วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่๓๕ไร่๓งาน ๑๐ตารางวา ได้รับอนุญาตให้สร้างวัด เมื่อปีพ.ศ. ๒๓๗๗ ได้รับอนุญาตให้ตั้งวัดเมื่อปีพ.ศ. ๒๓๘๕ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๓๙๕ วิสุงคามสีมากว้าง ๑๗ เมตร ยาว ๒๙.๕๐เมตร
วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ เดิมชื่อวัดหลักเมือง สร้างขึ้นโดยกรมหลวงรักษ์รณเรศธ์ (หม่อมเกสร) เมื่อครั้งเสด็จมาทรงสร้างป้อมปราการและกำแพงเมืองฉะเชิงเทรา ตามพระบรมราชโองการของพระบาท สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๗ เนื่องจากวัดนี้สร้างขึ้นพร้อมกับกำแพงเมือง ชาวบ้านจึงเรียกสั้น ๆ ว่า “วัดเมือง” ในปี พ.ศ. ๒๓๙๑ วัดได้ถูกเผาจากพวกกบฏอั้งยี่ จนกลายเป็นวัดร้างไประยะหนึ่ง และได้มีการปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่โดยพระยาวิเศษฤาชัย (บัว) เจ้าเมืองฉะเชิงเทราสมัยนั้น
ครั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสเมืองฉะเชิงเทรา ครั้งที่ ๒ เพื่อเปิดทางรถไฟสายกรุงเทพฯ –ฉะเชิงเทรา ได้ทรงพระราชทานนามวัดนี้ใหม่ว่า “ วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์”มีความหมายถึง วัดที่ลุงของพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง นอกจากนี้ วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฏิ์ เมื่อในอดีตยังเป็นสถานที่สำคัญในการประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการเมืองแปดริ้ว อีกด้วย กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนอุโบสถและวิหาร ของวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ เป็นโบราณสถานแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๓๙
ปัจจุบัน วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ เป็นศาสนสถานที่ประชาชนชาวตำบลหน้าเมือง และประชาชนทั่วไป ใช้ประกอบศาสนกิจสำคัญ ๆ ทางพระพุทธศาสนา มีการจัดการศึกษา โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญ และธรรมบาลี โดยมีพระธรรมเมธี เจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์
ขอขอบคุณ http://www.m-culture.in.th/