ประวัติการสร้างพระจุฬามณีเจดีย์ — วัดคีรีวงค์

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาสภมหาเถระ) วัดมหาธาตุฯ กรุงเทพฯ ได้พาพระสงฆ์ ประมาณ ๖๐๐ รูป มาปักกลดปฎิบัติกรรมฐาน ณ วัดคีรีวงศ์ เป็นเวลา ๖ วัน ได้พาท่านเดินขึ้นมาถึง กลางเขา ซึ่งสมัยนั้นยังไม่ได้ทำถนน มีแต่ทางเดินขึ้น เขาท่านมองไปทางตลาดปากน้ำโพ ท่านได้พูดว่าเขาลูกนี้ตั้งชื่อว่า เขาดาวดึงส์ก็ดีนะ เพราะอยู่ตรงถนนดาวดึงส์และอยู่เมืองนครสวรรค์ และสร้างพระจุฬามณีเจดีย์ไว้บนยอดเขาสักองค์หนึ่ง ต่อมาเมื่อปีพ.ศ.๒๕๒๓ มีนักปฎิบัติกรรมฐาน จากกรุงเทพฯ ๕ คน เป็นสุภาพสตรีมาพักที่ วัดคีรีวงศ์ และขอขึ้นมาปฎิบัติกรรมฐานบนยอดเขาดาวดึงส์ เมื่อกลับไปได้ ๒ เดือน มีผู้ปฎิบัติธรรมคน หนึ่งได้เขียนจดหมายมาถึงเจ้าอาวาสวัดคีรีวงศ์ บอก ว่า คิดอยู่ ๒ เดือนแล้ว จึงตัดสินใจเขียนจดหมายมา ถึงอาจารย์ ท่านอาจารย์จะเชื่อหรือไม่ก็สุดแล้วแต่จะ พิจารณา จะขอเล่าตามนิมิตที่ เห็นในสมาธิ บอกว่า วัดคีรีวงศ์ เป็นวัดที่สร้างในสมัยกรุงสุโขทัย ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินสมัยนั้น ได้สร้างไว้และได้สร้างพระเจดีย์ไว้บนยอดเขา ต่อมาพระเจดีย์ได้พังลงพระธาตุได้เสด็จไปอยู่ที่อื่นแล้ว หากอาจารย์อยากจะให้วัดคีรีวงศ์เจริญรุ่งเรือง ต่อไปมากๆแล้ว จะต้องสร้างพระเจดีย์ตรงฐานเจดีย์เก่าบนยอดเขาและให้สร้างแบบพระจุฬามณีเจดีย์ พระจุฬามณีเจดีย์ ที่เห็นในสมาธิบนสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์ มีลักษณะเป็นฐาน ๔ เหลี่ยมและรอบฐานนั้นมีภาพพุทธประวัติ เป็นภาพนูน เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ให้เอาพระธาตุบรรจุที่พระเจดีย์หรือจะอธิษฐานให้พระธาตุกลับมาอยู่ที่เดิม ก็ได้ วัดคีรีวงศ์จะเจริญรุ่งเรืองต่อไปอีกมาก เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๒๓ จึงได้สร้างถนนขึ้นเขาดาวดึงส์ โดยนายสำราญ นางบุญชู จงเศรษฐี ซึ่งมีรถสร้างถนนได้มาช่วยทำให้เสียค่าน้ำมัน เพียง ๓ หมื่นบาทเศษเท่านั้น เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๒๔ ได้วางศิลาฤกษ์สร้างพระจุฬามณีเจดีย์สร้างได้ ๒ ปี หยุดพักเพื่อสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม ข้างล่าง
พ.ศ. ๒๕๓๓ จึงสร้างต่อ องค์พระเจดีย์สำเร็จ ยังเหลือฐานพระเจดีย์และศาลาราย สร้างอยู่๓ ปีก็หยุดก่อสร้าง เพื่อลงไปสร้างหอประชุมธรรมานุภาพ ข้างล่าง พ.ศ. ๒๕๔๔ เริ่มสร้างต่อจนสำเร็จ
อนึ่งทางวัดได้ทำพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งอัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๘ โดยเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ กรรมการมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๐

การสร้างพระจุฬามณีเจดีย์มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
(๑) เพื่อเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา
(๒) เพื่อยกย่องเชิดชูพระพุทธศาสนา
(๓) เพื่อประกาศเกียรติคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
(๔) เพื่อสนองคุณพระพุทธศาสนา
(๕) เพื่อปลูกศรัทธาประชาชนให้เข้าวัด สร้าง กุศล ปฏิบัติธรรม
(๖) เพื่อช่วยรักษาวัดคีรีวงศ์ พระพุทธศาสนา และประเทศชาติ ให้เจริญมั่นคง
(๗) เพื่อช่วยอุปถัมภ์การศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรม การเผยแผ่ธรรมของวัดคีรีวงศ์
(๘) เพื่อเป็นศรีสง่าของจังหวัดนครสวรรค์ และประเทศชาติ

จุฬามณีมีตำนานว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกบวชมาถึงฝั่งแม่น้ำอโนมา ทรงตัดพระเกศาแล้วทรงขว้างไปในอากาศ พระอินทร์ทรงรับไว้ด้วยผอบแก้ว แล้วนำไปบรรจุไว้ในพระจุฬามณีเจดีย์ และหลังจากถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ เมื่อเสด็จปรินิพานแล้ว มีการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุกันโดยโทณพราหมณ์ พระอินทร์ได้นำพระทาฐธาตุข้างขวาที่โทณพราหมณ์ซ่อนไว้ในผ้าโพกศีรษะใส่ผอบทองไปบรรจุไว้ในพระจุฬามณีเจดีย์ด้วย
พระจุฬามณีเจดีย์บนเขาดาวดึงส์วัดคีรีวงศ์ จึงเหมือนว่าเป็นพระเจดีย์ที่สถิตบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ดังกล่าว ไม่เพียงแต่ความวิจิตรอลังการและลึกล้ำด้วยความหมายในการสร้างพระจุฬามณีเจดีย์เท่านั้น
แต่ภายในองค์พระเจดีย์ชั้น ๔ ยังประดิษฐาน พระพุทธรูปจำลองที่สำคัญในประเทศไทย ไว้ให้สักการะบูชา ๔ องค์ คือ พระพุทธรูปมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ประดิษฐานอยู่ทางทิศใต้พระพุทธชินราชจำลอง ประดิษฐานอยู่ทางทิศเหนือ พระพุทธโสธรจำลอง อยู่ด้านทิศตะวันออก พระพุทธรูป หลวงพ่อวัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม อยู่ทางทิศตะวันตก นอกจากนั้นภายในโดมพระเจดีย์ได้มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพุทธประวัติไว้ให้ชมด้วย
ที่เป็นมงคลพิเศษสุดคือ ภายในโดมพระจุฬามณีเจดีย์ทางวัดได้ประกอบพิธีบรรจุ
พระบรมสารีริกธาตุ เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๖
การประกอบพิธีสักการะบูชากราบไหว้พระจุฬามณีเจดีย์ ทางวัดได้จัดขึ้นตรงกับวันงานตรุษจีนที่มีการแห่มังกรของชาวจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นงานเทศกาลประจำปีที่ยิ่งใหญ่มากในระดับจังหวัด หรือแทบจะกล่าวได้ว่าในระดับประเทศ ส่วนด้านนอกเจดีย์ ชั้นบนมีพระพุทธรูปปางประทานพร ขนาดหน้าตัก๖๐ นิ้ว ๔ องค์ ไว้กราบไหว้บูชาเพื่อเป็นสิริมงคล เปรียบด้วยจตุรพิธพรชัย ๔ ประการ คืออายุ วรรณะ สุขะ และพละ อันเป็นมงคลแห่งชีวิตที่มีความเจริญรุ่งเรืองในทุก ๆ ด้าน
เพราะพระจุฬามณีเจดีย์ตั้งตระหง่านสูงระเมฆ บนเขาดาวดึงส์ เมื่อผู้ใดมีโอกาสขึ้นไปถึงฐานพระเจดีย์ชั้น ๔ จะมองเห็นภูมิทัศน์อันงดงามของเมืองนครสวรรค์ในระยะไกลประมาณ ๑๐ กิโลเมตร
ถ้ามองไปทางทิศตะวันออกจะมองเห็นเขากบ บึงบอระเพ็ด และตลาดปากน้ำโพ หากมองไปทางทิศใต้ จะเห็นอุทยานสวรรค์ ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา ศาลากลางจังหวัดนครสวรรค์ และเขาจอมคีรีนาคพรต หันไปทางทิศตะวันตก จะเห็นภูเขาน้อยใหญ่ ทอดตัวตระหง่านอยู่เป็นช่วง ๆ โดยมีภูเขาหลวงเป็นฉากกั้น ยามพระอาทิตย์อัสดงจะเป็นภาพที่งดงามชวนให้เคลิบเคลิ้มหลงใหลในภาพที่ธรรมชาติตกแต่งขึ้น หากมองไปทางทิศเหนือจะเห็นแม่น้ำปิง และทิวทัศน์ทางน้ำที่มาบรรจบกัน คือแม่น้ำปิงกับแม่น้ำน่าน ที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ว่ากันว่า โดยความเป็นจริงแล้ว แม่น้ำที่ไหลมาบรรจบกันที่ปากน้ำโพ มีเพียง ๒ สายเท่านั้น คือแม่น้ำปิง กับแม่น้ำน่าน ส่วนแม่น้ำยมไหลผ่านจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดพิจิตร มาบรรจบกับแม่น้ำน่าน ที่ตำบลเกยไชย อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ แม่น้ำวัง ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำปิงที่อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก ตั้งแต่จังหวัดตาก กำแพงเพชร เรียกแม่น้ำสายนี้ว่า แม่น้ำปิง แม่น้ำน่านก็เช่นกัน ตั้งแต่อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร ชุมแสง มาถึงปากน้ำโพ นครสวรรค์ เรียกแม่น้ำสายนี้ว่า แม่น้ำน่าน เหตุที่เรียกเช่นนั้น เพราะต้นน้ำเกิดที่จังหวัดน่าน
ขึ้นไปถึงเขาดาวดึงส์ และพระจุฬามณีเจดีย์ ที่วัดคีรีวงศ์ และมองเห็นทิวทัศน์อันสวยงามรอบทิศต่าง ๆ ของจังหวัดนครสวรรค์ แล้วทางทิศตะวันตกอีกส่วนหนึ่งจะเห็นพระพุทธชินสีห์ สูงเด่นตระหง่านอย่างน่าเลื่อมใสศรัทธา พร้อมกับได้ชมได้เห็นทิวทัศน์ และภูเขาต่าง ๆ ที่เป็นลูก ๆ และเป็นทิวแถว เช่นเขาหลวง เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า บนวัดคีรีวงศ์และพระจุฬามณีเจดีย์ นอกจากจะให้ความร่วมเย็น ปีติ ดื่มด่ำในสภาพของแดนพุทธศาสนาแล้ว อีกด้านหนึ่งของพระจุฬามณีเจดีย์นั้น ภายในฐานพระจุฬามณีเจดีย์ที่ชั้นที่ ๒ แล้วชั้นที่ ๓ ยังเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธรูปปางต่าง ๆ และพระพุทธรูปประจำ ๑๒ ราศี เพื่อกราบไหว้บูชา

เป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่เกิดในราศีต่าง ๆ เพื่อให้ได้กราบไหว้ และขอพรตามอัธยาศัยของแต่ละผู้คน เพื่อหวังให้เกิดความผาสุกร่มเย็น และความเจริญก้าวหน้าของผู้คนในแต่ละราศี การสร้างและพัฒนาวัดคีรีวงศ์ และสร้างศาสนสถานต่าง ๆ ขึ้นภายในวัด ตลอดทั้งการสร้างพระจุฬามณีเจดีย์ที่ทรงความศักดิ์สิทธิ์ และมีความหมายลึกซึ้งทางด้านสถาปัตยกรรม และปรัชญาทางศาสนา โดยพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระวิกรมมุนี และศรัทธาญาติโยมนั้น
แสดงให้เห็นถึงบารมีธรรมอันสูงเด่นของท่านเจ้าคุณพระราชพรหมาจารย์ เจ้าอาวาสวัดคีรีวงศ์ ที่ญาติโยมมีศรัทธาต่อการมุ่งมั่นของท่านในการที่จะจรรโลง และประกาศความยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนาให้ประจักษ์แก่สายตาคนทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ญาติโยม ผู้มีจิตศรัทธาในพุทธศาสนาและท่านเจ้าคุณพระวิกรมมุนี จึงได้ร่วมพลังศรัทธาร่วมมือกับท่านสร้างสิ่งที่เป็นอนุสรณ์ยิ่งใหญ่ทางศาสนาให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี สิ่งต่าง ๆ ที่เป็นความสำเร็จอันน่าภูมิใจของพุทธศาสนิกชน ไม่เพียงแต่จะเป็น
เกียรติและสร้างชื่อเสียงให้แก่พุทธศาสนาและชาวจังหวัดนครสวรรค์เท่านั้น แต่ยังเป็นเกียรติประวัติและชื่อเสียงของประเทศไทย ที่เป็นเมืองแห่งพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงของโลกอีกด้วย
ขอขอบคุณ http://61.19.192.247/webnkw-bak020812/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .