วัดอุโมงค์ตั้งอยู่ที่เชิงดอยสุเทพ ด้านหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทางเข้าวัดสามารถใช้ถนนสุเทพ หรือถนนเลียบคลองชลประทานก็ได้ แต่แนะนำถนนสุเทพด้านหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สะดวกที่สุด จากสี่แยกหลังมอ มุ่งหน้าสู่ดอยสุเทพ สังเกตซ้ายมือจะเห็นป้ายวัดอุโมงค์สีฟ้า เข้าไปในซอยประมาณ 2 กิโลเมตร
ความเป็นมาของวัดนี้ต้องเท้าความกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 1839 หลังจากพญามังราย พ่อขุนรามคำแหง และพ่อขุนงำเมือง กษัตริย์สามสหายสร้างเมือง “นพบุรีศรีนครพิงค์” หรือเชียงใหม่ในปัจจุบันแล้วเสร็จ พญามังรายศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก จึงส่งคนไปนิมนต์พระลังกา 5 รูป โดยมีพระกัสสปะเถระเป็นหัวหน้า แล้วอาราธนาคณะสงฆ์ลังกาให้จำพรรษาที่วัดแห่งวัดเวฬุกัฏฐาราม หรือวัดอุโมงค์ในปัจจุบัน ซึ่งสร้างขึ้นใหม่เพื่อรับรองคณะสงฆ์นี้โดยเฉพาะ
พระพุทธศาสนาในดินแดนล้านนาค่อยๆ เสื่อมลงหลังพญามังรายสวรรคต กระทั่งรัชสมัยพระเจ้ากือนาธรรมมิกราช หรือพญากือนา พระองค์ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง ทรงบูรณะวัดเวฬุกัฏฐาราม สร้างอุโมงค์ที่มีทางเชื่อมต่อกัน 4 ช่อง ทางทิศเหนือของเจดีย์ แล้วจึงอาราธนาพระมหาเถระจันทร์มาจำพรรษาที่วัดนี้ ตั้งชื่อใหม่ว่า “วัดอุโมงค์เถรจันทร์”
ต่อมาพระพรหมมังคลาจารย์ หรือหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ท่านได้รับการอาราธนาจากสวนโมกข์ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ให้มาจำพรรษาที่วัดแห่งนี้ (2492-2509) ท่านเป็นที่รู้จักในฐานะพระสงฆ์ผู้ปฏิรูปแนวทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศไทย วัดห่งนี้เปลี่ยนชื่อใหม่จาก “วัดอุโมงค์เถรจันทร์” เป็น วัดอุโมงค์ “สวนพุทธธรรม” ตามสภาพพื้นที่ในบริเวณวัดที่เป็นป่าผืนใหญ่
เมื่อเดินทางมาถึงวัดอุโมงค์เพื่อนๆ จะพบกับความสงบร่มรื่น ประหนึ่งกำลังเดินเข้าสู่เขตอุทยานแห่งชาติ แตกต่างจากวัดในตัวเมืองโดยสิ้นเชิง วัดนี้เป็นวัดสายปฏิบัติธรรม นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมจึงควรสำรวมกิริยาเป็นพิเศษ แนะนำให้จอดรถเอาไว้ที่ลานจอดรถบริเวณทางเข้าวัด เนื่องจากมีอุบาสก อุบาสิกา ทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติกำลังปฏิบัติธรรมอยู่ ใช้สองเท้าก้าวเดินชื่นชมความร่มรื่นดีกว่าค่ะ
ภายในวัดมีป้ายบอกสถานที่ชัดเจน ไม่ต้องกลัวหลง เดินจากปากทางเข้ามาด้านในประมาณ 5 นาทีก็จะพบไฮท์ไลท์ของวัด “อุโมงค์” สร้างขึ้นในสมัยพญากือนา โดยมีอุโมงค์ทั้งหมด 4 ช่อง มีทางเดินเชื่อมต่อกัน 3 ช่องแรกจะอยู่ด้านหน้า ส่วนอีกช่องหนึ่งอยู่ด้านหลัง นับได้ว่าเป็นการก่อสร้างอุโมงค์เพื่อเป็นพุทธสถานแห่งเดียวในไทย แต่ละอุโมงค์มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศ คาดว่ามีอายุประมาณ 500-600 ปี หลากหลายลวดลาย เช่น หงส์จีน นกยูง นกกระสา ดอกโบตั๋น ลายบัว เป็นต้น แต่ในปัจจุบันลบเลือนไปมากเหลืออยู่เพียงไม่กี่จุด ซึ่งจิตรกรรมลักษณะนี้แตกต่างจากวัดอื่นที่จะเล่าเรื่องพุทธประวัติ แต่จิตรกรรมที่วัดอุโมงค์เป็นลวดลายต่างๆ ซ้ำไปซ้ำมา
พระเจดีย์ อยู่เหนืออุโมงค์ เป็นสถาปัตยกรรมแบบผสมผสานระหว่างสุโขทัย ล้านนา และพม่า สันนิษฐานว่าสร้างประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 20 องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานกลีบบัว 4 ชั้น องค์เจดีย์ทรงระฆัง อิทธิพลสุโขทัย ส่วนบนปลียอดศิลปะพม่าแบบพุกาม ไม่มีฉัตร ต่อมาได้รับการบูรณะในสมัยพระเมืองแก้วโดยการปรับปรุงปลียอดเป็นศิลปะพม่ายุคหลัง
หลังจากชื่นชมอุงโมงค์และพระเจดีย์แล้ว ทางทิศใต้มีสระน้ำขนาดใหญ่ มีเกาะขนาดเล็กอยู่ตรงกลางสามารถเดินข้ามสะพานไปให้อาหารนกพิราบได้ แต่ต้องระวังนกถ่ายมูลใส่หัวด้วยนะคะ นอกจากนั้นภายในวัดยังมีสถานที่ที่น่าสนอีกหลายจุด เช่น ลานเศียรพระพุทธรูปหินสลักสกุลช่างพะเยา พ.ศ.1950-2100 โรงปริศนาธรรม หอสมุดธรรมโฆษณ์ พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติฯ เป็นต้น
ขอขอบคุณ http://www.tripchiangmai.com