การไปนมัสการ อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร ที่บ้านท่าเรือ ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง หรือที่ชาวภูเก็ตรู้จักกันดีในนาม “อนุสาวรีย์คุณหญิงจัน คุณหญิงมุก” ซึ่งเป็นนามเดิมของท่านทั้งสองนั่นเอง
หากเปรียบสะพานสารสินเป็นทางเดินเข้าสู่เมืองภูเก็ต อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร ก็เปรียบได้ดั่งประตูบ้านก็ว่าได้ เพราะไม่ว่าใครจะเดินทางเข้าออกเกาะแห่งนี้ ย่อมต้องผ่านอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีทั้งขาไปและขากลับ ก่อนที่จะไปนมัสการขอพรจาก ย่าจัน ย่ามุก เรามาทำความรู้จักอนุสาวรีย์คู่บ้านคู่เมืองแห่งนี้กันสักเล็กน้อยดีกว่าครับ
พ.ศ.2328 ประเทศไทยถูกพม่ารุกรานโดยศึกครั้งนั้นเรียกกันว่า “สงครามเก้าทัพ” และมีทัพหนึ่งของพม่าบุกมาทางภาคใต้หมายจะตีเมืองถลางให้สำเร็จ ขณะนั้นเจ้าเมืองถลางสามีของคุณหญิงจันเพิ่งเสียชีวิตลงไม่นานทำให้เมือง ถลางครานั้นขาดผู้นำ คุณหญิงจันและคุณหญิงมุกผู้เป็นน้องจึงอาสาเป็นผู้บัญชาการรบด้วยตัวเอง โดยคุณหญิงจันได้รวบรวมผู้คน อาวุธปืน และประชุมวางแผนป้องกันเมืองกับทหารชาย แต่ถึงอย่างไรทหารที่มีก็น้อยเหลือเกิน คุณหญิงจันและคุณหญิงมุกจึงคิดอุบายให้พม่าถอยทัพกลับโดยเร็วที่สุด โดยการรวบรวมผู้หญิงในเมืองถลางราว 500 คน มาแต่งตัวเลียนแบบชายชาตรี ทั้งการเดิน บุคลิกท่าทาง และที่สุดแห่งอุบายคือการให้ผู้หญิงทั้งหมดแสร้งทำเป็นว่าถือดาบ โดยให้เอาไม้ทองหลางเคลือบดีบุกถือต่างอาวุธ เพื่อลวงข้าศึกทำทีว่าจะยกพลเข้าตีทัพพม่า อีกกลยุทธ์ที่เด็ดดวงไม่แพ้กันคือรู้ว่าตนมีกำลังน้อย จึงทำทีจัดขบวนไพร่พลเดินตระเวนและประชุมพลถ่ายเทคนเข้าออก เป็นการลวงให้เห็นว่าทัพไทยมีพลกำลังเสริมเข้ามาตลอดเวลา ทำให้พม่าลังเลใจที่จะเข้าตี นับเป็นการหน่วงเหนี่ยวเวลาที่ได้ผลและแสบสันต์ที่สุด ระยะเวลาที่ยาวนานส่งผลให้กองทัพพม่าขาดเสบียงอาหาร บาดเจ็บล้มตายเป็นประจำทุกวัน เมื่อไม่เห็นทางจะตีเมืองถลางให้แตกได้กอปรกับขาดเสบียง ความอ่อนล้าจากสงครามและการเดินทาง ซึ่งกินเวลาราว 5 เดือน ส่งผลให้กองทัพปั่นป่วนและสูญเสียทหารไปมากกว่า 400 คน พม่าจึงตัดสินใจยกทัพกลับไป
วีรกรรมของคุณหญิงจัน คุณหญิงมุกในครั้งนี้ทำให้รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ คุณหญิงจัน เป็นท้าวเทพกระษัตรี และคุณหญิงมุก เป็น ท้าวศรีสุนทร เป็นการเทอดพระเกียรติแก่คุณงามความดีที่มีต่อประเทศไทย ต่อมาชาวภูเก็ตได้ร่วมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร เมื่อ พ.ศ. 2509
โดยอนุสาวรีย์ ตั้งอยู่กลางวงเวียนท่าเรือ บนถนนเทพกระษัตรี อำเภอถลาง เป็นอนุสาวรีย์ยืนลอยตัว สูง 10 เมตร เพื่อให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ และที่ยกย่องสรรเสริญถึงวีรกรรมความกล้าหาญ ความเสียสละเพื่อชาติ สำหรับชาวภูเก็ตวีรกรรมของท่านทั้งสองยิ่งใหญ่เหลือเกิน ดังจะเห็นได้จากชื่อของสถานที่ว่าตำบลเทพกระษัตรี และ ตำบลศรีสุนทร เมื่อเอ่ยถึงชื่อตำบลชาวภูเก็ตทุกคนย่อมรำลึกถึงความเสียสละของท่านที่ทำให้ชาวภูเก็ตมีที่อยู่อาศัยอย่างสงบร่มเย็นมาจนถึงปัจจุบัน
ขอขอบคุณ http://www.thetrippacker.com/