วัดอนาลโย สำหรับหมูหิน.คอมพามาเที่ยววัดอนาลโยทั้งทีจะให้นั่งรถขึ้นก็กระไรอยู่ เราเลยเลือกที่จะเดินขึ้นไปทางบันได แบบนี้ได้อานิสงส์แรง
บันไดทางขึ้นก็ค่อนข้างชันพอสมควร อีกทั้งระยะทางและจำนวนขึ้น หากเทียบกับวัดพระธาตุดอยสุเทพแล้วละก็ แบบว่าเหนื่อยพอ ๆ กันเลย ระหว่างทางมีต้นไม้ทั้งน้อยใหญ่ ซึ่งเป็นต้นไม้สำคัญ ๆ บางต้นมีอายุหลายร้อยปี บางต้นมีชื่อติดไว้ บางต้นไม่มีชื่อ เดินไปเรื่อย ๆ เหนื่อยก็หยุดพัก เดินสักพักก็มาถึงจนได้บริเวณวัดอนาลโย
พอเดินมาถึงจุดแรกก็มาสุดตากับ “วงเวียน 12 นักษัต” ซึ่งมีไว้สำหรับให้นักท่องเที่ยวบูชาปีเกิดของตัวเอง และก็มีความเชื่อว่าคนที่สามารถนำเหรียญบาทมาตั้งบริเวณปีเกิดของตัวเองได้ ก็จะประสบผลสำเร็จ มีโชคลาภ งานนี้หมูหิน.คอมก็ไม่พลาด เริ่มควักเหรียญบาทแล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาตั้งเหรียญแบบจดจ่อเลยทีเดียว ในที่สุดก็สามารถตั้งเหรียญได้ ใช้เวลานานพอสมควร ความจริงแล้วมันเป็นกุศโลบายของผู้ที่คิดสร้างวงเวียน 12 ราศีประจำปีเกิดนี้ โดยต้องการที่จะสอนให้ผู้ที่ต้องการจะตั้งเหรียญให้มีจิตใจจดจ่อกับสิ่งที่ทำอยู่ สร้างให้เกิดความอดทน ซึ่งเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง
จากนั้นก็เดินมาที่วิหารพระพุทธรูปปางนาคปรก ซึ่งภายในเป็นที่ประดิษฐานขององค์พระพุทธรูปปางนาคปรก ที่แกะสลักด้วยไม้สักทองทั้งองค์ สวยงามมาก เชื่อได้เลยผู้ที่เป็นผู้แกะสลักพระพุทธรูปองค์นี้ คงเป็นคนที่มีจิตใจอ่อนโยน มีสติ ลีความมุ่งมานะ อดทนอย่างสูง
เดินต่ออีกนิดก็จะพบกับวิหารพระพุทธรูปเก่าแก่ปางต่าง ๆ มากมาย ทั้งแบบศิลปะล้านนา สุโขทัย หรือแม้แต่พระพุทธรูปเก่าแก่จากประเทศเพื่อนบ้าน เรียกได้ว่ามาที่วัดอนาลโยที่เดียว ก็สามารถกราบไหว้บูชาองค์พระพุทธรูปจากหลาย ๆ ที่ได้
ไม่นานก็มาถึงประตูแห่งดินแดนบุษราคัม สร้างและแกะสลักด้วยไม้สักทอง ฝีมือประณีตงดงาม จากนั้นก็ถึงจุดหมายปลายทางของเรา นั่นก็คือวิหารพระแก้วบุษราคัม ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วบุษราคัม ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองพะเยา และยังมีพระพุทธรูปอื่น ๆ ที่มีพุทธลักษณะงดงามอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นที่เก็บบุษราคัมอันล้ำค่า นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์อันล้ำค่ายิ่ง ซึ่งควรเก็บรักษาและทำนุบำรุงไว้จนชั่วลูกชั่วหลาน
นอกจากการกราบนมัสการพระแก้วบุษราคัมแล้ว ก็ยังสามารถมองเห็นวิวกว๊านพะเยาแบบเต็ม ๆ ได้ที่บริเวณจุดชมวิวลานวิหารพระแก้วบุษราคัม เรียกได้ว่าเป็นจุดที่มองวิวกว๊านพะเยาและเมืองพะเยาได้สวยงามที่สุด และสำหรับทริปนี้หมูหิน.คอมก็พาเพื่อน ๆ มาเยือนนครภูกามยาว หรือเมืองพะเยากันแบบเต็มรูปแบบแล้ว เอาเป็นว่าเที่ยวเมืองไทย เที่ยวแบบไทย ๆ กินแบบไทย ๆ สบายอุรา
ขอขอบคุณ http://moohin.in.th/