ประวัติวัด และพระบรมธาตุ[แก้]พระเจ้าพังคราช เป็นกษัตริย์แห่งอาณาจักรโยนกเชียงแสน ขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 1458 [1] มีราชโอรสคือ พระเจ้าพรหม ทรงสร้างวัดพระธาตุจอมกิตติ เป็นเจดีย์ย่อเหลี่ยมไม้สิบสอง เพื่อบรรจุพระบรมธาตุ นอกกำแพงเมืองเชียงแสน
พระธาตุเจดีย์ หรือบรมธาตุเจดีย์ มีลักษณะฐานล่างเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส ถัดขึ้นไปเป็นฐานปัทม์ย่อมุมเป็นเรือนธาตุ (ย่อมุมรองรับ) ซึ่งมีซุ้มทิศประดิษฐานพระพุทธรูปประทับยืนปูนปั้นทั้ง 4 ด้าน ส่วนยอดเป็นองค์ระฆังกลม ตำนานการสร้างพระธาตุจอมกิตติค่อนข้างจะสับสนพอ ๆ กับตำนานเมืองเชียงแสน
ศิลาจารึกวัดพระธาตุจอมกิตติได้กล่าวไว้ว่า เมื่อตอนที่พระพุทธองค์ได้เสด็จมา ณ ที่นี้ พระองค์ได้ทรงดึงพระเกศาและประดิษฐานไว้ที่พระธาตุจอมกิตติ แล้วพระองค์จึงทรงพยากร์ว่า แว้นแคว้นแห่งนี้จะคงสืบพระพุทธศาสนาดำรงได้ครบ 5000 ปี
บางตำนานบอกว่า เมืองเชียงแสนนั้นเกิดมาตั้งแต่สมัยพระพุทธองค์ยังดำรงพระชนม์ชีพ และเคยเสด็จมายังเชียงแสน ประทานเส้นพระเกศาให้ไว้ จึงสร้างพระธาตุขึ้นมาเพื่อประดิษฐาน
ตำนานต่อมาที่ค่อนข้างจะแน่นอนกว่าคือการสร้างพระธาตุจอมกิตติโดยพระเจ้าพังคราช เมื่อปี พ.ศ. 1481 เมื่อสร้างแล้วเสร็จจึงได้พระบรมธาตุมา โดยมีพระพุทธโฆษาจารย์ ชาวมอญ ซึ่งหลังจากเดินทางไปศึกษาพระพุทธศาสนาจากประเทศลังกาแล้ว จึงกลับมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในมอญ พม่า ตามลำดับจนเข้ามาในโยนกนคร (เชียงแสน) ตรงกับสมัยของพระเจ้าพังคราช ซึ่งยุคนี้พระเจ้าพรหมได้ทรงขับไล่ขอมไปสิ้นจากโยนกหมดแล้ว และพระเจ้าพรหมได้อัญเชิญพระเจ้าพังคราช ราชบิดากลับมาขึ้นครองเมืองเชียงแสน ส่วนพระเจ้าพรหมมหาราช ซึ่งเป็นนักรบที่ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่ง ไปสร้างเมืองใหม่คือเมือง “ชัยปราการ” ที่ริมแม่น้ำกก เพื่อเป็นเมืองหน้าด่าน ป้องกันการรุกรานของข้าศึก ซึ่งชัยปราการนี้จะเป็นเมืองหน้าด่านให้เชียงแสน จะสกัดการรุกรานของข้าศึกที่จะยกมาทางด้านทิศตะวันตกไว้ก่อน และได้ครองเมืองชัยปราการ
ดังนั้นเมื่อพระพุทธโฆษาจารย์ได้นำพระพุทธศาสนามาเผยแพร่ในเชียงแสน พร้อมกับได้อัญเชิญพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้ามาด้วยจำนวนถึง 16 พระองค์ เป็นพระบรมอัฐิธาตุส่วนพระนลาต (หน้าผาก) มีหลายขนาด พระเจ้าพังคราชจึงได้แบ่งพระบรมธาตุขนาดใหญ่ 1 องค์ ขนาดกลาง 2 องค์ และขนาดเล็กอีก 2 องค์ ให้กับพระยาเรือนแก้ว (เจ้าเมืองเชียงราย) ซึ่งได้นำไปประดิษฐานไว้ในพระเจดีย์ในเมืองเชียงราย ขอให้คำว่าหากจำไม่ผิดคือวัดจอมทอง
พระเจ้าพังคราช นำพระโกศเงิน พระโกศทอง และพระโกศแก้ว รองรับพระบรมธาตุแล้วจึงประทานแก่พระเจ้าพรหมมหาราช นำไปประดิษฐานไว้บนดอยน้อย หรือ จอมกิตติ ซึ่งตามตำนานดั้งเดิมบอกว่าเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาในสมัยพุทธกาลนั้น ได้ประทานพระเกศธาตุ ประดิษฐานไว้แล้ว
พระเจ้าพรหมมหาราช ทรงใช้ช่างก่อพระเจดีย์ขึ้น กว้าง 3 วา สูง 6 วา 2 ศอก บนดอยจอมกิตติ พระเจดีย์แล้วเสร็จในเดือน 6 เพ็ญ วันจันทร์ พ.ศ. 1483 และเรียกพระเจดีย์องค์นี้ว่า พระธาตุจอมกิตติแต่ยังไม่มีวัดพระธาตุจอมกิตติ วัดนี้มาเริ่มเกิดใหม่ในปี พ.ศ. 2500 นี่เอง
เมืองเชียงแสนนั้นเกิดเจริญรุ่งเรือง แล้วก็ร้าง หลายยุคหลายสมัย ตำนานการสร้างเมืองถึงเอาแน่กันไม่ค่อยจะได้ หากไม่ล้วงลึกแล้วก็จะบอกว่าพระธาตุจอมกิตติสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2030 โดยเจ้าเมืองเชียงแสนนามว่า เจ้าสุวรรณคำล้าน ซึ่งน่าจะหมายถึงมาบูรณะองค์พระธาตุจอมกิตติและสร้าง วัดพระธาตุจอมแจ้ง ผมเข้าใจตามนี้ แม้แต่เมืองเชียงแสน ตำนานที่สร้างหลังสุดคือสร้างโดยพระเจ้าแสนภู กษัตริย์ราชวงศ์เชียงราย สร้างเมืองเชียงแสนเมื่อ พ.ศ. 1871 แต่หากมองย้อนกลับไปถึงสมัยพระเจ้าพรหมมหาราชเมืองเชียงแสนก็มีอยู่แล้ว และเมื่อพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้ยกทัพขึ้นไปตีเชียงแสน เมื่อตีได้แล้วถอยทัพไทยกลับก็ให้เผาเมืองเชียงแสนเสีย เพราะพม่าเข้ามายึดเป็นที่มั่นอยู่เป็นการประจำจึงเผาเสีย เชียงแสนมาฟื้นคืนชีพเป็นเมืองที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2424 นี่เอง
สรุปว่า วัดพระธาตุจอมแจ้งบนดอยน้อยนี้มีจริง และเกิดในสมัยที่เจ้าสุวรรณคำล้าน มาบูรณะพระธาตุจอมกิตติแล้วก็สร้างวัดพระธาตุจอมแจ้งขึ้นมาในปี พ.ศ. 2030 ส่วนวัดพระธาตุจอมกิตตินั้นเมื่อปี พ.ศ. 2500 พระครูสังวรสมาธิวัตร แห่งสำนักวิปัสนา เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นชาวเชียงแสนได้จัดตั้งสำนักสงฆ์ขึ้นมาที่เชิงดอยพระธาตุจอมกิตติ และได้ย้ายขึ้นไปสร้างวัดอยู่บนเชิงพระธาตุ ในภายหลังจึงได้มีการสร้างบันไดขึ้น สร้างอุโบสถที่หันหน้าสู่แม่น้ำโขง สร้างซุ้มประตูโขงโยนก 4 ซุ้มประตูประจำ 4 ทิศ
ส่วนที่เชิงดอยพระธาตุก็ยังมีพระพุทธรูปสำคัญองค์ใหญ่คือ พระพุทธรูปองค์หลวง หรือหลวงพ่อพุทธองค์โยนกมิ่งมงคลเชียงแสน ซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในบริเวณบ่อน้ำทิพย์ สร้างขึ้นแทนพระเจ้าล้านตื้อที่จมอยู่ในแม่น้ำโขง แต่เศียรงมขึ้นมาได้อยู่ที่พิพิธภัณฑ์เชียงแสน รวมทั้งปราสาทหลังเก่าที่เป็นสำนักสงฆ์ก็ยังคงอยู่ที่เชิงดอย ส่วนวัดพระธาตุจอมกิตตินั้นได้รับการบูรณะเป็นอย่างดี รวมทั้งการบูรณะองค์พระธาตุด้วย
เมื่อวันพุธที่ 16 พฤษภาคม 2550 เวลา 15.57 น. เกิดแผ่นดินไหววัดขนาดได้ 5.8 มีศูนย์กลางบริเวณชายแดนไทย-ลาว ห่างจากจังหวัดเชียงราย 57 กิโลเมตร ส่งผลให้ยอดฉัตรพระธาตุจอมกิตติ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย หักโค่นลงมาได้รับความเสียหาย ทางวัดได้นำไปเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑ์เชียงแสน สิ่งของที่บรรจุในยอดปลีองค์พระธาตุ ซึ่งมีอัญมณี 9 ชนิด ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานบรรจุในยอดฉัตรเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ (พระเกศาธาตุ) ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพบแล้ว 7 อย่าง สูญหายไป 2 อย่าง
ต่อมา สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากรได้ซ่อมแซมฉัตรจากของเดิมให้มีความสมบูรณ์และแข็งแรงมากขึ้น รวมทั้งได้เปลี่ยนก้านและแกนฉัตรเป็นสแตนเลส จากเดิมที่เป็นเหล็ก ซึ่งผุกร่อนเป็นสนิม ส่วนตัวฉัตรนั้น ช่างได้ทำให้เข้ารูปเดิม และเปลี่ยนวิธีห่อหุ้มทองคำ 99 เปอร์เซ็นต์ จากวิธีเปียกทองโบราณ มาใช้เทคโนโลยีใหม่วิธีฟอร์มทอง โดยใช้ไฟฟ้าเป็นตัวหล่อและหุ้ม ซึ่งทำให้ทองคำอยู่ติดคงทน และสีไม่หมอง ส่วนยอดฉัตรที่ประดับด้วยอัญมณีนพเก้า และมีอัญมณีหลุดหายไป 2 ชนิดนั้น ได้มีประชาชนบริจาคโกเมนและนิล ซึ่งช่างได้นำขึ้นไปประดับไว้ครบทั้ง 9 ชนิดแล้ว ส่วนองค์พระธาตุ กรมศิลปากรได้ดำเนินการบูรณะเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งในส่วนโครงสร้างและฐานราก เสริมอิฐซ่อมแซมส่วนที่เสียหายและเสริมความมั่นคงรอยแตกร้าวด้วยกาววิทยาศาสตร์ (Epoxy) และอัดฉีดน้ำปูนเข้าไป
ขอขอบคุณ http://th.wikipedia.org