วัดเสาธงหิน เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แต่เดิมเรียกว่า”วัดสัก” อาจเนื่องมาจากสถานที่ตั้งของวัดเดิมมีต้นสักและต้นยางอยู่มากในสมัยก่อน หลักฐานรายละเอียดของ “วัดสัก” ยังหาไม่พบ เพียงแต่สันนิษฐานและคาดคะเนจากวัสดุก่อสร้างที่ยังพอมีเหลืออยู่ในขณะนี้และคำบอกเล่าจากผู้สูงอายุ เช่น พระประธานในพระอุโบสถหลังเก่าที่หล่อด้วยเนื้อชินเงินหมดทั้งองค์ พร้อมด้วยพระโมคคัลลานะ และพระสารีบุตรก็หล่อแบบอย่างสมัยกรุงศรีอยุธยาส่วนอุโบสถหลังเก่าก็เป็นครื่องยืนยันอีกอย่างหนึ่งว่าเป็นวัดเก่าแก่จริง ๆ วัสดุต่าง ๆ ที่ใช้ในการก่อสร้าง เช่นอิฐก่อผนัง และชุกชี (ฐานพระประธาน) ก็ทำมาจากอิฐก้อนใหญ่ ๆ เหมือนกันกับอิฐที่ใช้สร้างวัดวาอารามในสมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนผสมปูนที่ก่อสร้างหรือปูนที่ใช้ฉาบนั้นก็คงใช้ส่วนผสมต่าง ๆ ตามแบบช่างในสมัยกรุงศรีอยุธยา เครื่องประดับตกแต่งอุโบสถก็ใช้เครื่องใช้ถ้วยชามสมัยเก่าเป็นเครื่องประดับทั้งหน้าบรรณด้านหน้าและด้านหลัง
“วัดสัก”หรือ”วัดเสาธงหิน”ในปัจจุบัน ตามคำบอกเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่ที่สูงอายุ สืบต่อกันมาจนกระทั่งถึง คุณยายยวง พินรอด อายุ ๘๐ ปีเศษ ตั้งบ้านเรือนอยู่ข้างวัดฯ ได้มาทำบุญเป็นประจำ และผู้ใหญ่นวล บุญมี อายุ ๘๐ ปีเศษ ชาวบ้านคลองศรีราษฏร์ อีกคนหนึ่งได้เล่าประวัติของวัดเสาธงหินว่า
ในสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรงธนบุรี หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อพระองค์ได้เสด็จกรีฑาทัพเพื่อที่จะทำการกู้ชาติไทยจากพม่าข้าศึก ได้เสด็จนำทัพผ่านมาทางวัดสัก เมื่อทอดพระเนตรเห็นต้นสักจำนวนมากเป็นที่ร่มรื่นจึงรับสั่งให้หยุดทัพพักพลรบ ณ.ที่วัดสักแห่งนี้ เพื่อพักเอาแรงและรวบรวมกำลังพลจากที่ต่างๆเพื่อออกรบ ไม่ว่าจะเป็นทัพของผู้ใด ย่อมมีธงชัยประจำทัพ หรือธงประจำตัวของแม่ทัพคนนั้น ๆ สมเด็จพระเจ้าตากสินก็เช่นเดียวกัน ได้มีรับสั่งให้ปักธงประจำทัพของพระองค์ลงบนกองทราย ณ.ตำบลนั้น โดยให้หัวหมู่ทหารนำพลพรรคไปหาเอาหินก้อนใหญ่ๆ มากองทัพเสาธงและล้อมรอบธงไว้มิให้ธงล้ม เพื่อเป็นเอกลักษณ์ของทัพและเป็นสัญลักษณ์จุดนัดหมายของทหาร แม่ทัพนายกองและไพร่พลทั้งหลายจึงพากันเรียกขานจุดนัดหมายนี้ว่า”เสาธงหิน” จากปากต่อปากเรียกกันมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ขณะที่ทรงประทับอยู่ ณ.ที่แห่งนี้ได้ทรงสังเกตเห็นว่า”วัดสัก”นั้นมีสภาพชำรุดทรุดโทรมมากองค์พระประธานก็ชำรุดจนแทบจะไม่เป็นองค์พระ เมื่อทรงเสร็จสิ้นการรบจึงคิดที่จะบูรณะซ่อมแซมเพื่อเป็นพุทธบูชา จึงมีรับสั่งให้ทหารเอกคู่พระทัยนามว่า”อำดำดิ่ง”เดินทางไปที่ ตำบลกระจิว (ปัจจุบันอยู่ที่อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)ซึ่งเป็นภูมิลำเนาภริยาของท่านมีนามว่า”อำแดงสุก”ให้รวบรวมกำลังคนและกำลังทรัพย์เท่าที่จะหาได้มาก่อสร้างวัดที่ชำรุดทรุดโทรมให้เป็นวัดใหม่ที่สมบูรณ์ พร้อมกับให้สร้างพระประธานและพระสาวก คือพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ขึ้นใหม่ด้วย เพื่อพระภิกษุสงฆ์จะได้ใช้ในกิจพระพุทธศาสนามาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
ชาวบ้านที่อยู่แถว”วัดสัก”ที่ร่วมอาสาออกรบไปในครั้ง เมื่อเสร็จงานทัพกลับมาถึงบ้านแล้วก็ได้มาร่วมช่วยสร้างวัดและอุโบสถด้วยเพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าครั้งหนึ่ง ณ.ที่แห่งนี้เคยเป็นจุดนัดหมายของกองทัพพระเจ้าตากสินมหาราช หรือที่เรียกกันว่า”จุดหมายเสาธงหิน”รวมถึงชาวบ้านละแวกนั้นก็ได้มีส่วนร่วมสร้างและบูรณะ จึงเรียกกันติดปากว่า”วัดเสาธงหิน” จนกระทั่งมีการจัดระบบปกครองทางการเมืองก็ให้ชื่อว่า “ตำบลเสาธงหิน” ส่วนวัดก็คงเรียกว่า”วัดเสาธงหิน”จากนั้นจนถึงปัจจุบัน
ผู้ที่ทราบประวัติเดิมของ”วัดสัก”หรือ”วัดเสาธงหิน” ทั้งสองท่านที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ได้ถึงแก่กรรมไปแล้วในราว พ.ศ. ๒๕๑๐
https://www.facebook.com