ตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ในการดำรงเพศบรรพชิต พระธรรมดิลก เจ้าคณะภาค 9 (ธรรมยุต) มีผลงานและคุณสมบัติต่างๆ เป็นที่ยกย่องเชิดชูมากมาย ทั้งในด้านการบริหารและด้านวิชาการ อีกทั้งเป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยศีลาจารวัตร งดงามด้วยการครองตน เปี่ยมไปด้วยเมตตา เป็นที่ยอมรับและเลื่อมใสศรัทธาแก่สาธุชนอย่างมาก
ปัจจุบัน พระธรรมดิลก (สมาน สุเมโธ) สิริรวมอายุ 61 พรรษา 42 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าแสงอรุณ ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น, เจ้าคณะภาค 9 (ธรรมยุต) และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตอีสาน จ.ขอนแก่น ฯลฯ
อัตโนประวัติ พระธรรมดิลก มีนามเดิมว่า สมาน อุบลพิทักษ์ เกิดเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2488 ที่บ้านเลขที่ 105 ม.9 ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายไหลและนางอ่อน อุบลพิทักษ์
สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านพระ ต.พระลับ ก่อนเข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร วันที่ 18 กรกฎาคม 2502 วัดศรีจันทร์ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น โดยมีพระวินัยสุนทรเมธี เป็นพระอุปัชฌาย์
จากนั้น มุ่งศึกษาพระปริยัติธรรม สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ ได้จากสำนักศาสนศึกษาวัดป่าชัยวัน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น
พ.ศ.2507 สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค สำนักเรียนวัดป่าชัยวัน
ครั้นอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2508 ที่วัดศรีจันทร์ โดยมีพระพิศาลสารคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์
เมื่ออุปสมบทแล้วได้ศึกษาเพิ่มเติมทั้งทางโลกและทางธรรม พ.ศ.2510 สอบได้ประกาศนียบัตรพิเศษวิชาการศึกษา (พก.ศ.) และด้วยความปรารถนาอย่างแรงกล้า แสวงหาความรู้ ได้มุมานะศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลี พ.ศ.2517 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค สำนักเรียนวัดนรนาถสุนทริการาม แขวงสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ
ท่านมีความสามารถพิเศษมากมาย อาทิ งานสารบรรณ, งานเลขานุการ, งานจัดประชุมสัมมนา, งานจัดอบรม, บรรยายเชิงวิชาการด้านพระศาสนา, วัฒนธรรม,ประเพณีอีสาน, เขียนบทผญา, กลอนสรภัญญะ, งานนวัตกรรม, ออกแบบสถาปัตยกรรมการก่อสร้าง ด้านศาสนวัตถุ เป็นต้น
งานด้านการศึกษา พ.ศ.2526 เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม-บาลี ประจำสำนักศาสนศึกษาวัดป่าแสงอรุณ และเป็นเจ้าสำนักศาสนศึกษาวัดป่าแสงอรุณ และเป็นรองอธิการบดี สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตอีสาน พ.ศ.2542 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการฝ่ายศาสนศึกษา ของมหาเถรสมาคม กรุงเทพฯ เป็นผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติ วัดป่าแสงอรุณ
งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา พ.ศ.2545 อุปถัมภ์การจัดพิมพ์ คู่มือทำวัตร สวดมนต์ สำหรับอุบาสก อุบาสิกา พ.ศ.2546 เป็นผู้ดำเนินรายการ “เสียงธรรมนำชีวิต” MHz ออกอากาศทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ขอนแก่น พ.ศ.2547 เขียนสาระธรรม คอลัมน์ “มงคลธรรมนำชีวิต” ออกรายการ “เสียงธรรมนำชีวิต” สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จ.ขอนแก่น
งานสาธารณูปการ พ.ศ.2547 เป็นประธานดำเนินการก่อสร้างโรงอุโบสถ วัดป่าแสงอรุณ ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ขนาดความกว้าง 15 เมตร ยาว 34 เมตร สูงจากพื้นดินเดิม 60 เมตร สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ภายในประดิษฐาน พระประธาน พระพุทธรังสิโยภาสสุขพิพัฒน์ที่สไบทิพย์
งานพิเศษ เป็นอาจารย์พิเศษบรรยายหลักสูตรพระพุทธศาสนา ระดับปริญญาตรี-โท มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยากรของกรมการศาสนา รองประธานมูลนิธิคณะสงฆ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประธานกองทุนผู้ปฏิบัติธรรมวัดป่าแสงอรุณ, ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติวัดป่าแสงอรุณ กรรมการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม จังหวัดขอนแก่น กรรมการพิเศษ วินิจฉัยอธิกรณ์แก้ปัญหาการปกครองคณะสงฆ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธ)
ลำดับงานด้านปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2508 เป็นเลขานุการเจ้าอาวาสวัดป่าชัยวัน พ.ศ.2513 เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดป่าชัยวัน พ.ศ.2521 เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าแสงอรุณ ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น พ.ศ.2522 เป็นรองเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น (ธรรมยุต)
พ.ศ.2530 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น (ธรรมยุต) พ.ศ.2532 เป็นพระอุปัชฌาย์วิสามัญ พ.ศ.2537 เป็นรองเจ้าคณะภาค 9 (ธรรมยุต)
พ.ศ.2541 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะภาค 9 (ธรรมยุต)
ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2524 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระศรีปริยัติเวที พ.ศ.2534 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชวรานุวัตร
พ.ศ.2541 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพวรคุณ
ล่าสุด ในวโรกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2550 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมดิลก
พระธรรมดิลก ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติจากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็น “ครูภูมิปัญญาไทย ด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี ประจำปี 2549”
พระธรรมดิลก เป็นพระเถระที่มีภูมิรู้ภูมิธรรมสูงอีกรูปหนึ่ง เป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่มีความเมตตา เรียบง่าย ไม่ถือตัว มีความสามารถด้านการแสดงพระธรรมเทศนาสูง จนเป็นที่ยอมรับนับถือและเลื่อมใสศรัทธาของคนทั่วไป
นอกจากนี้ ท่านยังสามารถนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการแสดงธรรมได้อีกด้วย โดยปัจจุบันท่านสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรมภายในวัดป่าแสงอรุณ และมอบหมายให้ลูกศิษย์อบรมบรรยายธรรม ประยุกต์เพื่อให้ทันสมัย จึงมีประชาชนทั่วไปและเยาวชนจากสถาบันการศึกษาเข้ารับการอบรมธรรมอยู่ไม่ขาด
ท่านยังพยายามสร้างจิตสำนึกให้พุทธศาสนิกชนชาวอีสานหันมายึดมั่นในคุณงามความดีตามหลักการปฏิบัติของชาวอีสานในอดีต ให้ชาวบ้านทั่วไป รู้ถึงคุณค่าที่แฝงอยู่อย่างแท้จริงให้ธรรมะที่ถูกต้อง และโดยเฉพาะ ปัจจุบันชาวบ้านในถิ่นอีสาน ส่วนหนึ่งติดอบายมุข เช่น ดื่มเหล้ามากขึ้น งานบุญต่างๆ มักจะมีเหล้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ หรือแม้จะไม่มีงานก็ยังดื่มเหล้าได้ทุกวัน
คนอีสานในอดีตจะดื่มเหล้าเดือนละครั้ง คือ งานประจำเดือน (ฮีต 12) และการดื่มเหล้าจะพยายามไม่ให้ลูกหลานได้พบเห็นเหมือนปัจจุบันนี้ พยายามปลูกจิตสำนึกเรื่อง ลด ละ เลิก อบายมุขในงานบุญ เป็นต้น
พระธรรมดิลก เป็นพระนักเทศน์ที่ไม่เหมือนใคร เมื่อท่านแสดงธรรมจบแล้วมักจะมีของแจก อาทิ แจกหนังสือธรรม แจกเสื้อ เป็นต้น บ่อยครั้งที่เทศน์จบแล้ว ท่านจะมอบเงินกัณฑ์เทศน์ให้เจ้าภาพคืน เพราะเห็นว่าฐานะของเจ้าภาพนั้นควรช่วยเหลือ ท่านไม่เลือกว่าจะเทศน์ให้ใครฟัง ไม่เลือกชั้นวรรณะที่จะต้อนรับที่จะรับงานเทศน์ของศรัทธาชนใดๆ
สิ่งที่เป็นผลงานโดดเด่นอีกอย่างหนึ่ง คือ การสร้างสิมอีสาน (โบสถ์) ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวอีสาน เป็นสถาปัตยกรรมอีสานประยุกต์ เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมและประกอบกิจกรรมต่างๆ
ปัจจุบัน พระธรรมดิลก ยังคงทำหน้าที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาสู่สังคมอย่างต่อเนื่อง
ขอขอบคุณ http://www.dhammajak.net/