จากสะพานไปตามทางหลวงหมายเลข 402 ลงไปทางใต้ ประมาณ 50 กิโลเมตร จะพบอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทรตั้งอยู่กลางถนน บริเวณวงเวียนท่าเรือ และจากตัวเมืองภูเก็ต มุ่งหน้าสู่อำเภอถลาง ประมาณ 12 กิโลเมตร มีบริการรถโดยสาร สายภูเก็ต – ท่าฉัตรไชย ค่าบริการคนละ 20 บาท ท่ารถจอดให้บริการอยู่ที่บริเวณตลาดสด ในตัวเมืองภูเก็ต
ตามทางหลวงหมายเลข 402 ก่อนเข้าสู่ตัวเมืองภูเก็ตปรมาณ 12 กิโลเมตร จะเห็นอนุสาวรีย์ ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร ขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางถนน เพื่อเป็นการระลึกถึงความกล้าหาญ ของทั้งสองท่าน และเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดภูเก็ต
อนุสาวรีย์นี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2510 เป็นรูปปั้นรูปเหมือนของท้าวเทพกระษัตรี และท้าวศรีสุนทร ในชุดโจงกระเบน ใส่เสื้อแขนกระบอก มือถือดาบ ในท่าเตรียมพร้อมออกสู้รบกับทหารพม่า ในสมัยสงคราม 9 ทัพ
รอบอนุสาวรีย์เป็นลานขนาดย่อม เพื่อสำหรับเป็นที่สักการะบูชา และมักพบผู้มากราบไหว้เกือบตลอด ทั้งวัน โดยเฉพาะในวันที่ 13 มีนาคม ของทุกปี ชาวภูเก็ตจะร่วม จัดงานบวงสรวงสองวีรสตรี ที่บริเวณลานแห่งนี้
กล่าวว่า… ท้าวเทพกระษัตรี นามเดิม คือ จัน เกิดในสมัย กรุงศรีอยุธยาราวปี พ.ศ. 2280 สมรสครั้งแรกกับ หม่อมศรีภักดี บุตรนายกองเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อหม่อมศรีภักดีถึงแก่กรรม จันได้เดินทางมาที่เมืองถลาง และได้สมรสอีกครั้งกับพระพิมลเจ้าเมืองถลาง มีบุตรด้วยกัน 5 คน ส่วนท้าวศรีสุนทร นามเดิม คือ มุก ไม่พบ หลักฐานและรายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตครอบครัว
ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร ถือเป็นสองวีรสตรีที่กล้าหาญและเสียสละ ทำคุณให้กับประเทศ อย่างมาก วีรกรรมความกล้าเกิดขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า-จุฬ่าโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีแห่งใหม่ได้ 3 ปี ในราวปี พ.ศ. 2325 พม่าได้ยกทัพใหญ่เข้ามาถึง 9 ทัพ เพื่อตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ หัวเมืองปักต์ใต้ฝั่งตะวันตก และกรุงเทพฯ สงครามครั้งนี้เรียกว่า สงคราม 9 ทัพ
สมัยนั้นเมืองถลาง ถูกโจมตีจากพม่า โดยมียี่วุ่น แม่ทัพพม่า มีทหารกว่า 3,000 คน บุกตีเมืองตะกั่วป่าตะกั่วทุ่งได้สำเร็จ (ปัจจุบันคือ อำเภอตะกั่วป่า) พม่าได้นำทัพมาล้อมเมืองถลางไว้ ขณะนั้นผู้ปกครองเมืองถลาง คือ พระพิมล ได้ถึงแก่กรรมเสียก่อน และยังไม่มีการจัดตั้งเจ้าเมืองคนใหม่ คุณหญิงจันซึ่งเป็นภรรยา และคุณมุก จึงเป็นผู้นำยืนหยัดการต่อสู้กับพม่าในครั้งนี้ ได้ปรึกษากับ แม่ทัพนายกอง และเกณฑ์ไพร่พลชายหญิงมากมาย สร้างค่ายใหญ่สองค่าย ได้มีการระดมยิงปืนใหญ่ ต้านกองทัพพม่าอยู่ตลอดเวลา พม่าพยายามยึกเมืองถลางอยู่ราวเดือนเศษ ยังไม่สามารถบุกเข้าตี เมืองถลางได้ ทำให้เสบียงอาหารหมดจึงต้องยกทัพลงเรือกลับไป และเมืองถลางจึงรอดปลอดภัย มาจนถึงปัจจุบันนี้
รัชกาลที่ 1 ทรงทราบถึงความกล้าหาญของคุณหญิงจัน และคุณมุก ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ คุณหญิงจันเป็นท้าวเทพกระษัตรี และคุณมุกเป็นท้าวศรีสุนทร ต่อมาได้ตั้งนาม สถานที่ตั้งเมืองถลางในครั้งนั้นว่า ตำบลเทพกระษัตรี และให้รวมตำบลท่าเรือ กับตำบลลิพอน เป็นตำบลเดียวกัน โดยให้ชื่อว่า ตำบลศรีสุนทร
ขอขอบคุณ http://www.phuketbestway.com/