พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปนั่งสมาธิราบ ปางมารวิชัย สมัยสุโขทัย มีเรือนแก้ว ประทับนั่งเหนือรัตนบัลลังก์หินอ่อน (เรือนแก้วนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯให้ทำถวาย เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๕ แต่ช่างทำไม่งาม รัชกาลที่ ๗ จึงโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขใหม่สวยงามตามที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน)
พระพุทธชินราช มีขนาดหน้าตัก ๕ ศอกคืบ ๕ นิ้ว มีเศษ น้ำหนักทองที่ใช้หล่อ ๓,๙๔๐ ชั่ง
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯให้พระประสิทธิปฏิมา (ม.ร.ว.เหมาะ ดวงจักร เมื่อครั้งเป็น หลวงประสิทธิปฏิมา) จางวางช่างหล่อขวา ซึ่งเป็นช่างหล่อฝีมือดีที่สุด ขึ้นไปปั้นหุ่นถ่ายแบบจากพระพุทธชินราชองค์เดิม ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก แล้วเสด็จพระราชดำเนินทรงเททองหล่อเป็นส่วน ๆ เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๔๔๔ อัญเชิญล่องเรือมาคุมองค์และแต่งที่กรมทหารเรือ โดยพระยาชลยุทธโยธิน (Andre du Plessis de Richelieu ชาวเดนมาร์ก เข้ามารับราชการเป็นทหารเรือ มียศเป็นพลเรือโท ตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารเรือ) เป็นผู้ควบคุมการแต่งองค์พระ เสร็จแล้วเชิญลงเรือมณฑปแห่ไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๔๔๔
การทั้งปวงตั้งแต่ปั้นหุ่น หล่อ ตกแต่ง และอัญเชิญขึ้นประดิษฐานในพระอุโบสถ สำเร็จเรียบร้อยดี ทรงปีิติโสมนัสอย่างยิ่ง จึง “ทรงเปลื้องสายสะพายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ นพรัตน์ราชวราภรณ์ ซึ่งกำลังทรงอยู่นั้น ถวายพระพุทธชินราชเป็นพุทธบูชา” เมื่อเชิญพระพุทธชินราชขึ้นประดิษฐานในพระอุโบสถ เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้ เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับราชตระกูล ซึ่งทางวัดได้เก็บรักษาไว้อย่างดี และอัญเชิญมาคล้องถวายที่พระหัตถ์พระพุทธชินราช ในวันปิยมหาราช ๒๓ ตุลาคม ทุกปี
เมื่ออัญเชิญพระพุทธชินราชขึ้นประดิษฐานแล้ว ต่อมาถึงปลายปี พ.ศ.๒๔๕๒ จึงโปรดเกล้าฯให้จ้าง มร.จุรุหระ (Mr. Tsuruhara) ครูช่างในโรงเรียนวิชาช่างกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เข้ามาทำการปิดทองจนแล้วเสร็จ และโปรดเกล้าฯให้จัดงานสมโภชในวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๔๕๓
ขอขอบคุณ http://www.watbencha.net/