ข้อมูลท่องเที่ยว จังหวัด นนทบุรี วัดชมภูเวก อำเภอเมือง

วัดชมภูเวก ตั้งอยู่ริมถนนสายสนามบินน้ำ-นนทบุรี ซอยนนทบุรี 33 ตำบลท่าทราย ชื่อวัดมาจากที่ตั้งที่อยู่บนเนินสูง มีความเงียบสงบ จึงเรียกว่า วัดชมภูวิเวก ต่อมาเหลือเพียงวัดชมภูเวก ชาวมอญในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายเป็นผู้สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ.2300 หรืออาจจะก่อนจากนั้น เนื่องจากการอพยพของชาวมอญเข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้เกิดขึ้นในสมัยสมสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่น ๆ ที่ปรากฏคาดว่าวัดชมภูเวกน่าจะสร้างในช่วงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชหรือสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์

สถานที่น่าสนใจภายในวัดชมภูเวก นนทบุรี

พระธาตุมุเตา วัดชมภูเวก

พระธาตุมุเตาองค์ที่เห็นในปัจจุบันนี้ ได้มีการบูรณะใหม่ในปี พ.ศ.2535 – 2539 เนื่องจากองค์พระธาตุเดิมที่บูรณะเมื่อปี พ.ศ.2460 มีการชำรุดทรุดโทรมลงเป็นอันมาก ตรงเอวเหนือปลองไฉนหัก ยอดและฉัตรชำรุดเสียหาย ผิวปูนเดิมกะเทาะหลุดร่อนเกือบหมด จนปี พ.ศ.2535 มีคณะศรัทธา คือ คุณพรชัย สิริวัฒนรัชต์ เจ้าของบริษัทพรชัย 1991 พร้อมครอบครัว เพื่อนสนิทมิตรสหาย นำผ้าป่าสามัคคีมาทอดร่วมกับคณะผู้ศรัทธาชาวท่าทราย ได้เงินทั้งหมดจำนวน 5 แสนเศษ จึงได้ทำการบูรณะครั้งใหญ่ ปรากฏเห็นสวยงามดั่งปัจจุบัน

พระมุเตา ภาษาไทยเรียกเจดีย์ สร้างตามแบบคติความเชื่อของชาวมอญ เดิมสร้างไม่ใหญ่เพื่อเป็นพุทธบูชา ภายหลังเมื่อปี พ.ศ.2460 สมัยรัชกาลที่ 6 พระอธิการอินทร์เป็จเจ้าอาวาส มีพระสงฆ์มอญชื่อพระครูลัยนำคณะสงฆ์มอญจากเมืองมอญร่วมกับคณะสงฆ์ไทยเชื้อสายมอญและชาวบ้านทำการบูรณะเพิ่มเติมโดยสร้างให้สูงใหญ่ครอบองค์เดิม พระมุเตาองค์ใหม๋สร้างบนฐานสี่เหลี่ยมบัวคว่ำบัวหงาย ขนาด 10 x 10 เมตร ฐานสูง 1.5 เมตร องค์พระธาตุสร้างแบบแปดเหลี่ยม ย่อส่วนลด 3 ชั้น ความสูงจากพื้น 15 เมตร มีพระมุเตาบริวาร 4 มุม ด้านหลังสร้างเจดีย์ใหม่ 2 องค์ เพื่อบรรจุอัฐิอดีตเจ้าอาวาส

อุโบสถหลังเก่า วัดชมภูเวก หน้าบันอุโบสถหลังเก่า วัดชมภูเวก ลวดลายปูนปั้นบนหน้าบันอุโบสถหลังเก่า วัดชมภูเวก

อุโบสถหลังเก่าวัดชมภูวิเวกหรือที่ปัจจุบันเรียกวัดชมภูเวก ภายหลังจากได้รับการบูรณะจากกรมศิลปากร เมื่อปี พ.ศ.2549 เพื่อคงแบบอย่างศิลปดั้งเดิมไว้

อุโบสถหลังเก่า สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย ภายหลังพระธาตุมุเตา ขนาดกว้าง 5.35 เมตร ยาว 12.80 เมตร ตามแนวคติมอญแบบมหาอุต ประตูเข้าออกด้านหน้าทางเดียว (แบบวิลันดา) หน้าบันเป็นลายปูนปั้นตั้งแต่ชายคาขึ้นไปจนถึงสันหลังคา บนยอดหน้าบันปั้นรูปเทพพนมแทนช่อฟ้าใบระกา หน้าบันซุ้มประตู ซุ้มหน้าต่าง เป็นลวดลายปูนปั้นซุ้มเถาว์เครือวัลย์ดอกพุดตาน ประดับด้วยถ้วยเครื่องลายครามและเบญจรงค์

จิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถหลังเก่า เป็นภาพพุทธประวัติและทศชาติ เป็นสกุลช่างนนทบุรี ได้รับการบูรณะสร้างเสริมสมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 3 เป็นจิตรกรรมฝาผนังที่สมบูรณ์มากที่สุดที่หนึ่ง โดยเฉพาะภาพพระแม่ธรณีบีบมวยผม ถือได้ว่าสวยงามและหาสมบูรณ์เปรียบเทียบได้ยากยิ่งนัก ชมภาพเพิ่มเติมจากลิงค์ที่ข้างเคียงนี้ >>> ภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดชมภูเวก

วิหารวัดชมภูเวก

วิหารวัดชมภูเวก ตั้งอยู่ด้านหลังอุโบสถหลังเก่า สร้างเพื่อประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง ลักษณะการสร้างตามแบบศิลปมอญ ขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 8 เมตร หน้าบันเป็นลวดลายปูนปั้นแบบพรรณพฤกษาใบไม้ดอกไม้ ประดับด้วยถ้วยลายครามและเบญจรงค์ ยอดหน้าบันติดลายปูนปั้นสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนแทนช่อฟ้า

การเดินทาง รถโดยสารประจำทางที่ผ่าน ได้แก่ สาย 69 สอบถามเข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 184 หรือโดยสารรถสองแถวเล็กจากท่าสะพานพระนั่งเกล้า

ขอขอบคุณ http://www.thai-travel.collection9.net/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .