เดิมชื่อว่า “วัดศรีจำปา”สร้างขึ้นในราวรัชสมัยพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยา ตามตำนานเล่าว่า ในปีพ.ศ.๒๓๐๗ชาวบ้านแหลมในเขตเมืองเพชรบุรีอพยพหนีพม่ามาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณตำบลแม่กลองเหนือวัดศรีจำปาและเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “บ้านแหลม” ตามชื่อหมู่บ้านเดิมของตนชาวบ้านแหลมได้ช่วยกันบูรณะวัดศรีจำปาและเรียกวัดนี้ใหม่ว่า “วัดบ้านแหลม”ต่อมาวัดบ้านแหลมได้ยกฐานะขึ้นเป็นอารามหลวงชั้นวรวิหาร ได้รับพระราชทานนามว่า “วัดเพชรสมุทรวรวิหาร”
วัดเพชรสมุทรวรวิหาร เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อบ้านแหลม
หลวงพ่อวัดบ้านแหลมเป็นพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตรหล่อด้วยทองเหลืองแบบสมัย สุโขทัยตอนปลาย ภายในโปร่งขนาดส่วนสูง ๑๗๐ เซนติเมตรประดิษฐานยืนอยู่บนแท่น ภายในพระอุโบสถวัดบ้านแหลม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงครามตามประวัติที่จารึกกล่าวไว้ว่า หลวงพ่อได้ล่องลอยน้ำลงมาจากทางเหนือพร้อมกัน ๓องค์แสดงอภินิหารให้ผู้คนเห็นมาตลอดลำแม่น้ำเจ้าพระยา และ ครั้งหนึ่งได้ล่องลอยมาถึงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาตอนสามเสนประชาชนสามแสนกว่าคนประสงค์ที่จะนิมนต์หลวงพ่อขึ้นบนฝั่งช่วยกันเอาเชือกผูกมัดองค์หลวงพ่อแล้วช่วยกันฉุดลากแต่ก็ไม่สามารถจะนำหลวงพ่อขึ้นฝั่งได้และท่านก็จมน้ำหายไปจากที่นั้น ต่อจากนั้นท่านก็ได้แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ผุดให้คนเห็นในที่ต่าง ๆกันเรื่อยมาจนในที่สุดก็ได้มาประดิษฐานเป็นมิ่งขวัญอยู่ในพระอุโบสถวัดบ้านแหลมนี้จนถึงปัจจุบัน
ตำนานเดิมกล่าวว่าชาวบ้านแหลมซึ่งอยู่ปากอ่าวจังหวัดเพชรบุรีได้พากันมาตีอวนจับปลาในทะเลในขณะที่ลากอวนจับปลาอยู่นั้น ได้ลากพระพุทธรูปติดอวนขึ้นมา ๑ องค์ต่างพากันดีใจมากกว่ามาจับปลาแต่กลับมาได้พระพุทธรูปเห็นว่าคงจะเป็นลาภอันใหญ่หลวงแล้วจึงได้อาราธนาพระพุทธรูปนั้นขึ้นบนเรือ แล้วพากันล่องกลับจากทะเลในระหว่างทางคงจะเป็นด้วยบุญบารมีของชาวบ้านแหลมคนในเรือคนหนึ่งได้แลเห็นพระเกศของพระพุทธรูปลอยปริ่ม ๆ น้ำอยู่ไม่ไกลจากเรือที่แล่นอยู่เท่าใดนัก จึงร้องบอกให้ทุกคนทราบ แล้วเทียบเรือเข้าไปทุกคนต่างปลื้มปิติยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้พบพระพุทธรูปหล่อด้วยทองเหลืองแต่ล่องลอยอยู่ในกระแสน้ำได้ต่างพากันกราบนมัสการด้วยความเลื่อมใสในอภินิหารและอิทธิฤทธิ์ที่ได้พบเห็น ต่อจากนั้นก็ได้อาราธนาขึ้นบนเรือ อีกลำหนึ่งแล้วพากันแล่นเรือกลับด้วยความดีใจเป็นที่สุดครั้นเรือแล่นมาถึงแม่น้ำแม่กลองตอนหน้าวัดศรีจำปาได้เกิดอาเพศคล้ายกับว่าหลวงพ่อประสงค์ ที่จะอยู่วัดนี้จึงทำให้ฝนตกหนักลมพายุพัดจัดไม่ลืมหูลืมตาเรือลำที่หลวงพ่อบ้านแหลมประดิษฐานอยู่ทนคลื่นลมไม่ไหวประคองตัวไม่อยู่เรือเอียงวูบไปหลวงพ่อที่อยู่บนเรือจึงเคลื่อนตกจมหายลงไปในแม่น้ำชาวประมงบ้านแหลมพากันตกใจและเสียดายมากต่างช่วยกันเพียรดำน้ำค้นหาอยู่หลายวันจนอ่อนใจ ก็ไม่พบตกลงไม่ค้นหากันต่อไปอีกจึงนำพระพุทธรูปองค์ที่เหลืออยู่ไปยังถิ่นของตนและนำพระพุทธรูปองค์นั้นไปประดิษฐานไว้ที่วัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี
กาลต่อมาชาวบ้านศรีจำปาต่างก็ช่วยกันลงดำค้นหาหลวงพ่อที่จมอยู่นั้นเป็นด้วยเพราะอภินิหารของหลวงพ่อที่จะอยู่เป็นมิ่งขวัญของชาวบ้านศรีจำปาจึงทำให้ชาวบ้านศรีจำปาพบและอาราธนานำไปประดิษฐานไว้ที่วัดศรีจำปา ชาวประมงบ้านแหลมครั้นรู้ข่าวเข้าว่าชาวบ้านศรีจำปาได้พระของตนที่จมน้ำนั้นแล้ว ก็ยกขบวนกันมาขอพระคืนแต่ชาวบ้านศรีจำปาไม่ยอมให้จนเกือบจะเกิดศึกกลางวัดขึ้นแต่ด้วยอภินิหารของหลวงพ่อบ้านแหลม และการมีเหตุผลด้วยกันทั้ง ๒ฝ่ายก็ประสานสามัคคีตกลงปรองดองกันได้ทางฝ่ายชาวประมงบ้านแหลมก็ยินยอมยกพระพุทธรูปที่ชาวบ้านศรีจำปางมได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีจำปาตามแต่ต้องเปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่ ให้ชื่อว่า “วัดบ้านแหลม” เพื่อให้เป็นอนุสรณ์ที่ชาวบ้านแหลมได้พระพุทธรูปมาทีแรกตั้งแต่นั้นมาวัดศรีจำปาจึงได้นามว่าวัดบ้านแหลม มาจนทุกวันนี้
ตามประวัติ หลวงพ่อบ้านแหลมเมื่อคราวที่ไปลอยวนอยู่ที่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนสามเสน นั้นประชาชนสามแสนกว่าคนประสงค์จะอาราธนานิมนต์หลวงพ่อขึ้นฝั่งช่วยกันเอาเชือกพรวนผูกมัดแล้วช่วยกันฉุดลากก็ไม่สามารถนำหลวงพ่อขึ้นฝั่งได้แล้วหลวงพ่อก็แสดงปาฏิหาริย์จมน้ำหายไปทั้ง ๓องค์ ต่อมาทราบว่าองค์หนึ่งได้ขึ้นไปประดิษฐานอยู่ที่วัดโสธร คือหลวงพ่อโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา อีกองค์หนึ่งไปขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดบางพลีใหญ่ในคือ หลวงพ่อโต จังหวัดสมุทรปราการ ตามที่ท่านแสดงปาฏิหาริย์จมน้ำหายไปครั้งนั้นหลวงพ่อได้แสดงอภินิหารให้เห็นว่าถ้าท่านไม่ประสงค์จะอยู่ในที่ใดแล้วให้มีคนมากกว่าสามแสนคนมาฉุดดึงท่านก็ไม่รับนิมนต์แต่พอถึงที่หน้าวัดบ้านแหลมท่านก็ยอมขึ้นแต่โดยดีมิต้องใช้เชือกมัดหรือใช้ผู้คนมากมาย ไม่ต้องฉุดดึงเพียงแต่เจ้าอาวาสในสมัยนั้นกับชาวบ้านเพียงไม่กี่คนอาราธนาอัญเชิญหลวงพ่อถูกต้องตามพิธีการท่านก็รับนิมนต์ยอมขึ้นมาประดิษฐานอยู่ประจำวัดเป็นมิ่งขวัญตลอดมา
เมื่อได้หลวงพ่อมาแล้วชาวบ้านก็ได้อาราธนานำท่านไปประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดบ้านแหลมและทำพิธีจัดงานสมโภชฉลององค์หลวงพ่อกันอย่างครึกครื้นแล้วพากันขอความศักดิ์สิทธิ์จากหลวงพ่อให้ช่วยคุ้มครองปกปักรักษาไม่เว้นแต่ละวันหลวงพ่อวัดบ้านแหลมมีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนความศักดิ์สิทธิ์ประการใดบ้างนั้น เหลือที่จะพรรณนาให้ละเอียด
ได้มีผู้เล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนเมื่อผู้ใดได้รับความเจ็บป่วย หรือทุกข์ร้อนประการใดก็มากราบนมัสการบนบานต่อหลวงพ่อความเจ็บป่วยหรืออาการทุกข์ร้อนนั้นก็พลันหายไปหรือไม่ก็ทุเลาเบาบางลงจนเป็นที่นับถือของประชาชนทั่วไปแม้แต่ชาวจีนที่เข้ามาพึ่งบรมโพธิสมภารก็พากันนับถือเป็นอันมาก พากันมาเซ่นไหว้ในวันสำคัญของจีนหรือในวันอื่น ๆ แล้วแต่โอกาสเสียงจุดประทัดบูชาดังสนั่นหวั่นไหวพวกละครชาตรีหรือละครไทยและงิ้ว ที่ประชาชนหามาแสดงจะพบเห็นอยู่เสมอกล่าวกันว่าพวกละครหรืองิ้วที่แสดงถวายนี้ถ้าไม่รำถวายมือหลวงพ่อวัดบ้านแหลมเสียก่อนบางคนถึงกับชักดิ้นชักงอหรือมีอันเป็นไปต่างๆ จึงเลยเกิดเป็นธรรมเนียมประเพณีว่า ก่อนจะแสดงเรื่องราวต่าง ๆต้องรำถวายมือต่อหลวงพ่อเสียก่อนเป็นการสักการะและครั้งหนึ่งชาวจีนได้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแรงกล้าในความศักดิ์สิทธิ์และอภินิหารของหลวงพ่อ ได้พากันนำงิ้วมาแสดงถวายประชันกันถึง ๕โรง บางคนป่วยหนักหมดหวังในชีวิต หมอละทิ้งไม่มีผู้ใดรับรักษาพยาบาลก็มาขอบารมีหลวงพ่อให้ช่วยชีวิต โดยรับเอาน้ำมนต์ดอกไม้ที่บูชาหลวงพ่อเอาไปรับประทานและพอกทาอาการป่วยก็หายวันหายคืนและกลับเป็นปกติก็มีอยู่หลายราย บางคนตกทุกข์ได้ยากเป็นถ้อยร้อยความไปบนบานปิดทองนมัสการ ขอให้หลวงพ่อช่วยหลวงพ่อก็ช่วยเหลือได้สมประสงค์ด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อวัดบ้านแหลมมีมากมายจนประชาชนยกย่องเป็นพ่อบ้านพ่อเมืองมีอภินิหารปกป้องคุ้มครองประชาชนทุกผู้ทุกนามเป็นที่สักการบูชา เป็นมิ่งขวัญของชาวเมืองสมุทรสงครามมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
ตอนที่ชาวประมงพบในอ่าวแม่กลองบาตรนั้นสูญหายไปในทะเลสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เคยเสด็จมานมัสการหลวงพ่อบ้านแหลมได้ถวายบาตรแก้วสีน้ำเงินถวายหลวงพ่อบ้านแหลมเป็นพุทธบูชาซึ่งยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชศรัทธาหลวงพ่อบ้านแหลม ได้พระราชทานผ้าดิ้นทองแก่หลวงพ่อจำนวนสองผืนแต่ละผืนมีขนาดหน้ากว้าง ๖นิ้ว ยาวประมาณ ๑๐ฟุตปัจจุบันทางวัดได้จัดแสดงไว้ในพระอุโบสถที่ประดิษฐานหลวงพ่อบ้านแหลม ในวันสำคัญเช่น วัดสงกรานต์ วันทอดกฐินพระราชทานจะนำผ้าดิ้นทองพระราชทานมาประดับองค์หลวงพ่อบ้านแหลมด้วย
“หลวงพ่อบ้านแหลม”เป็นที่เคารพบูชาในหมู่พุทธศาสนิกชนโดยทั่วไปในแต่ละวันจะมีผู้ศรัทธาจากทั่วทุกสารทิศมากราบนมัสการอย่างเนืองแน่นมีการเปรียบเปรยว่า หากใครไปเมืองสมุทรสงครามไม่ได้ไปนมัสการหลวงพ่อบ้านแหลมก็เสมือนไม่ได้ไปเมืองสมุทรสงครามใครพูดถึงเมืองสมุทรสงครามไม่กล่าวถึงนามหลวงพ่อบ้านแหลมก็เสมือนไม่รู้จักสมุทรสงครามคนสมุทรสงครามคนใดไม่เคยเห็นหลวงพ่อบ้านแหลมก็เปรียบเสมือนลูกกำพร้าไม่เคยเห็นหน้าพ่อ
ขอขอบคุณ http://www.tinyzone.tv/