วัดบรมพุทธราม..”วัดเคียงคู่ ม.ราชภัฏพระนครศรีอยุธยา”

large_b2

วัดบรมพุทธาราม ตั้งอยู่ในสถาบันราชภัฏพระนครศรีอยุธยาทางด้านทิศตะวันตก
เป็นวัดที่สมเด็จพระเพทราชากษัตริย์อยุธยาองค์ที่ 28 แห่งราชวงค์บ้านพลูหลวง
โปรดให้สร้างขึ้นในบริเวณย่านป่าตองอันเป็นนิวาสสถาน(บ้าน)เดิม
วัดนี้เคยเป็นพระอารามหลวงครั้งกรุงศรีอยุธยา และพระอุโบสถ วิหารการเปรียญ
มุงหลังคาด้วยกระเบื้องเคลือบแปลกประหลาดกว่าวัดอื่น จึงเรียกกันเป็นสามัญว่า
“วัดกระเบื้องเคลือบ”

การมุงหลังคากระเบื้องเคลือบสีเหลืองแกมเขียวนี้ ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ได้โปรดให้มุงหลังคา พระที่นั่งดุสิตสวรรค์ธัญญมหาปราสาทในวังนารายณ์ราชนิเวศน์
และวิหารกลางในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี เมื่อพระเพทราชารับราชการ
เป็นเจ้ากรมช้าง ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อยู่ที่วังนารายณ์ราชนิเวศน์
คงเห็นหลังคากระเบื้องเคลือบสีเหลืองสวยงามดี จึงได้ให้มุงหลังคากระเบื้องเคลือบ
ที่วัดบรมพุทธารามนี้บ้าง

ปี พ.ศ. 2499กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งโบราณสถานวัดบรมพุทธาราม
ได้พบกระเบื้องเคลือบสีเหลืองรูปครุฑ รูปเทพพนม เคลือบสีเหลืองแกมเขียว
เดิมคงติดประดับอยู่ที่พระเจดีย์ซุ้มประตูหน้าโบสถ์ ศิลปโบราณวัตถุสถาน
ประกอบด้วยพระอุโบสถ ก่ออิฐถือปูน หันหน้าไปทางทิศเหนือ มีประตูด้านหน้า 3 ประตู
ด้านหลัง 2 ประตู มีมุขหน้าหลังและมีซุ้มประตูปูนปั้นเป็นรูปพระจุฬามณี พระประธานเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นก่ออิฐถือปูน

ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีหลักฐานว่าโปรดให้ซ่อมวัดนี้ครั้งหนึ่ง
และโปรดให้ทำบานประตูประดับมุกติดประตูพระอุโบสถเพิ่มขึ้น ปัจจุบันบานมุกนี้
ประดิษฐาน ณ หอพระมณเฑียรธรรม ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามคู่หนึ่ง
และที่วัดเบญจมบพิตรคู่หนึ่ง ส่วนอีกคู่หนึ่งมีผู้นำไปตัดทำเป็นตู้ใส่หนังสือ ซึ่งตู้ใบนี้สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงได้มาละประทานแก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเป็นงานฝีมือประดับมุกยอดเยี่ยมทั้ง 3 คู่

รอบนอกพระอุโบสถ มีซากฐานตั้งใบเสมา รวม 8 ใบ มีกำแพงรอบพระอุโบสถทั้งสี่ด้านมีประตูกำแพงด้านละ 2 ประตูภายนอกกำแพงด้านหน้าอุโบสถ มีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองเรียงอยู่ 2 องค์ มีซากวิหารรูปสี่เหสี่ยงผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศเหนือ มีประตูใหญ่ด้านละ 1 ประตู ประตูข้างด้านใต้ 2 ประตู

จิตรกรรม พบที่ บานแผละหน้าต่าง เป็นพื้นลายพุ่มข้าวบิณฑ์ บานแผละประตูหลังด้านขวาพระประธานมีภาพลางๆคล้ายบุคคลนั่งในปราสาท บานแผละ*ประตูหลังด้านซ้ายพระประธาน มีกรอบเส้นสินเทาและเส้นหลังคาปราสาท สีที่ใช้เท่าที่ปรากฏมีสีเขียว,สีดำลงเป็นพื้นพุ่มข้าวบิณฑ์ และลายกระหนกที่ล้อมรอบพุ่มข้าวบิณฑ์พุ่มข้าวบิณฑ์แต่ละบานแผละ* มีลักษณะต่างกันบางแห่งเป็นลายพันธุ์พฤกษาบางแห่งเป็นลายกระหนก เขียนสีลงบนผนังปูนฉาบที่เรียบสีขาว เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานของกรมศิลปากรเข้าไปทำการอนุรักษ์ ภาพจิตรกรรมจึงถูกลบเลือนไปจนแทบจะไม่ปรากฏให้เห็นอีกแล้ว

สิ่งสำคัญในวัด

อุโบสถ ขนาดไม่ใหญ่โตนักถ้าเทียบกับวัดสมัยอยุธยาตอนต้น กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๒๔.๒๐ เมตร หันหน้าไปทางทิศเหนือ มีมุขหน้าและมุขหลังก่อเป็นชาลายกพื้นขึ้นมา มีเสาเหลี่ยมย่อมุมรองรับหลังคามุข ปัจจุบันเหลืออยู่ด้านละ ๑ ต้น ผนังด้านหน้าอุโบสถมีประตู ๓ ประตู ประตูกลางขนาดกว้าง ๑.๖๕ เมตร สูง ๓.๗๐ เมตร อยู่ตรงกลางมุขหน้า ไม่มีบันไดทางขึ้นไปสู่ประตูนี้จากด้านหน้า มีแต่บันไดด้านในลงไปยังพื้นอุโบสถ ซุ้มประตูเป็นปูนปั้นทรงปราสาท ส่วนประตูอีก ๒ ประตูอยู่ทางด้านข้าง มีขนาดกว้าง ๑.๑๒ เมตร สูง ๒.๙๐ เมตร ทั้งสองข้างมีบันไดทางขึ้นอยู่หน้าประตู ซุ้มประตูด้านข้างนี้เป็นปูนปั้นทรงบันแถลง มีลวดลายปูนปั้นประดับอยู่ตรงกลาง ส่วนผนังด้านหลังอุโบสถมีแต่ประตูข้าง ๒ ประตู ขนาดใกล้เคียงกับประตูด้านหน้าและตั้งอยู่ในแนวตรงกัน ผนังอุโบสถด้านข้างเจาะช่องหน้าต่างด้านละ ๗ ช่อง ขนาดกว้างช่องละ ๙๐ เซนติเมตร สูง ๒.๒๐ เมตร ซุ้มหน้าต่างเป็นทรงบันแถลงเช่นเดียวกัน และอยู่ในระดับเดียวกันกับซุ้มประตูข้างกรอบประตูหน้าต่างก่อขอบซ้อน ๒ ชั้นประดับลายปูนปั้น รับกันกับซุ้มซึ่งเป็นซุ้มสองชั้นซ้อนครอบกัน อย่างที่เรียกว่าซุ้มลดฐานรับกรอบหน้าต่างทำเป็นฐานสิงห์รับกันกับฐานอุโบสถ ภายในอุโบสถมีพระประธาน เป็นพระปางมารวิชัย ก่ออิฐถือปูน หันหน้าไปทางทิศเหนือ ประดิษฐานอยู่บนฐานก่ออิฐถือปูน ไม่มีเสารองรับเครื่องบนอย่างที่มีในอุโบสถสมัยอยุธยาตอนต้น ทั้งนี้เนื่องจากอุโบสถมีขนาดเล็กลง และมีเทคนิคการก่อสร้างใหม่ๆ ที่ค่อยๆ วิวัฒนาการไปตามยุคสมัย จากความรู้และประสบการณ์ของช่างผสมกับความรู้ทางเทคโนโลยีที่ได้รับมาจากประเทศตะวันตกที่เข้ามามีความสัมพันธ์ทางการค้า ตลอดจนเข้ามามีบทบาทในราชสำนักสมัยหลัง รอบอุโบสถยังมีแนวฐานใบเสมาและมีใบเสมาเหลืออยู่บ้างแต่แตกหักชำรุด นอกแนวเสมาออกไปยังมีแนวกำแพงแก้วอยู่ทางทิศใต้และทิศตะวันตก

เจดีย์ มีอยู่ ๒ องค์ องค์หนึ่งตั้งอยู่หน้าอุโบสถ ขนาดฐานกว้างด้านละ ๙.๑๐ เมตร เป็นเจดีย์ทรงปรางค์ ยอดหักล้มอยู่ข้างฐานด้านหน้าอุโบสถ อีกองค์หนึ่งตั้งอยู่ถัดออกไปด้านหน้า ส่วนบนพังทลายไปไม่มีซากไว้ให้เห็น คงเหลือแต่ฐานย่อมุมขนาดกว้าง ๗.๔๐ เมตร แต่จากลักษณะของฐาน สามารถสันนิษฐานได้ว่าสร้างในสมัยเดียวกับการสร้างวัดนี้

วิหาร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก เยื้องมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอุโบสถ ขนาดกว้างยาวประมาณ ๙ x ๒๕ เมตร คงเหลือผนังอยู่เพียงบางส่วน
วัดบรมพุทธารามจัดเป็นโบราณสถานที่สำคัญมีคุณค่าในทางประวัติศาสตร์ ในฐานะเป็นวัดกษัตริย์สร้าง และยังมีคุณค่าในเชิงศิลปะโบราณคดี เป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่สามารถศึกษาถึงศิลปะและเทคโนโลยีทางด้านสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย ได้เป็นอย่างดี

ขอขอบคุณhttp://www.gotoknow.org/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .