สำหรับประเพณีรับบัว หรือโยนบัว เป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวบางพลี ซึ่งอำเภอบางพลีมีประชากรอาศัยอยู่ 3 พวก คือ ไทย รามัญและลาว แต่ละพวกมีหัวหน้าควบคุมดูแลทำมาหากิน ในอาชีพต่าง ๆ ต่อมากลุ่มคนทั้ง 3 พวก ได้ปรึกษากันว่าสมควร จะขยายพื้นที่ทำกินใหม่ให้มากขึ้น เพราะที่ทำไร่ ทำสวนแต่เดิม เต็มไปด้วยพงอ้อพงแขม และพันธุ์ไม้ต่างๆ มีสัตว์อาศัยอยู่หลายชนิด ทางฝั่งใต้ของคลองเต็มไปด้วยป่าแสมเป็นน้ำเค็ม ฝั่งเหนือเป็นบึงใหญ่ แต่ละบึงจะมีน้ำลึก มีดอกบัวหลวงขึ้นอยู่มากมาย คนทั้ง 3 พวก ได้ช่วยกันหักร้างถางพง จนถึงสามแยกบริเวณคลองสลุด, คลองชวดลากข้าว, คลองลาดกระบัง เมื่อถึงบริเวณนี้ต่างตกลงกันว่าควรแยกย้ายกันไปหากินคนละทาง โดยให้พวกลาวไปทางคลองสลุด, คนไทยไปตามทางคลองชวดลากข้าว, พวกรามัญไปทางคลองลาดกระบัง ต่อมาคนรามัญที่ไปทางคลองลาดกระบัง ทำ มาหากินอยู่ 2 – 3 ปี ก็ไม่ได้ผลผลิต มีนกหนูรบกวน การทำไร่ ไถนาพืชผลจึงเสียหาย เลยปรึกษาว่าจะกลับถิ่นฐานเดิมคือ ปากลัด และเริ่มอพยพในตอนเช้ามืดของเดือน 11 ขึ้น 14 ค่ำ ก่อนไปได้เก็บดอกบัวในบริเวณนั้นไปด้วย เพื่อนำไปบูชาพระคาถาพันที่ปากลัด ในปีต่อมา บอกให้คนไทยที่ชอบพอกันว่า เมื่อถึงวันขึ้น 4 ค่ำเดือน 11 ให้ช่วยเก็บดอกบัวไปบูชาหลวงพ่อโตในวิหาร และให้นำน้ำมนต์หลวงพ่อโต กลับไปเป็นสิริมงคลด้วย ส่วนดอกบัวที่เหลือชาวรามัญ จะนำกลับไปบูชาพระคาถาพัน จึงเป็นที่มาของประเพณีรับบัวมาจนถึงทุกวันนี้ ในปัจจุบันพอถึงเดือน 11 ขึ้น 13 ค่ำ ก่อนออกพรรษา 2 วัน ในตอนเย็นชาวบางพลีจะเตรียมดอกบัวไว้ โดยเอาดอกบัวหลายดอกเสียบไว้ในใบบัว แล้วเอาใบบัวห่อไว้กันเหี่ยว ตกเย็น ชาวตำบลต่าง ๆ ทั้งใกล้และไกล จะพากันไปยังตำบลบางพลีใหญ่ ต่างช่วยกันพายเรือ และตกแต่งอย่างสวยงาม ตอนกลางคืนมีการจับคู่ร้องเพลงเรือ ลำตัดตามแต่ถนัด ฝ่ายชาวบ้านบางพลีใหญ่ จะตกแต่งบ้านเรือนด้วยธงทิวโคมบัว จะเล่นจนถึงสว่าง บริเวณที่เล่นกันคือคลองสำโรง ในตอนเช้าจะมีการโยนบัวลงไปในขบวนเรือ ขบวนแห่พระพุทธรูป โดยอัญเชิญหลวงพ่อโตจำลองลงไว้ในเรือ เรือจะแล่นไปตามคลองสำโรง ให้ประชาชนได้บูชา ประชาชนจะโยนดอกบัวลงไปในเรือที่แห่หลวงพ่อโต และในเรือที่ชาวบ้านมาร่วมงาน สำหรับ ผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานกรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ 02-250-5500 ต่อ 2994-6 วัดบางพลีใหญ่ (วัดหลวงพ่อโต) โทร. 02 -337-3729 หรือ เบอร์เดียว เที่ยวทั่วไทย โทร. 1672
ขอขอบคุณ http://www.jorpor.com/