วัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
พิชิต 1,250 ขั้นบันได ณ วัดพระขาว … ปากช่อง
วัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม ตั้งอยู่บริเวณเขาสีเสียดอ้า หมู่บ้านกลางดง ทางฝั่งขวาของทางหลวงหมายเลข ๒ (ถนนมิตรภาพ) ซึ่งนักเดินทางบนถนนมิตรภาพสามารถมองเห็นองค์พระพุทธรูปสีขาวตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บนไหล่เขา เมื่อเดินทางมาถึงตรงหลักกิโลเมตรที่ ๑๕๐ มีทางแยกเข้าไปอิก ๒ กิโลเมตร มีถนนราดยางเข้าไปถึงวัด ซึ่งเมื่อเข้าไปถึงบริเวณภายในวัดสามารถสัมผัสกับความรู้สึกที่สงบ ร่มเย็น เหมาะสำหรับการเข้าไปหยุดสักการะ เปรียบเสมือนหนึ่ง ขอพรในนาทีแรกที่ย่างก้าวสู่ประตูอีสาน
วัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม เกิดขึ้นจากดำริของ พระอาจารย์ท่านพ่อลี (พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์) ที่จะสร้างวัดขึ้น ณ เชิงเขาสีเสียดอ้าไปพร้อมๆ กับ การสร้างพระพุทธรูปไว้บนเนินเขา
การสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ได้ทำการขยายส่วนมาจาก พระพุทธรูป ภ.ป.ร. ซึ่งเป็นพระพุทธรูป ปางประทานพร
สำหรับผู้ที่เป็นผู้นำสำคัญในการก่อสร้าง วัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม พร้อมกับพระพุทธรูปองค์นี้ คือ พลเอกพงษ์ ปุณณกัณต์ ซึ่งได้เริ่มสร้างตั้งแต่ครองยศเป็นพลโท และตามจารึกปณิธานวัจนะ ซึ่งบรรจุอยู่ภายในองค์พระพุทธรูปบอกไว้ว่า เนื่องจากผู้สร้างได้รำลึกถึงโอวาทของพระอาจารย์ท่านพ่อลี การก่อสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ ซึ่งได้ลงมือสร้างเป็นปฐม เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2510 และ ได้สำเร็จเป็นองค์พระบริบูรณ์ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2512
พระพุทธสกลสีมามงคล สร้างขึ้น เพื่อเป็นการน้อมเกล้าฯ ถวายโดยพระราชกุศล เป็นพระบรมราชานุสรณ์พิเศษ และได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระนามจาก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทั้งขอพระราชทานพระปรมาภิไธยย่อของ 2 พระองค์ อัญเชิญประดิษฐานที่ฐานพระพุทธรูป และทรงพระราชทานพระนามว่า “พระพุทธสกลสีมามงคล” แต่ผู้คนทั่วไปมักเรียกว่า “หลวงพ่อขาว” บ้าง “หลวงพ่อใหญ่” บ้าง
สำหรับพุทธลักษณะพระพุทธสกลสีมามงคล ซึ่งเป็นพระพุทธรูป ปางประทานพรมีพุทธลักษณะดังนี้
– องค์พระตั้งอยู่บนเขาสีเสียดอ้า สูงจากพื้นดิน 112 เมตร หรือ 56 วา ทางซ้ายและทางขวาขององค์พระพุทธรูป ซึ่งหมายถึงพระพุทธคุณของพระพุทธเจ้า 56 ประการ
– องค์พระสูง 45 เมตร หมายถึง พระพุทธองค์ทรงโปรดเวไนยสัตว์อยู่ 45 พรรษา หรือ เรียกว่า ทำพุทธกิจอยู่ 45 พรรษา ภายหลังที่ได้ทรงตรัสรู้
– หน้าตักกว้าง 27 เมตร (13 วา 2 ศอก 1 คืบ) หมายถึง องค์แห่งธุดงค์ค์วัตร 13 ประการ
– พระเกตุ (โมลี) สูง 7 เมตร หมายถึง โพชฌงค์ 7 องค์แห่งการตรัสรู้
– พระกรรณ (หู) ยาว 6.80 เมตร
– ช่องพระนาสิก (จมูก) มีขนาดกว้างพอถังน้ำมัน 200 ลิตรลอดได้
– พระเนตรดำ ขลิบด้วยเมฆพัด (โลหะผสมชนิดหนึ่ง) และดวงพระเนตรฝังมุก
ทางเดินขึ้นไปนมัสการพระพุทธสกลสีมามงคล จะมีลักษณะเป็นบันไดขึ้น 2 ด้าน ประกอบกันเป็นรูปใบโพธิ์ ขึ้นไปบรรจบกันที่องค์พระพุทธรูป บันไดมีทั้งสิ้น 1,250 ขั้น (นับรวมทั้งทางด้านซ้ายและด้านขวา) ซึ่งเท่ากับจำนวนอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า ที่มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 3 โดยมิได้นัดหมาย อันเป็นการก่อกำเนิดแห่ง “วันมาฆะบูชา”
ณ ที่ประดิษฐานพระพุทธสกลสีมามงคล ท่านจะเห็นทางเดินป่าเล็กๆ ทอดยาวขึ้นไปบนเขา เส้นทางสายนี้จะนำท่านไปสู่ถ้ำเมตตา และถ้ำหมี และ ณ ถ้ำหมี นี้เอง เป็นถ้ำที่ หลวงปู่เมตตาหลวง (พระญาณสิทธาจารย์ ) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม ใช้ในการบำเพ็ญภาวนาอยู่บ่อยครั้ง แต่ฉันไม่ได้เดินขึ้นไปดู การเดินขึ้นลงบันไดกว่าพันขั้น ทำให้ไม่มีแรงเดินต่อค่ะ
ด้านบนอันเป็นที่ประดิษฐานองค์พระอยู่สูงจากพื้นดินมากพอควร จึงมองเห็นทิวทัศน์ของเมืองปากช่องได้อย่างกว้างไกล … ความสงบ ผสมกับอากาศบนนี้ที่เย็นสบาย ทำให้ฉันสูดหายใจแรงๆให้เต็มปอด ก่อนที่จะส่งสายตาไปรอบๆตัว
ความใหญ่โตขององค์พระที่ตั้งโดดเด่นอยู่ ณ ที่นี้ทำให้ต้องแหงนหน้าแบบคอตั้งบ่าหากต้องการดูทั่วทั้งองค์ … การถ่ายรูปทำได้ไม่ถนัดนัก ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ หากแค่สามารถสัมผัสได้ถึงสัดส่วนที่งดงามพอเหมาะไร้ที่ติ อันสื่อถึง ความศรัทธาของผู้คน และฝีมือชั้นครูของช่าง ในการสร้างพระพุทธรูปองค์นี้ … หลวงพ่อขาวจึงประทับนั่ง ถอดสายพระเนตรเปี่ยมเมตตาลงไปยังบ้านเมือง และผู้คนด้านล่าง ดังจะคอยคุ้มครอง ให้ความร่มเย็นทางจิตแก่ผู้ที่ยังดิ้นรนทางโลก … ปกปัก รักษาทุกสรรพสิ่งที่เข้ามาพึ่งใบบุญ
ว่ากันว่า … แค่รูพระนาสิกของหลวงพ่อพระขาวองค์นี้ ก็ใหญ่มากกว่าถังน้ำมันขนาดหนึ่งร้อยลิตรแล้วค่ะ ซึ่งพอจะจินตนาการได้ถึงความมโหฬารของสัดส่วนอื่นๆขององค์พระได้ไม่ยาก
ณ ลานที่ประดิษฐานหลวงพ่อขาว มีพระพุทธรูปอีกหลายองค์ พร้อมแท่นวางธูปเทียนให้ผู้ที่ศรัทธาได้กราบไหว้ บูชา อธิษฐานจิต …
ตามทางขึ้นและลงบันไดร่มรื่นด้วยพรรณไม้น้อยใหญ่ ที่ผลิดอก ออกผล และแผ่กิ่งก้านออกมาเป็นร่มเงา ให้ผู้ขึ้นมาแสวงบุญได้คลายร้อน … มีพระพุทธรูปเรียงรายอยู่เป็นระยะๆ บางช่วงมีสุภาษิต คำพังเพย และคำสอนทางพระพุทธศาสนา และคำสอนพื้นบ้าน ให้คนที่ได้อ่านรำลึก และมีสติในการดำเนินชีวิต …
ขอขอบคุณ http://www.oknation.net/