ประวัติวัดพระทองและหลวงพ่อพระทอง

วัดพระทอง ตั้งอยู่ในตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ระยะทางห่างจากสะพานสารสิน ประมาณ 25 กม. ประวัติของหลวงพ่อพระผุดและวัดพระทองได้มีการบันทึกและจัดพิมพ์โดยพระครูสุวรรณพุทธาภิบาล เจ้าอาวาสวัดพระทอง ไว้ดังนี้

ความเป็นมาของประวัติพระผุดและวัดพระทองนั้น เดิมทีสถานที่ที่ตั้งวัดอยู่ในปัจจุบันนี้ ไม่เป็นวัดมาก่อนเป็นทุ่งกว้าง มีนา มีลำคลอง มีหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์ เช่น โค กระบือ ของชาวบ้านชาวเมืองถลางในสมัยนั้น ชาวบ้านเรียกทุ่งนานี้ว่า ทุ่งนาใน เพราะมีนา มีลำคลองเป็นทุ่งลงมาจากภูเขาน้ำตก ลงเรื่อยมาระหว่างบ้านทั้งสองบ้าน คือบ้านนาในกับบ้านบ่อกรวด เป็นทุ่งลงไปจนถึงทะเลพังบ้านดอน อันเป็นที่ตั้งเมืองเก่าของเจ้าเมืองถลางในสมัยนั้น และบัดนี้ชาวบ้านยังเรียกว่า ทุ่งนาใน อยู่จนทุกวันนี้

ในสมัยที่พบหลวงพ่อพระผุดนั้น เกิดมีพายุฝนตกมากน้ำท่วมทุ่งนา น้ำเข้าบ้าน เข้าป่า พัดพาต้นไม้หักพัง เหมือนกับพายุร้ายสมัยนี้ พอฝนหยุดน้ำไม่ท่วมแล้ว วันหนึ่งมีเด็กชายนำกระบือไปเลี้ยงยังทุ่งนานั้น หาที่ผูกเชือกกระบือสำหรับเลี้ยงข้างริมคลองนั้นไม่มี กิ่งไม้เล็กที่เคยผูกก็ถูกน้ำพัดพาไปหมด เด็กชายนั้นได้เห็นของสิ่งหนึ่งข้างริมคลองมีลักษณะเหมือนไม้แก่น มีโคลนตมติดอยู่ เลยนำเชือกกระบือไปผูกกับสิ่งเหล่านั้นแล้วเด็กก็กลับมาบ้าน พอเด็กถึงบ้านก็เกิดอาการเป็นลมล้มตายลงในเวลาเช้านั่นเอง พ่อแม่ของเด็กก็จัดการทำศพเด็กแล้วพอสาย ๆพ่อของเด็กก็ไปเลี้ยงกระบือ พอไปถึงที่ ๆ เด็กผูกกระบือไว้ก็เห็นกระบือตาย เมื่อเดินเข้าไปดูใกล้ ๆ ก็เห็นเป็นวัตถุอย่างหนึ่งที่เด็กคนนั้นเอาเชือกกระบือไปผูกไว้ เกิดความกลัวเลยตัดเชือกสำหรับผูกกระบือนั้นเสียครึ่งหนึ่ง แล้วนำกระบือไปฝังเสีย พอตกกลางคืนพ่อของเด็กชายผู้นั้นก็ฝันว่า ที่เด็กและกระบือได้ถึงแก่ความตายนั้น เพราะเด็กได้นำเชือกกระบือไปผูกไว้กับเกศพระพุทธรูป พอรุ่งเช้าพ่อของเด็กก็ชวนเพื่อนบ้านไปยังที่ริมคลองที่เด็กนำกระบือไปผูกไว้กับวัตถุประหลาดนั้น ต่างคนต่างก็เอาน้ำมาล้างขัดสีเอาเชือกและโคลนตมที่ติดอยู่ออกจนหมด จึงเห็นเป็นลักษณะเหมือนเกศพระพุทธรูปเป็นทองคำด้วย ชาวบ้านต่างแตกตื่นพากันมาบูชาสักการะกันมาก และพากันไปเรียนให้เจ้าเมืองทรงทราบ เจ้าเมืองสมัยนั้นอยู่บ้านดอน ระยะทางจากสถานที่พระผุดไปบ้านดอนที่ ๆ เจ้าเมืองประทับห่างกันประมาณ 3 กม. เมื่อเจ้าเมืองทรงทราบ ก็รับสั่งให้ทำการขุดมาประดิษฐานไว้บูชาข้างบน แต่ขุดอย่างไรก็ไม่สำเร็จคือไม่สามารถขุดได้ เนื่องจากเกิดมหัศจรรย์มีตัวต่อแตนจำนวนมากขึ้นมากับดินที่ขุดขึ้นมานั้น และอาละวาดไล่ต่อยผู้ที่ขุด คนที่ไม่ขุดตัวต่อแตนจะไม่ทำอันตราย ส่วนผู้คนที่นำดอกไม้มากราบไหว้เข้าไปลูบคลำเกตุมาลาของพระผุดได้ ตัวต่อแตนไม่ทำอันตรายเลย ยังความมหัศจรรย์กับผู้พบเห็นเป็นอันมาก จึงพากันไปเรียนท่านเจ้าเมืองทรงทราบว่าไม่สามารถขุดได้ เพราะบางคนที่ถูกตัวต่อแตนต่อยอาละวาดเป็นพิษไข้ถึงแก่ความตาย ท่านเจ้าเมืองจึงรับสั่งให้ทำที่มุงที่บังเป็นสถานที่กราบไหว้เรื่อยมา ชาวบ้านคนไทยเรียน “พระผุด” เพราะเป็นพระพุทธรูปที่ผุดขึ้นมาจากพื้นดินเพียงพระเกตุมาลาสูงประมาณ 1 ศอก คนจีนเรียกว่า ภูปุ๊ค (พู่ฮุก) เพราะว่าคนจีนส่วนมากเขานับถือว่าเป็นพระผุดมาจากเมืองจีน และคนจีนในย่านเกาะภูเก็ต จังหวัดพังงา ตะกั่วป่า ท้ายเหมือง และจังหวัดกระบี่ ต่างก็พากันมาเคารพนับถือ เมื่อถึงเทศกาลตรุษจีน (เดือน 3) ก็พากันมานมัสการเป็นประเพณีมา จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมานมัสการตลอดทุกปีเป็นเสมอมา เหตุที่เป็นคนจีนอ้างว่าเป็นพระผุดมาจากเมืองจีนนั้น อาตมาเคยถามคนจีนแก่ ๆ ในภูเก็ตหลายท่านด้วยกัน ซึ่งก็จะเล่าเป็นทำนองเดียวกันว่า ในสมัยประมาณสองพันปีเศษ มีชาวธิเบต ไปบุกรุกเมืองจีน คนจีนได้เสียเมืองให้แก่ชาวธิเบต คงเหลือเฉพาะเมืองเซี่ยงไฮ้เท่านั้น ซึ่งที่เมืองเซียงไฮ้นั้นมีพระพุทธรูป 3 องค์ โดยตระกูลเจ้าเมืองจีน 3 พี่น้องเป็นผู้สร้างพระทองคำประจำตระกูล 3 องค์ เล่ากันว่า เจ้าพี่องค์แรกครองเมือง 25 ปี ไม่มีมเหสี และบุตร เมื่อสวรรคตลง เจ้าองค์น้องที่สองเสวยราชย์ได้เก็บเอาทองคำทั้งหมดเทเป็นองค์พระพุทธรูปบูชาไว้บูช่าแทนตัวเจ้าพี่องค์แรก เจ้าองค์ที่สองครองราชย์ได้ 23 ปี ก็สวรรคต ครั้นเจ้าน้ององค์ที่สามครองราชย์ก็เก็บรวบรวมทองคำทั้งหมดของเจ้าองค์ที่สองเทเป็นพระพุทธรูปอีกองค์ใหญ่กว่าองค์ที่หนึ่ง เป็นพระพุทธรูปองค์กลาง น้ององค์ที่สามเสวยราชย์ได้ 8 ปี ก็สวรรคต เจ้าต่างวงค์เสวยราชย์แล้วก็เก็บเอาทองคำของเจ้าแผ่นดินมาเทเป็นองค์พระพุทธรูปทองคำ รวมองค์พระ 3 องค์ เป็นพระพุทธรูปที่สวยงามมากในสมัยนั้น และในครั้นนั้นเองเมืองเชียงไฮ้ได้เสียให้แก่ชนชาติธิเบต ชาวธิเบตจึงได้นำเอาพระพุทธรูปองค์โตกว่าในสามองค์ ลงเรือพามาทางทะเลจีนเข้ามายังมหาสมุทรอินเดียเพื่อไปประเทศธิเบต เรือเกิดถูกลมพายุพัดเข้ามายังชายฝั่งพังงาและเรือก็จมลงตรงนี้เองเลยเกิดเป็นเกาะขึ้น เนื่องจากสวะมาจับเข้ากับเรือที่จมเลยเป็นเกาะตั้งแต่นั้นมา และพอดีที่ตรงพระพุทธรูปเป็นลำคลองเมื่อฝนตกหนัก ๆ น้ำเซาะตลิ่งพังหลวงพ่อก็โผล่ให้เห็นเพียงพระเกตุลา ส่วนองค์พระนั้นคงอยู่ใต้ดิน ยังขุดไม่ได้ คนจีนคนไทยจึงนับถือตลอดมา คนจีนบางท่านยังเล่าว่าหลวงพ่อผุดนี้เป็นพระพุทธรูปองค์กลางที่ชาวธิเบตขโมยมานั้นมีชื่อว่า “กิ้มมิ่นจื้อ”

อยู่มานานได้มีชีตาผ้าขาวรูปหนึ่งมาพักที่เมืองถลาง รู้ว่าพระพุทธรูปทองคำผุดอยู่กลางท้องทุ่งนา ท่านรู้สึกกลัวว่าโจรผู้ร้ายจะตัดพาไปขายเสีย เลยชักชวนชาวบ้านแถว ใกล้ ๆ ไปเก็บเอาเปลือกหอยมาเผาไฟทำเป็นปูนขาวมาปนกับทรายโบกเอาไว้กันผู้ร้าย เลยเป็นสถานที่กราบไหว้เรื่อยมา

ต่อมาเมืองถลางได้เสียแก่พม่า พม่าโจมตีแบบจู่โจม คนไทยไม่ทันรู้ตัวถูกพม่าตีแตก เจ้าเมืองหนีไปอยู่ทางภูเก็ต และในสมัยนั้นเมืองตะกั่วทุ่ง เมืองตะกั่วป่า ประจวบฯ ปราณบุรี จนถึงกรุงศรีอยุธยา พม่ายึดได้ พม่าจู่โจมแบบกองโจร เจ้าเมืองถลางหนีไปอยู่ทางภูเก็ต เจ้าเมืองถลางให้คนสนิทไปเรียนให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชทรงทราบ เพราะในสมัยนั้นถลางขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชทรงทราบแล้ว ก็ยกกำลังทหารมาช่วยเมืองถลาง พม่าเมื่อยึดเมืองถลางได้แล้วก็กวาดทรัพย์สินที่อื่นหมดแล้ว พอพม่ารู้ว่ามีพระพุทธรูปทองคำพม่าเลยรื้อสิ่งที่ชีตาผ้าขาวโบกไว้ออกหมด พม่าก็เห็นเป็นทอง พม่าอยากได้ทั้งองค์ พม่าก็เลยขุดหลวงพ่อพระผุด ในขณะที่พม่าทำการขุดนั้นจึงเกิดสิ่งมหัศจรรย์มีมดคันตัวเล็ก ๆ ขึ้นมากับดินที่พม่าขุดเป็นจำนวนมาก คนโบราณเล่าว่าขึ้นมาเท่าลำตาล(เท่าต้นตาล) กัดพม่าไม่เลือก พม่าคนใดถูกมดคันกัดคนนั้นเป็นไข้จับสั่นล้มตายหลายร้อยคน ที่ตายก็ตายไปที่เหลือก็ขุดไป พม่าขุดถึงพระพักตร์เห็นสวยงามมาก พม่ามีความอยากได้ทั้งองค์ เมื่อมดคันกัดมาก ๆ เข้า พม่าเอาไฟเผาพอมดตายหมดแต่ดินร้อนพม่าก็ขุดไม่ได้ พม่าให้คนไทยเอาน้ำมารดให้ดินเย็นแล้วพม่าก็ขุดอีก พม่าที่ถูกมดกัดเกิดเป็นไข้ตายจำนวนมาก พม่าพยายามขุดไปจนถึงพระศอ(คอ) ก็ยิ่งเห็นความสวยงามมากขึ้น เมื่อเจ้าเมืองนครยกทหารไทยมาช่วยเมืองถลาง ก็ต้องผ่านเมืองตะกั่วทุ่งก็ต้องตีเมืองตะกั่วทุ่งกลับคืนจากพม่า ที่เมืองตะกั่วทุ่งเจ้าเมืองนครตีแตกเมืองตะกั่วทุ่งกลับคืนมาได้ก็ตีมาเรื่อย ๆ มุ่งหน้าเข้าสู่เมืองถลาง แต่พม่าที่ถูกตีแตกจากเมืองตะกั่วทุ่งก็พาเรือข้ามฟากมายังเมืองถลางหมด เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชเมือ่มาถึงท่านุ่นจะข้ามเข้าเมืองถลางไม่ได้ เลยต้องทำแพ ทำเรือ เสียเวลานานประสบกับเวลานั้นมีเสียงคลื่นดังจัด พม่าเข้าใจว่าเป็นเสียงปืนของทหารฝ่ายเจ้าเมืองและเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งคงจะรวบรวมกำลังพลได้และคงจะข้ามฟากมาได้แล้ว ก็เลยตกใจกลัวพากันลงเรือหนีกลับไป ทิ้งหลวงพ่อพระผุดให้โผล่เพียงพระศอ(คอ) เจ้าเมืองถลางก็ได้กลับเข้ามาตั้งเมืองที่ถลางใหม่ ใช้ชื่อว่า ค่ายท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร ส่วนเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชก็กลับเมืองนครศรีธรรมราชต่อไป สาเหตุที่เจ้าเมืองนครมาช่วยเมืองถลางก็เพราะว่าสมัยนั้นเมืองถลางขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช

และในปีนั้นเอง ได้มีพระธุดงค์รูปหนึ่งเดินธุดงค์มาจากเมืองเหนือ เมืองสุโขทัย มาปักกลดที่นี่ ได้เห็นหลวงพ่อพระผุดเป็นพระพุทธรูปโผล่เพียงพระศอ(คอ) และเป็นทองคำด้วย ท่านกลัวว่าโจรผู้ร้ายจะตัดไปขายเสีย ท่านจึงคิดว่าควรจะสร้างวัด เพราะเห็นว่าเป็นวัตถุที่มีค่ามากท่านธุดงค์ต่อไปไม่ได้ ท่านเลยสร้างวัดขึ้นสมัยหลวงพ่อสิงห์ หลวงพ่อเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดนี้ชื่อหลวงพ่อสิงห์ ท่านเลยชักชวนชาวบ้านสร้างกุฎิ วิหาร และสร้างอุโบสถ โดยให้เอาหลวงพ่อพระผุดเป็นพระประธานในอุโบสถ แล้วก่อสวนให้สูงขึ้น เพื่อสะดวกแก่กิจกรรมของสงฆ์ การก่อสวมสมัยนั้นก่อสวมเพียงแค่หน้าเท่านั้น แล้วต่อมาหลวงพ่อสิงห์ท่านได้จัดสร้าง กุฎิ โรงครัว หอฉัน ศาลาการเปรียญสำเร็จเป็นวัดโดยสมบูรณ์ ผูกพัทธสีมาเรียบร้อย วัดนี้ชาวบ้านเรียกว่า วัดนาใน วัดพระผุด วัดพระหล่อคอ เพราะเป็นพระผุด และที่ว่าท่านเจ้าอาวาสองค์แรกชื่อว่าหลวงพ่อสิงห์นั้นท่านบอกนามของท่านในคราวท่านประทับทรง เมื่อคราวปลุกเสกเหรียญหลวงพ่อพระผุดปี 2511 และได้เล่าประวัติวัดนี้ให้ฟังด้วย เมื่อท่านสร้างวัดเรียบร้อยท่านผูกปริศนา (ลายแทง) ขึ้นไว้ด้วยแรงอธิษฐานว่า เจ้าอาวาสรูปใดแก้ปริศนานี้ไม่ได้ก็อยู่วัดนี้ไม่ได้นับตั้งแต่หลวงพ่อลงวัดนี้มีเจ้าอาวาส 14 องค์เท่านั้น คือ

1. หลวงพ่อสิงห์ 2. หลวงพ่อไชย

3. หลวงพ่อคงฆ์ 4. หลวงพ่อมั่น

ขอขอบคุณ http://phuketonweb.blogspot.com/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .