มาจังหวัดขอนแก่นทั้งที ถ้าไม่ได้มาเยี่ยมชม “วัดอุดมคงคาคีรีเขต” และกราบพระธาตุของ “หลวงปู่ผาง จิตตคุตโต” แล้วละก็ เห็นทีจะเสียเที่ยวแย่ครับ
เพราะหนึ่งคือ “วัดอุดมคงคาคีรีเขต” เป็นวัดป่ากรรมฐานที่มีชื่อเสียงของจังหวัดขอนแก่น สองคือ”หลวงปู่ผาง จิตตคุตโต” อดีตเจ้าอาวาสของวัดนี้ ท่านเป็นพระป่ากรรมฐานองค์สำคัญของเมืองไทย ด้วยปฏิปทาของและวัตรปฏิบัติที่เข้มแข็ง ใจเด็ด ไม่ย่อท้อและพากเพียรในการปฏิบัติ ทำให้ท่านสามารถบรรลุถึงธรรมขั้นสูง
นอกจากนี้วัตถุมงคลมากมายหลายรุ่นที่ท่านได้เมตตาโลกโดยการอธิษฐานจิตไว้ให้เพื่อเป็นอนุสติ เป็นธรรมรักษา ก็ล้วนมีประสบการณ์ให้เล่าขานกันจนมาถึงทุกวันนี้ครับ
จากถนนหลวงสายมัญจาคีรี-ชัยภูมิและแยกเข้าวัดอีก ๑๒ กม. พวกเราเดินทางบนถนนที่ค่อนข้างคดเตี้ยวและชำรุดในบางช่วง อดคิดไม่ได้ครับว่าเมื่อสักห้าสิบกว่าปีที่ผ่านมา เขาว่าถนนเส้นที่เรากำลังสัญจรอยู่นี้ ไม่ได้มีสภาพเป็นถนนเลย
การเดินทางเข้าและออกจากพื้นที่ลำบากมาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนต้องถือว่าลำบากมากที่สุด แต่ด้วยบารมีและวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลของหลวงปู่ ท่านจึงเป็นผู้นำชาวบ้านร่วมมือกับหน่วย กรป. กลาง สร้างถนนลงหินลูกรังกว้าง ๕ เมตรจนสำเร็จ (ในยุคนั้น)
ดังนั้นสำหรับผู้ที่มาเยือนขอได้โปรดพึงระลึกไว้เสมอครับว่า การที่เราสามารถเข้าออกได้สะดวกสบาย ตลอดจนชาวไร่ชาวนาที่อยู่ภายในหมู่บ้านได้อาศัยเส้นทางนี้ในการสัญจรและขนส่งสินค้าเกษตร มีจุดกำเนิดมาจากบารมีของพระธุดงค์องค์หนึ่งที่เคยจำพรรษาอยู่ในวัดอุดมคงคาคีรีเขตแห่งนี้ครับ
บนท้องฟ้าที่มีกลุ่มก้อนเมฆสีเทาลอยอยู่ต่ำๆ ก่อนที่จะโปรยสายฝนลงมายังพื้นดินพอให้เกิดความชุ่มฉ่ำ ความเร็วของรถที่ช้าลง ช่วยให้พวกเราได้มีโอกาสสัมผัสกับความงามของทัศนียภาพสองข้างทาง ที่มีทั้งทุ่งนาเขียวขจีสุดลูกหูลูกตาและสีเขียวบางๆ ของป่าดิบบนเทือกเขา เด็กน้อยวิ่งหลบฝนพร้อมกับโบกมือไหวๆ อยู่ข้างทาง
ไม่นานนักภาพของช้างสองตัวที่ยืนอยู่บริเวณซุ้มประตูวัด ซึ่งมีที่มาจากนิมิตของหลวงปู่ผางคือ “พลายศรีโท”และ”พลายศรีทน” เป็นเครื่องหมายบอกให้รู้ว่า พวกเรากำลังเข้าสู่วัดอุดมคงคาคีรีเขตครับ
ปัจจุบันถึงแม้หลวงปู่ผางท่านจะได้มรณภาพไปนานแล้ว แต่ ณ สถานที่แห่งนี้ยังคงอบอวลไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์และความเป็นอดีตที่มีหลักฐานเหลือให้พวกเราได้เห็นถึงบารมี คุณธรรมและความเมตตาในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่และได้ตกทอดเป็นมรดกมาจนถึงยุคปัจจุบัน อย่างเช่น “กองก้อนหินที่วางเรียงซ้อนกันขึ้นเป็นรูปสัญญลักษณ์คล้ายสถูปเจดีย์” ที่เราเห็นอยู่มากมายในวัดแห่งนี้ครับ
พวกเราหลายคนต่างตีความได้แตกต่างกันออกไป บางคนว่านี่คือการสร้างเจดีย์ขนาดเล็กเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาอย่างง่ายๆ ของชาวบ้านในท้องถิ่น ในขณะที่อีกหลายคนมองว่าเป็นที่เก็บอัฐิธาตุของบรรพบุรุษ
สุดท้ายแล้วรุ่นพี่ผู้นำทางเฉลยว่าก้อนหินที่ถูกจัดวางเรียงซ้อนๆ กันอยู่นั้นคือ “ที่อยู่ของบรรดาสัตว์มีพิษ” เช่น งู ตะขาบ หรือสัตว์เล็กๆ เช่น กบ เขียด ฯลฯ
เพราะในสมัยที่หลวงปู่ยังมีชีวิตอยู่บรรดาสัตว์ใหญ่เช่น ช้าง สัตว์ร้าย เช่น เสือ สัตว์มีพิษ เช่น งู และสัตว์เล็กๆ เช่น กบ ต่างมีให้เห็นและเดินกันขวักไขว่ โดยเฉพาะบรรดางูหลากประเภทที่เลื้อยพาเหรดแบบไม่กลัวคน
ขอขอบคุณ http://www.oknation.net/