วัดศรีอุโมงค์คำ

Image

วัดศรีอุโมงค์คำ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองพะเยา ถ.ท่ากว๊าน ต.เวียง อ.เมือง วัดแห่งนี้สร้างขึ้นมาแต่หนใด ไม่มีใครรู้ เพราะไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน แต่ผู้รู้หลายๆท่านสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ 20-21 เพราะพบหลักฐานเป็นพระพุทธรูปหินทราย และงานแกะสลักหินทรายอื่นๆ อาทิ เทวรูป รูปสัตว์ต่างๆ ในยุคหินทรายเมืองพะเยาอยู่เป็นจำนวนมาก

ในส่วนของชื่อวัดแห่งนี้ มีเอกสารระบุว่า คำว่า “ศรี” หรือที่ล้านนาอ่านว่า “สะ-หรี” หมายถึง ต้นโพธิ์ หรือความเป็นมงคล เป็นสิ่งอันประเสริฐ ดังนั้นคนโบราณจึงใช้ชื่อศรีนำหน้าเพื่อความเป็นสิริมงคล

ส่วนคำว่า“อุโมงค์” นั้นชัดแจ้งว่าหมายถึงอุโมงค์ หรือถ้ำ ซึ่งเดิมทีชาวบ้านเชื่อกันว่าใต้ฐานโบสถ์ของวัดแห่งนี้ มีถ้ำหรืออุโมงค์อยู่ สามารถลอดไปโผล่ยังแม่น้ำอิงที่ไหลผ่านใจกลางกว๊านพะเยาได้

และสุดท้ายคำว่า “คำ” หมายถึง ทองคำ ซึ่งที่มาของคำนี้มีความเชื่อแยกย่อย แตกออกไป 3 ประการด้วยกัน

ประการแรกเชื่อว่าที่นี่มีพระพุทธรูปทองคำฝังอยู่ใต้ฐานอุโมงค์

ประการที่สองเชื่อว่าที่นี่มีอุโมงค์ลงรักปิดทอง สามารถนำพระบรมธาตุมาประดิษฐานไว้ได้

และประการที่สามเชื่อว่า เชื่อว่าที่นี่มี“สะเปา”(เรือ)ที่ลงรักปิดทองอยู่

วัดศรีอุโมงค์คำ ชาวบ้านมักเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “วัดสูง” ตามลักษณะพื้นที่ตั้งวัดที่เป็นเนินสูงเด่น เป็นเนินที่เกิดจากการขุดสระของชาวบ้านแล้วนำดินไปถมจนเกินเป็นเขินเขาขนาดใหญ่ขึ้นมา โดยเหตุผลของการขุดสระนั้นมีอยู่ 2 ประการด้วยกัน

ประการแรก เมืองพะเยาก่อนที่จะมีกว๊านพะเยาดังเช่นทุกวันนี้ มีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง มักประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำ ชาวบ้านจึงร่วมมือกันขุดสระขึ้นมา เพื่อใช้อุปโภค บริโภค และเพื่อการเกษตรกรรม

ประการที่สอง ชาวบ้านขุดสระขึ้นมาเพราะต้องการดินมาสร้างเป็นเนินเขาขนาดย่อม เพื่อก่อสร้างวัด เจดีย์ วิหาร ลงบนเนินให้ดูมีความโดดเด่น สูงสง่า สมค่ากับการเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์

ขณะเดียวกันก็มีบางข้อมูลระบุว่า เนินภูเขาดินของวัดศรีอุโมงค์คำนั้น สร้างขึ้นจากดินที่ขุดมาจากกว๊านพะเยา แต่ถ้าพิจารณาให้ดีๆจะพบว่าพ.ศ.ที่สร้างกว๊านพะเยานั้น ห่างจากอายุความเก่าแก่ของวัดแห่งนี้อยู่เป็นร้อยๆปีเลยทีเดียว

และนั่นก็คือที่มาที่ไปของวัดศรีอุโมงค์คำที่แม้จะมีความเชื่ออันหลากหลายมาเกี่ยวข้อง แต่ว่าความเชื่อบางอย่างก็มีความสมเหตุสมผลอยู่ในตัวของมัน

ขอขอบคุณ http://www.manager.co.th/

Both comments and pings are currently closed.

Comments are closed.

. . . . . . .
. . . . . . .